ไม่พบผลการค้นหา
ผู้จัดลั่นม็อบหน้าสภาฯ ไม่ใช่การกดดัน แต่ต้องการส่งเสียงถึง ส.ว. เผย ส.ว.ไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจตัวเอง จี้ ฟังเสียงประชาชน

วันนี้ (23 พ.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดกิจกรรม สว.ต้องฟังมติประชาชน ซึ่ง จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เริ่มมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาจับจองพื้นที่บริเวณหน้าลานทางเข้ารัฐสภา

โดยมวลชนบางส่วนนำสินค้ามาจำหน่าย พบว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายนั้นเป็นของที่ระลึก ที่มีภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกล และสินค้าที่มีสีส้ม สำหรับบรรยากาศโดยรอบมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจ ส.น.บางโพ และตำรวจรัฐสภา ตั้งแต่จุดบริเวณทางเข้าอาคาร และบริเวณภายในอาคารกันอย่างเข้มงวด โดยมีหน่วยควบคุมฝูงชนประมาณ 3 กองร้อย กับกองร้อยน้ำหวาน 1 หมวด ทยอยเข้ามาประจำการในช่วงบ่าย รวมทั้งรถน้ำดับเพลิง และรถสุขาเคลื่อนที่

กัลยกร สุนทรพฤกษ์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เดินทางมาดูสถานที่จัดการชุมนุม ซึ่งได้มีการขอพื้นที่ในการชุมนุมบริเวณริมฟุตบาทไปจนถึงลานหน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ตำรวจรัฐสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภา มาช่วยกำหนดพื้นที่การชุมนุม สำหรับวันนี้เป็นการรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนให้วุฒิสมาชิกรับฟังเสียงของประชาชน ไม่ได้มาด้วยท่าทีกดดันหรือใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

โดยวุฒิสมาชิกที่ตัดสินใจแล้วว่าจะโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เราก็จะมาให้กำลังใจ ส่วนวุฒิสมาชิกที่ยังไม่ตัดสินใจ เราก็จะมาให้เหตุผลทางวิชาการว่า ทำไมคุณถึงต้องยืนอยู่ข้างประชาชน อีกไม่ถึงปีวุฒิสมาชิกก็ต้องหมดวาระแล้ว ก็ควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชน ส่วนวุฒิสมาชิกที่ประกาศจุดยืนแล้วว่าจะไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็จะนำเสียงของประชาชนฝากถึงท่านเหล่านั้นผ่านข้อความต่างๆ

โดยรูปแบบของการจัดกิจกรรมในเย็นนี้ จะเป็นการจัดเวทีเสวนาวิชาการว่า ทำไมวุฒิสมาชิกต้องรับฟังเสียงของประชาชน ควบคู่ไปกับการแสดงดนตรีและการจัดกิจกรรมที่สบายๆ ไม่ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด เช่น จัดให้เขียนกระดาษจดหมายส่งไปถึงวุฒิสมาชิก เป็นต้น

ซึ่งผู้จัดคาดหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถทำให้วุฒิสมาชิกที่ยังไม่ตัดสินใจ สามารถตัดสินใจยกมือให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเรามาพูดคุยโน้มน้าวด้วยเหตุและผลเป็นหลัก ไม่ได้มีเจตนาในการมาบีบคั้นหรือขูดรีดบังคับให้วุฒิสมาชิกต้องยกมือให้แต่อย่างใด โดยยืนยันว่า การจัดการชุมนุมในเย็นวันนี้มาด้วยท่าทีที่สงบ เชื่อว่าไม่ถูกนำไปเป็นเครื่องมือหรือเงื่อนไขที่ทำให้วุฒิสมาชิกตัดสินใจไม่ยกมือให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กัลยกร ยอมรับว่า การจัดการชุมนุมในครั้งนี้มี เสียงตอบรับที่ไม่ค่อยดีในโลกโซเชียลมีเดียและเข้าใจในความเป็นห่วงของทุกคน เพราะกลัวว่าจะเกิดความรุนแรง แต่ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม การชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนย่อมสามารถจัดได้ และพวกเราก็อยากขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย นอกจากที่จะขับเคลื่อนในรัฐสภาแล้ว

กัลยกร มองว่า การชุมนุมวันนี้ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องของความรุนแรง เนื่องจากมีการ์ดจากฝั่งประชาชนมาช่วยรักษาความปลอดภัยและรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากมือที่สาม รวมทั้งได้มีการประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัย และให้การช่วยเหลือหากเกิดกรณีสร้างสถานการณ์โดยมือที่สาม มั่นใจว่าจะสามารถรับมือสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้ ยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้จดแจ้งการชุมนุมตามกฎหมายแล้ว และดำเนินขอพื้นที่จัดกิจกรรมกับทางรัฐสภาแล้ว


ย้ำ ส.ว.ต้องฟังเสียง หวังรัฐบาลใหม่สร้างกลไกปิดฉากรัฐประหาร

ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ 'มายด์' นักกิจกรรม ที่เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้จะเป็นการย้ำเตือนว่า ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจพิจารณาสิทธิของประชาชน เพราะมองว่าบทบาทหน้าที่ก็มีที่มาไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก และที่มาของส.ว.ชุดนี้ ก็ยังเป็นข้อครหาแก่ประชาชน

เมื่อถามว่าท่าที ส.ว.บางท่านมองว่าไม่เหมาะสม ภัสราวลี รยืนยันว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนในการพูดถึง บุคคลที่ได้รับเงินภาษีของประชาชนย่อมพูดได้ แล้วยิ่งเป็นช่วงที่จะเกิดรัฐบาลใหม่ ประชาชนเองก็คาดหวังและตั้งใจเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ส.ว.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นความเห็นส่วนบุคคลกันไป แต่มองว่าไม่ควรที่จะมีผลต่อการตัดสินใจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่

เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.มากน้อยแค่ไหน ภัสราวลี กล่าวว่า ในมุมที่ดีคือการสื่อสารในวันนี้จะเป็นไปอย่างมีเหตุผล และไม่ใช่การกดดัน อย่างที่หลายคนกังวลแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าหากเราพูดด้วยเหตุผลแล้ว ส.ว.ควรที่จะรับฟัง

ส่วนกรณีที่หลายคนบอกว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เร็วเกินไปหรือไม่ ภัสราวลี กล่าวว่า หลายคน อาจจะพบกับชุมนุมในลักษณะของความรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตอบโต้การชุมนุมอย่างรุนแรง

ตนจึงอยากชี้แจงตรงนี้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองมีลักษณะที่หลากหลายไม่ได้มีเพียงแค่การชุมนุมกดดันเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งการพูดคุยกันดีๆ ใช้วงเสวนาในการพูดคุย ใช้ดนตรีในการปลุกใจรวมพลกัน ซึ่งตนอยากให้มาดูงานในวันนี้ที่เป็นการส่งข้อมูลสื่อสาร ของประชาชนไปถึง ส.ว.

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง คิดอย่างไรกับรัฐบาลของพิธา ภัสราวลี กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเสียงที่ประชาชนโหวตในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเป็นฉันทามติของสังคมอย่างชัดเจนว่าประชาชนต้องการออกจากระบอบเผด็จการ และต้องการรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าหากเป็นไปตามกลไกลประชาธิปไตยก็หวังว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล จะได้รีบทำงานให้กับประชาชนโดยเร็ว ตามสัญญาที่ให้กับประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้ง

เมื่อถามต่อว่า คาดหวังอย่างไรกับรัฐบาลชุดนี้ ภัสราวลี กล่าวว่า จริงๆ ตนเองคาดหวังกับทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลชุดนี้จะต้องแก้ไขเชิงโครงสร้าง ที่จะวางรากฐานไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดนี้จะเกิดกลไกลการป้องกันประชาธิปไตย ไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาทำร้ายประชาธิปไตยได้อีก

สำหรับประเด็นแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่ไม่ได้อยู่ใน MOU นั้น ภัสราวลี เผยว่า หลายๆ คนอาจจะคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า เรื่องกฎหมายมาตรา 112 พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจจะพูดไม่ชัดเจน การที่ระบุลงไปอาจจะเป็นการกึ่งมัดมือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้าพรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะผลักดันประเด็นนี้ต่อไป เราก็อาจจะได้เห็นประเด็นนี้ในสมัยรัฐบาลใหม่

เมื่อถามถึงว่า หากพรรคก้าวไกลขอไปทำประเด็นอื่นก่อนเรื่องแก้มาตรา 112 น.ส.ภัสราวลี เชื่อว่าในวาระ 4 ปีนี้ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่หากรัฐบาลไม่ผลักดันให้เกิดขึ้น ประชาชนจะเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มีความกังวลว่าจะนำไปสู่การชุมนุมหรือไม่ ภัสราวลี ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิออกมาปกป้องความเป็นประชาธิปไตย และเสียงโหวตของตัวเองที่อยากได้รัฐบาลชุดใหม่ ถ้าใครมาขัดขวางระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือขัดขวางประชาชนที่ออกมาปกป้องสิทธิ ตนก็คิดว่าประชาชนก็พร้อมที่จะออกมายืนยันสิทธิของตัวเองเช่นกัน