ไม่พบผลการค้นหา
'ณัฐชา' มองประชาชนอาจกังขา หลัง 'เศรษฐา' เข้าพบ 'ประยุทธ์' ที่เคยยึดอำนาจ 'เพื่อไทย' มา เชื่อเกี่ยวข้องดีลลับ สว. โหวตหนุน ด้าน 'ก้าวไกล' ยังให้ 'ปดิพัทธ์' เป็นรองประธานฯ ต่อ แม้ถูกบีบเป็นฝ่ายค้านโดยพฤตินัย

วันที่ 24 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ว่ามีนัยทางการเมืองหรือไม่

ณัฐชา มองว่า การส่งมอบอำนาจไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่ครั้งนี้ถือเป็นอำนาจใหม่ที่ประชาชนยังเคลือบแคลงสงสัย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยึดอำนาจมาจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย และได้ครองอำนาจมานานกว่า 9 ปี ก่อนจะส่งมอบให้กับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง จึงยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในหลายๆ ขั้นตอน 

ส่วนที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการเข้าพบในครั้งนี้อาจเพื่อขอบคุณเสียงสนับสนุนจาก สว. ที่โหวตเห็นชอบให้ เศรษฐา นั้น ณัฐชา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องมีเรื่องของ สว. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน 

"ในช่วงเช้าของวันที่ 22 ส.ค. ผมได้พูดคุยกับ สว. ที่รู้จักหลายคน ขณะนั้นยังไม่มีสัญญาณ ว่าจะโหวตให้คุณเศรษฐาหรือไม่ จนถึงกระทั่ง 11.00 น. สว.หลายคนยังคงอภิปรายในลักษณะที่ไม่เห็นชอบกับคุณเศรษฐา จนสุดท้ายในเวลา 13.00 น. ถึงมีสัญญาณที่จะโหวตให้คุณเศรษฐา ดังนั้นจึงมีความชัดเจนว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ 11.00 - 13:00 น จะต้องมีการเจรจานอกรอบอย่างแน่นอน" 

ส่วนข้ออ้างว่าพรรคขั้วตรงข้ามมาอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน ถือเป็นนิมิตหมายถึงความสมานฉันท์ปรองดอง ณัฐชา มองว่า คำว่าสมานฉันท์ปรองดองเป็นความหมายที่ดี แต่ก็ต้องดูว่า เบื้องหลังความสมานฉันท์นั้นมีการกระทำอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อประชาชน เบื้องหลังการสมานฉันปรองดองของคนที่ขัดแย้งกันมานานกว่า 10 ปี สุดท้ายมาจับมือกัน อ้างว่าเพื่อทลายความขัดแย้งคงจะต้องมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้ แต่เรื่องอะไรนั้นคือสิ่งที่ประชาชนยังไม่ทราบ 

"ยิ่งหน้าตาของรัฐมนตรีทั้ง 35 คน ออกมา ก็จะยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น ว่าภายใต้การเจรจาต่อรองจะมีเรื่องอะไรบ้าง และเป็นคำตอบให้กับประชาชนว่ารัฐบาลชุดนี้วางอยู่บนความไว้วางใจของประชาชนหรือไม่"

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ เศรษฐา เคยประกาศไว้ว่าจะตั้ง สสร. มาแก้ไขทั้งฉบับ โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วาระแรก ณัฐชา เชื่อว่าจะทำได้อย่างแน่นอน ถ้ามีความตั้งใจ แต่ก็ต้องดูความจริงใจด้วย ซึ่งจะดูได้จากที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

พร้อมกันนี้ ณัฐชา ยังกล่าวถึง ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่า ตอนนี้จะยังให้ ปดิพัทธ์ ทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากเป็นกลไกที่ได้มาโดยชอบ ส่วนกติกาที่ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น ข้อเท็จจริงคือขณะนี้พรรคก้าวไกล ยังพูดว่าเป็นฝ่ายค้านได้ไม่เต็มปาก เพราะพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จะเป็นประธานสภาก็ถูกกีดกัน ขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ ล่าสุดขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้เป็น ต่อมาจะขอเป็นฝ่ายค้านก็ยังถูกกฎกติกาบังคับ 

"จากนี้พรรคก้าวไกลคงจะเป็นฝ่ายค้านโดยการกระทำ เป็นฝ่ายค้านโดยพฤตินัย แต่นิตินัยยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังคงสนับสนุนให้ ปดิพัทธ์ ปฏิบัติหน้าที่รองประธานคนที่ 1 อย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสภาผู้แทนราษฎรต่อไป"

ส่วนตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ณัฐชา ระบุว่า เนื่องจากกติกากำหนดให้ต้องเป็นหัวหน้าพรรคของ สส. ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ซึ่งตอนนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. อยู่ พร้อมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ เนื่องจากกติกากำหนดให้เป็นหัวหน้าของพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดในฝ่ายค้าน และตอนนี้ ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เนื่องจากยังไม่รู้สถานะที่ชัดเจน


'ธีรัจชัย' เชื่อ 'เศรษฐา' เข้าพบ 'ประยุทธ์' เป็นแค่พิธีกรรม

ธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า ขอมองแบบไม่อยากจะมอง 

ธีรัจชัย ให้ความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นแค่พิธีกรรมทางการเมือง ซึ่ง เศรษฐา ได้รับเลือกตั้งและได้เสียงสนับสนุนจากสว. มาขนาดนี้ แสดงว่าการเมืองในทางลึกได้มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนนี้จึงเป็นเพียงพิธีกรรมและปรากฏการณ์หลังจากนั้นมากกว่า ซึ่งไม่ได้มีสาระสำคัญ หรือนัยทางการเมือง 

681385_0.jpg

"จึงเลี่ยงไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น ผลจากการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่มี สว.สนับสนุน และคงไม่มีอะไรซับซ้อน"

ธีรัจชัย ยังฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า ขอให้ตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยึดถือประชาชนอยู่ในสมการ และสิ่งใดที่สัญญากับประชาชนไว้ก็ขอให้ทำ และพระก้าวไกลจะเป็นฝ่ายตรวจสอบที่เข้มแข็ง

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะแก้ไขและให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มายกร่างใหม่นั้น ธีรัจชัย กล่าวว่า โดยหลักแล้วจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องดูในรายละเอียดร่วมกันเพื่อปรับแก้ให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย ส่วนจะแก้ไขได้แค่ไหนอยู่ที่การผลักดันดุลอำนาจของประเทศนี้ว่าจะ ผลักดันไปสู่ความเป็นจริงได้แค่ไหน ทั้งนี้ในส่วนของภาคก้าวไกลก็มีเสียงพอ อาจจะเสนอประกบ