วันที่ 17 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) วาระการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด ทั้ง 7 ร่าง ซึ่งสภาฯ มีมติเอกฉันท์ 433 ต่อ 0 ช่วงหนึ่ง ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องเข้าสภาก็ได้ หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ หมวด 5 ที่ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ไฟฟ้า หรืออากาศสะอาด แต่ที่ผ่านมารัฐบาลละเลยทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ปล่อยให้กลายเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนคนเล็กคนน้อยต้องรับภาระจนกลายเป็นเรื่องปกติ
“รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 หมวดที่ 5 ระบุไว้ว่า รัฐควรจัดทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ดีมีคุณภาพ อย่างน้ำไหลไฟสว่างที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ทุกวันนี้หลายพื้นที่น้ำไม่มีแรงดันก็ต้องไปซื้อปั๊ม แถมต้องจ่ายค่าไฟบวกไปจากค่าน้ำด้วย กลายเป็นทุกบ้านต้องมีเครื่องปั๊มน้ำจนทุกคนมองเป็นเรื่องปกติ ต้องรับได้ว่า ถ้าเราไม่มีเครื่องปั๊มน้ำ น้ำจะไหลเอื่อย ซึ่งการมีเครื่องกรองอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ กำลังจะเป็นแบบนั้น ต้องมีทุกบ้านไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร และในอนาคตจะเลวร้ายมาก เผลอ ๆ ต้องแถมในโครงการหมู่บ้านทุกหมู่บ้านด้วยซ้ำ”
ณัฐชา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประชาชนต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กน้อย แต่มันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรมี หากรัฐไม่ละเลยการทำหน้าที่ในการทำให้ประชาชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ยิ่งเรื่องอากาศหายใจ กลายเป็นไม่ว่าจะคนที่มีเงินเดือนเรือนแสนหรือจะหาเช้ากินค่ำวันละสามร้อยบาทก็ต้องดิ้นรนเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ รัฐกำลังทำให้พวกเขาตายแบบผ่อนส่งอย่างเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเพียงเพราะละเลยการทำหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว
ณัฐชา กล่าวต่อว่า การมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นเพียงการบัญญัติตัวหนังสือขึ้นมา เพื่อบอกว่าพี่น้องคนไทยควรจะมีอากาศสะอาดหายใจได้แล้ว คำถามก็คือแล้วที่ผ่านมารัฐทำอะไรอยู่ ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอธิบดีทุกกรมกอง รัฐมนตรีทุกกระทรวง และทุกรัฐบาลทุกสมัย จนมาถึงขณะนี้ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้ควรแก้ และควรแก้มานานแล้ว ดังนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงไม่ควรรีรอต่อไป ไม่จำเป็นต้องรอข้อกฎหมาย แต่ต้องเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงสามารถทำได้ทันทีหากมองว่าเป็นสิ่งที่รัฐควรทำ
แต่ที่ผ่านมาที่ไม่ทำหรือรีรอให้มีกฎหมายก่อนค่อยทำเป็นเพราะกำลังเกรงใจกลุ่มทุนหรือไม่ อยากให้ตระหนักว่าการช่วยลดต้นทุนของเขา ปกป้องให้ผลประกอบการงอกเงย กำลังแลกด้วยชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยอีกหลายล้านคน
การแก้ปัญหานี้จึงขึ้นกับความจริงใจของรัฐบาลว่าจะดำเนินการเรื่องอากาศสะอาดเพื่อพี่น้องประชาชนหรือไม่ หากมีความจริงใจที่จะนำพาพี่น้องประชาชนให้สุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ต้องมุ่งมั่นทำตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 5 อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรอตัวอักษรใด ๆ มารองรับ