นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ในฐานะผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายกล่าวถึง แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ว่ายังไม่สามารถตัดเกรดได้
แต่จากการประเมินผลงานที่ผ่านมา ยังมีปัญหาหลายจุดโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายล่าช้า ทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่คาด ซึ่งอาจต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยออกเป็นรูปแบบ พ.ร.บ.เพื่อให้สภาฯ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยคิด
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา เม็ดเงินยังน้อยเกินไป ไม่ตอบโจทย์ปัญหาปากท้องของประชาชนโดยเฉพาะในระดับที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านเงินโอน ทำให้ตัวคูณทางการคลังน้อย ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนน้อย
ดังนั้นเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อดึงความเชื่อมั่นของคนไทยและต่างประเทศกลับคืนมาโดยต้องใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่และต้องขยายเวลาให้นานขึ้น แต่ต้องเป็นเวลาที่จำกัดและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
นางสาวศิริกัญญา มองว่า แพ็คเกจ 3.6 แสนล้านบาท นั้น 2 แสนล้าน เป็นวงเงินกู้ถ้าไม่เกิดการกู้ก็จะไม่เป็นไปตามเป้า เช่น มาตรการ "ชิม ช้อป ใช้" ไม่ตรงเป้า เป็นการสาดกระสุน โดยไม่เลือกกลุ่มผู้บริโภค
ขณะที่ การลงทุนปล่อยสินเชื่อต่างๆ จะต้องทบทวน และเห็นว่ามาตรการประกันรายได้ภาคการเกษตรเม็ดเงินยังน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากมาตลอดหลายปี
พร้อมระบุด้วยว่าขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงยากลำบากเช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศ กำลังการบริโภคแผ่ว ภาคการเกษตรถูกสถานการณ์ภัยแล้งถูกอุทกภัยเล่นงาน มีแนวโน้มถดถอยและอยู่ในขาลงต่อไป รวมถึงรายได้นอกภาคเกษตรในกลุ่มแรงงานก็เริ่มมีแนวโน้มหดตัวจำนวนชั่วโมงค่าล่วงเวลา (โอที) ถูกตัดไป ร้อยละ 8 โรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 แรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่าปี 2552 ที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจโลก
การใช้จ่ายด้านการลงทุนโดยรัฐ ที่จะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจก็ไม่สามารถทำได้ตามเป้า การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า หน่วยงานที่เบิกจ่ายเกินครึ่งมีเพียงเล็กน้อย ดังนั้นงบประมาณ ในส่วนที่เหลือก็จะถูกแช่ต่อไปจนถึงไตรมาส 2/2563
เสนอออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. กู้กระตุ้นเศรษฐกิจ แนะรัฐเลิกออกแพกเกจรายครั้ง
พรรคอนาคตใหม่ จึงเสนอทางออก โดยเห็นว่ารัฐจะต้องออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.เพื่อกู้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นการออกเป็นแพกเกจรายครั้ง จึงขอสนับสนุนให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเป็นพ.ร.บ.เพื่อให้ช่วยคิด โดยต้องพุ่งเป้าอย่างชัดเจน มีระยะเวลาที่เหมาะสม ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปีและมีความต่างของมาตรการต่างกันออกไป และต้องเกิดขึ้นชั่วคราว โดยแพ็กเกจต้องปรับโครงสร้างหนี้ภาคการเกษตรโดยเร่งด่วนผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยยังค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ ที่มีวินัยจะต้องได้รับเบี้ยที่ต่ำกว่า ร้อยละ 7
รวมถึงจะต้องมีเงินลงทุนที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ เน้นให้เกิดการลงทุนในโรงเรียนรัฐบาล ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในภาคการเกษตร รวมถึงปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเป็นบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ที่ต้องทำงานร่วมกัน
รัฐจะต้องทำหน้าที่เป็น Kick Starter เช่น การประกอบรถเมล์ การประกอบรถเมล์ไฟฟ้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราต่างๆ หมอนยางพารา เตียงยางพารา ซึ่งรัฐจะต้องเข้าไปเป็นผู้ซื้อเพื่อให้เกิดความมั่นใจรวมถึงชะลอการใช้เงินลงทุนที่ไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น การจัดซื้อยุทโธปกรณ์
โดยรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้จะใช้เงิน 7-9 แสนล้านบาท โดยออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง หรือสัดส่วน GDP ต่อหนี้สาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :