ผู้หญิงส่วนใหญ่มักสวมเสื้อหนาว ถุงเท้า หรือแม้แต่คลุมผ้าห่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นในที่ทำงาน และหากออฟฟิศไหนที่ผู้ชายใส่สูทไปทำงาน ก็จะทำให้ออฟฟิศเย็นยะเยือกราวกับยุคน้ำแข็งสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในออฟฟิศเดียวกัน การปรับอุณหภูมิออฟฟิศจึงกลายเป็นหนึ่งในประเด็นประจำวันของพนักงาน
สงครามการปรับอุณหภูมิ ทำให้ออฟฟิศในอังกฤษต้องเสียเวลาไปเปล่าๆประมาณร้อยละ 2 ของเวลาทำงานทั้งหมด อีกทั้งยังทำให้เสียเงินมากกว่าที่จำเป็นกว่า 13,000 ล้านปอนด์ (521,000 ล้านบาท) ต่อปี ขณะเดียวกัน อุณหภูมิยังส่งผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์เป็นหนึ่งในคนที่เชื่ออย่างจริงจังว่า อุณหภูมิที่เหมาะสมจะทำให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยเขาเคยตอบคำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ลีกวนยูตอบว่า เครื่องปรับอากาศ เขาเชื่อว่าการติดเครื่องปรับอากาศในสำนักงานรัฐและออฟฟิศต่างๆ จะช่วยให้คนอย่างไปทำงานมากกว่าอยู่บ้าน
ผู้หญิงต้องการออฟฟิศที่อุณหภูมิสูงว่าผู้ชาย
ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุดลงนิตยาสารทางวิชาการ PLOS One ซึ่งระบุว่า ผู้หญิงจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิที่สูงกว่าผู้ชาย หลังจากทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานของนักเรียนผู้ชายและผู้หญิงรวม 543 คนในเยอรมนี
นักวิจัยได้ให้ผู้ร่วมการวิจัยทั้งหมดทำภารกิจต่างๆ ตั้งแต่การทดสอบด้านคณิตศาสตร์ ด้านการพูด และแบบทดสอบความรู้เท่าทันพุทธิปัญญา (cognitive reflection test) ซึ่งเป็นการทดสอบสัญชาตญาณและความคิดที่ได้ไตร่ตรองแล้ว โดยแต่ละช่วงในการทำแบบทดสอบ อุณหภูมิห้องจะเปลี่ยนไปตั้งแต่ 16 องศเซลเซียสไปจนถึง 32 องศาเซลเซียส
ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ในอากาศที่อุ่นขึ้น ผู้หญิงจะทำแบบทดสอบด้านคณิตศาสตร์และการพูดได้ดีขึ้น แต่ผลจะออกมาตรงกันข้ามกับผู้ชายที่จะทำแบบทดสอบได้ดีกว่าในห้องที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า แต่ประสิทธิภาพในการทำงานของผู้หญิงในอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะ “สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ลดลงของผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำแบบทดสอบความรู้เท่าทันพุทธิปัญญาของทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิห้อง
การวิจัยนี้จึงเสนอว่า ออฟฟิศที่มีทั้งพนักงานชายและหญิงอยู่รวมกันอาจเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการปรับปุณภหภูมิห้องให้อุ่นขึ้นกว่าที่เคยตั้งไว้
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ทอม ชาง อาจารย์ด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ธุรกิจของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า งานวิจัยนี้ไม่ได้ศึกษาอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากต่อประสิทธิภาพในการทำงาน แม้แต่ช่วงอุณหภูมิ 15 - 23 องศาเซลเซียสซึ่งอุณหภูมิปกติ ก็ยังเห็นความแตกต่างของประสิทธิในการทำงานได้อย่างชัดเจน
รศ.ชางกกล่าวว่า เจ้าของธุรกิจจำนวนมากลงทุนเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของตัวเองจะสบายและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด วิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะสนใจแต่เรื่องเงินหรือสนใจประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงายด้วย ก็ควรปรับอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นกว่าที่เคยเปิดในออฟฟิศ แม้จะยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าควรตั้งอุณหภูมิที่เท่าไหร่จึงจะทำให้ผู้หญิงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ก็พบว่า ออฟฟิศที่มีทั้งผู้ชายและผู้หญิงทำงานด้วยกันควรตั้งอุณหภูมิไว้ที่ประมาณ 24 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ รศ.ชาวยังเชื่อว่า เจ้าของธุรกิจควรพิจารณาปัจจัยด้านบรรยากาศการทำงานที่กระทบกับผลกำไรแล้วประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
อุณหภูมิส่งผลกับวิธีคิด
เดวิด ชิปเวิร์ธ นักวิจัยจากสถาบันพลังงาน UCL กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งในการกาอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับพนักงานก็คือ การหาเกณฑ์มาวัดประสิทธิภาพการทำงาน เพราะประสิทธิภาพในการทำงานด้านต่างๆ ก็แตกต่างกัน
ก่อนหน้านี้ มีการวิจัยการทำงานของเสมียนในบริษัทประกันภัย ผลการวิจัยพบว่า ในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ผู้หญิงสามารถพิมพ์งานต่อเนื่องโดยมีอัตราการพิมพ์ผิดเพียงร้อยละ 10 แต่หากลดอุณหภูมิลงเหลือ 20 องศาเซลเซียส สิทธิภาพในการทำงานของพวกเธอจะลดลงถึงร้อยละ 50 และพิมพ์ผิดบ่อยขึ้นถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม การทดลองที่ให้นักศึกษาเลือกแพ็คเกจโทรศัพท์มือถือที่คุ้มค่าที่สุด ผลการทดลองกลับไม่เหมือนกับการทดลองการพิมพ์งาน โดยการทดลองนี้พบว่า นักศึกษาที่อยู่ในห้องอุณหภูมิ 16 องศาเซลเซียสสามารถเลือกแพ็คเกจที่คุ้มค่ากว่านักศึกษาที่อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อุณหภูมิห้องไม่เพียงแต่มีผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังส่งผลต่อวิธีคิดของเราด้วย โดยอุณหภูมิที่อุ่นกว่าจะทำให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนออฟฟิศที่เย็นจะช่วยให้พนักงานตื่นตัวระหว่างการทำงานที่เป็นขั้นตอนซ้ำๆ ขณะที่อุณหภูมิห้องที่สูงกว่า 27 องศาเซลเซียสไม่ดีกับคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการคำนวณตัวเลข ห้องที่อุ่นทำให้คนทำงานรู้สึกอบอุ่นเป็นมิตรกับคนรอบข้าง
บริษัทใช้เกณฑ์อะไรในการปรับอุณหภูมิออฟฟิศ?
ไม่ว่าอุณหภูมิห้องจะอยู่ที่เท่าไหร่ จะต้องมีใครสักคนบอกว่าหนาวไปหรือร้อนไปอยู่ดี นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคาดการณ์เปอร์เซนต์ที่จะมีคนไม่พอใจกับอุณหภูมิที่แตกต่าง (Predicted Percentage of Dissatisfied หรือ PPD) ที่มีการคำนวณปัจจัยต่างๆ เช่น เสื้อผ้า อัตราเมตาบอลิซึม (อัตราการผลิตความร้อน) ของผู้อยู่อาศัยในอาคารนั้น ซึ่งอัตราเมตาบอลิซึมจะต้องคำนวณจากการคาดเดาอายุ น้ำหนัก และเพศของคนในอาคาร
ปัญหาก็คือ ผู้จัดการอาคารส่วนใหญ่มักใช้สูตร PPD ที่ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงปี 1960 ดังนั้น เกณฑ์การปรับอุณหภูมิออฟฟิศต่างๆ ตั้งอยู่การคำนวณอุณหภูมิให้กับผู้ชายอายุ 40 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกกรัม ขณะที่ผู้หญิงจะมีอัตราเมตาบอลิซึมต่ำกว่าค่อนข้างมาก มีกล้ามเนื้อน้อยกว่า ทำให้ผู้หญิงต้องการออฟฟิศที่อุ่นกว่าที่ผู้ชายต้องการประมาณ 3 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่เหมาะสมกับทุกคนไม่มีจริง แล้วทำยังไง?
ในขณะที่อุณหภูมิออฟฟิศยังถูกคำนวณจากผู้ชายวัย 40 ปีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม การรวมตัวกันขอให้ฝ่ายอาคารปรับอุณหภูมิเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ตามกฎหมายอังกฤษ หากมีพนักงานมากกว่าร้อยละ 10 บ่นเรื่องอุณหภูมิออฟฟิศ ฝ่ายอาคารจำเป็นต้องประเมินและปรับอุณหภูมิใหม่ ขณะที่ออสเตรเลียระบุว่า คนที่ต้องทำงานในอุณหภูมิที่สูงกว่า 34 องศาเซลเซียสจะต้องได้พัก 30 นาทีต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ การทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นไม่ได้มีเพียงการหาเสื้อกันหนาวมาสวมเท่านั้น แต่ยังมีวิธีการปรับแสงด้วย เพราะร่างกายของเราไม่สามารถบอกอุณหภูมิของห้องได้แม่นยำนัก โดยการทดลองที่เพิ่งตีพิมพ์ปีนี้ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง 32 คน อยู่ในห้องที่จัดแสงโทนอุ่นและแสงโทนเย็น แล้วให้พวกเขาเดาอุณหภูมิของห้องตามที่พวกเขารู้สึกทุกๆ 10 นาที คนที่อยู่ในห้องที่มีแสงโทนอุ่นก็จะรู้สึกอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนอยู่ในแสงโทนเย็นก็รู้สึกหนาวขึ้นเรื่อยๆ แม้จริงๆ แล้วจะไม่มีการปรับอุณหภูมิห้องเลยก็ตาม
ชิปเวิร์ธกล่าวว่า ปัจจุบัน นักวิจัยจำนวนหนึ่งมองว่าการให้พนักงานแต่ละคนควบคุมอุณหภูมิของตัวเองได้จะดีที่สุด หมายความว่าที่โต๊ะทำงานของแต่ละคนควรสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ มีระบบทำความร้อนบริเวณขา เลือกได้ว่าจะปิดหรือเปิดการระบายอากาศ เป็นต้น
ที่มา : News.com.au, The Independent, BBC