ตามความเข้าใจโดยทั่วกัน มองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค. เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ให้ถามว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ครั้งที่ 2 ให้ถามว่า ประชาชนเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
ก็สอดคล้องกับกระบวนการที่รัฐสภากำลังทำอยู่ในขณะนี้ ที่มีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยเมื่อรัฐสภาโหวตผ่านวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงค่อยไปทำประชามติ ถามประชาชน ว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะถึงตอนนี้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่เริ่มขึ้น เป็นแต่เพียงการกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น
แต่ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่คิดอย่างนั้น กลับมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมที่กำลังจะพิจารณาในวาระที่ 3 เร็วๆนี้ เป็นอันต้องตกไปทั้งฉบับ
เพราะจะต้องทำประชามติตั้งแต่ในขั้นแรกก่อนเริ่มกระบวนการ อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่า สภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ ส.ส.ร. ดังนั้น การกำหนดให้มี ส.ส.ร.จึงเท่ากับขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ท่าทีของ “ไพบูลย์” มีแนวโน้มที่จะเสนอต่อที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอให้พรรค โหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าพรรคพลังประชารัฐ จะกล้าเสี่ยงขัดใจพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรรคภูมิใจไทย ล้วนต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อันที่จริง ไม่ต้องถึงมือพรรคพลังประชารัฐก็สามารถคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะลำพังแค่ ส.ว.ไม่โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นอันต้องตกไปแล้ว เนื่องด้วยการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จะต้องพึ่งเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อยต้องมี ส.ว.84 คนโหวตรับร่าง
ซึ่งหากย้อนดูการอภิปรายในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ที่ผ่านมา จะเห็นสัญญาณเตะถ่วงเวลา ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. อยู่เนืองๆ
ยิ่งวันนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชนิดที่เปิดทางให้ทุกฝ่ายสามารถตีความเข้าข้างตัวเองเองได้ ก็ยิ่งเข้าทางที่ ส.ว.ที่กล้าตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า ไม่อาจเห็นชอบได้ เพราะขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
วันชัย สอนศิริ ส.ว.ให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านวาระหนึ่ง วาระที่สอง และเตรียมเข้าสู่วาระสามของรัฐสภานั้น เป็นกระบวนการทำที่มิชอบ และใช้ไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าคำวินิจฉัยที่ระบุว่าต้องถามความประสงค์ของประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ เชื่อว่าการลงมติวาระสาม ในวันที่ 17 มี.ค. นี้ จะไม่สามารถเดินหน้าได้
สำหรับการทำประชามติ วันชัย เห็นว่า จะต้องทำถึง 3 ครั้ง คือ ก่อนแก้ไข, หลังการแก้ไข และหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะใช้งบประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท
ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว. เห็นว่า ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสภามีอำนาจทำได้ แต่ต้องไปถามประชามติจากประชาชนผู้สถาปนาอำนาจก่อนว่า ยอมอนุมัติหรือไม่
“ส่วนวาระ 3 จะตกไปหรือไม่ ไม่ต้องกังวล เพราะตราบใดไม่มีประชามติอนุมัติให้รัฐสภาไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐสภาจะถือวิสาสะโหวตวาระ 3 เพื่อจะให้มี ส.ส.ร.ไปร่างใหม่ไม่ได้เช่นกัน” สมชาย กล่าว
ดังนั้น จึงฟันธงได้เลยว่า หากรัฐสภาเลือกที่จะโหวตวาระ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แล้วมานั้น ล้มไม่เป็นท่าอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง