ไม่พบผลการค้นหา
'ณัฐชา' ขอดูหน้าตารัฐบาลใหม่ ก่อนเคาะโหวต 'ไม่เห็นชอบ' หรือ 'งดออกเสียง' ให้แคนดิเดต 'เพื่อไทย' ย้ำหากมีโอกาสพร้อมเสนอชื่อ 'พิธา' ชิงนายกฯ อีกครั้ง

วันที่ 17 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะมาทำงานให้ประชาชน 4 ปีข้างหน้า ควรให้ สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนได้สอบถามถึงทิศทางการบริหารประเทศ เพราะที่ผ่านเมื่อครั้งโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ก็ได้เปิดกว้างให้ สส. สอบถามถึงแนวปฏิบัติ 

โดย ณัฐชา ชี้ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมา ถ้าหาก สส. มีอะไรจะสอบถามก็สามารถเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และชี้แจงได้ แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล อาจจะไม่อภิปรายคุณสมบัติ เพราะที่ผ่านมาผ่านการเลือกตั้ง และประชาชนได้ตัดสินใจไปแล้ว 

ส่วนทิศทางการโหวตนั้น ที่ประชุมมีมติไปแล้วว่าจะไม่โหวตสนับสนุน เศรษฐา เนื่องจากยังมีความคลุมเคลือในการจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่เห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นอย่างไร โดยพรรคก้าวไกลจะให้โอกาสถึงวันที่ 21 ส.ค. นี้ จะสรุปอีกครั้งว่าจะโหวตไม่เห็นชอบ หรือ งดออกเสียง แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนก็จะโหวตไม่เห็นชอบ และต้องรอที่ประชุมว่าจะเสนอให้มีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ พรรคก้าวไกลถึงจะมีมติลงคะแนนเสียงให้อย่างไร

ณัฐชา ยังกล่าวถึงความเหมาะสมระหว่างแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ว่า แน่นอน พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลมีนโยบายหาเสียงใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนต้องการให้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคก้าวไกลเป็นอันดับ 1 ก็ต้องสนับสนุน พิธา แต่หากวันใดวันหนึ่งเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับ 1 พรรคก้าวไกลก็สนับสนุนเช่นกัน 

"ไม่มีแนวทางหรือความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกจากพรรคพลังประชารัฐ หรือเห็นว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐนั้นดีกว่า เพราะที่ผ่านมาได้บอกกับประชาชนไปแล้วถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย และเห็นต่างกับพรรคพลังประชารัฐ หรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และประชาชนได้ตัดสินใจแล้ว"

ส่วนญัตติของ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอให้ทบทวนมติข้อบังคับรัฐสภาที่ไม่ให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้นั้น ณัฐชา กล่าวว่า ข้อบังคับสภา ข้อที่ 29 ผูกโดยสภา มีปัญหาโดยสภา การที่ให้หน่วยงานภายนอกมาตัดสินนั้นไม่เห็นด้วย สภาผูกก็ควรให้สภาแก้ ดังนั้น จึงอยากให้ทบทวนญัตติที่ลงมติไปแล้วสามารถทำได้ ส่วนการกระทำที่ไม่อยากให้เกิดการทบทวนอาจเกรง ว่า จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอีกครั้ง จึงมองว่า มีความพยายามทำให้เป็นเกมการเมือง แต่ความถูกต้องควรคงอยู่คู่สภา และสภาควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง 

"การตัดสินญัตตินี้ในครั้งที่ผ่านมา เราเคารพการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ส่วนครั้งนี้ อยากจะขอความเห็นใจว่า เมื่อรัฐสภาได้ลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดไปแล้ว จะถูกบันทึกการทำหน้าที่ไปแล้วว่าทำถูกต้องหรือไม่"

ณัฐชา ยังกล่าวถึงการที่พรรคก้าวไกล ไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทยนั้นสวนทางกับการจะช่วยปิดสวิตซ์ สว. หรือไม่ โดยระบุว่า วาทกรรมที่ว่า ก้าวไกลต้องโหวตให้เพื่อไทย เพื่อปิดสวิตซ์ สว. นั้นไม่ใช่ เพราะตอนนี้ สว. กำลังใช้อำนาจของตนเองในการไม่โหวตให้พรรคที่ได้อันดับ 1 การปิดสวิตซ์ สว. คือ สว. ต้องไม่มีความหมายในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ต้องให้เสียงของ สส. มีอำนาจมากกว่า ขณะนี้ สว. ได้ประสบผลสำเร็จแล้วที่ไม่โหวตให้พรรคอันดับ 1 และใช้กลไกบีบ ว่า จะไม่เลือกพรรคนั้นพรรคนี้ และให้กลัว สว. ถือเป็นการบีบทางอ้อม และเป็นการร่วมกันปิดสวิตซ์ก้าวไกลมากกว่า

ณัฐชา ยังย้ำว่า การจับมือ 312 เสียง คือ ความชอบธรรมที่สุดแล้ว เป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ดีที่สุด และเป็นความต้องการของประชาชนมากที่สุด เราปฏิเสธไม่ได้ ว่า เสียงที่ประชาชนเลือก 312 เสียง แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะต้องมีเสียงอื่นเข้ามาแทรกแซง อย่างเช่นเสียงของ สว. และพยายามกดดันแสดงความเห็นต่างๆ ให้ 312 เสียงต้องแตกจากกัน และเมื่อวันนี้ทำสำเร็จแล้วในขั้นแรก การจะรวบรวมเสียงใหม่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคแกนนำจะตัดสินใจ จะรวบรวมเสียงเพิ่มจาก 312 เสียงก็สามารถทำได้ หรือ จะไปรวบรวมใหม่ก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งเป็นแนวความคิดของเขา และไม่ตรงกับแนวคิดของพรรคก้าวไกล จึงไม่สามารถโหวตให้ได

ณัฐชา ยังมองว่า หากมีช่องทางที่จะเสนอให้ พิธา กลับมาได้อีกครั้งพรรคก้าวไกลก็จะดำเนินการแน่นอน เพราะได้รับมอบหมายจากประชาชนแล้ว ไม่สามารถล้มเลิกได้อย่างง่าย วันนี้ 151 เสียงของพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันที่จะต่อสู้ เพื่อความต้องการของประชาชน แต่เราไม่สามารถทำได้ เพราะเรามีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นสำคัญ และควรติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ว่า ผู้แทนที่เลือกมาตัดสินใจตอบโจทย์ประชาชนหรือไม่ 

“ประชาชนออกมากดดัน สส.ทุกพรรคการเมือง อยากให้เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่พรรคอันดับ 1 ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราต้องพูดเรื่องนี้กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง เพราะเกิดความไม่ปกติในสังคม มีคนพยายามบิดเบือน พยายามพูดว่า รวมเสียงกันฟากฝ่ายหนึ่งชนะก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องผิดปกติในระบอบประชาธิปไตย” ณัฐชา กล่าว