ไม่พบผลการค้นหา
'วิโรจน์' กั๊กตอบร่วม คกก.ศึกษาจัดซื้อเรือดำน้ำ ของ 'สุทิน' หรือไม่ ขอดูรายละเอียดก่อน ย้ำหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ นิติบัญญัติต้องไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร

วันที่ 23 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวถึงกรณีที่ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเชิญ วิโรจน์ และ รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ เป็นที่ปรึกษาโครงหาจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำ 

โดย วิโรจน์ ระบุว่า เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล เรามีคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ของ รังสิมันต์ อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมารัฐมนตรีให้ความร่วมมือ ในการตรวจสอบถ่วงดุล ก็เพียงแค่ให้ข้อมูลเปิดเผยรายละเอียดสัญญา และตอบคำถามที่กรรมาธิการฯ สงสัย อย่างไรก็ตาม อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ แต่เราต้องอย่าลืมหลักการการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติต้องไม่เข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่าย บริหาร เพราะความรับผิดชอบในการตัดสินใจ ยังอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

"สิ่งที่ต้องกังวล คือจะเอาความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปอ้างอิงในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ถ้าอยู่ลักษณะเช่นนั้น จะทำลายหลักการตรวจสอบ และถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยทันที" 

วิโรจน์ ยังเผยว่า ในความรู้สึกของตนกับ สุทิน เข้าใจกันไม่ได้มีปัญหา แต่อยากจะรักษาหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และอยากให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการทหาร หรือคณะกรรมาธิการความมั่นคง ของ รังสิมันต์ แต่คงตอบแทน รังสิมันต์ ไม่ได้ ส่วนคณะกรรมาธิการการทหารของตน อยากให้อยู่ในบทบาทของคณะกรรมาธิการการทหาร และกระทรวงกลาโหมมากกว่า

เมื่อถามว่า จะไม่เข้าร่วมใช่หรือไม่ วิโรจน์ กล่าวว่า คิดว่าคงจะมีโอกาสหารือกับ สุทิน ในช่วงเดือน ก.พ. ซึ่งวันนี้คงต้องคุยในรายละเอียดก่อน แต่เจตนาที่พยายามจะคลี่คลายหาทางออก ให้เป็นประโยชน์กับเงินภาษีของประชาชน ก็เป็นดำริที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีการข้อตกลงร่วมกัน ในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกระทรวงกลาโหม และ กรรมาธิการการทหาร เพื่อให้ทำงานกันอย่างแนบแน่นมากขึ้น 

"ไม่ใช่ว่าส่งเอกสารหรือขอหนังสืออะไรไปแล้ว ไม่เคยได้รับอย่างที่เคยเป็นมา ถ้าจะทำงานอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น ถ้าเราสงสัยแล้วท่านชี้แจง เปิดเผยรายละเอียดเป็นสาธารณะ อะไรที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เข้าอกเข้าใจกัน ตรงนั้นจะทำให้เราทำงานได้อย่างเข้าใจ"

ส่วนกรณีที่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตอบรับเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว มองว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมหรือไม่ วิโรจน์ กล่าวว่า มองว่าเป็นการตัดสินใจของ ยุทธพงศ์ ซึ่งบทบาทที่ผ่านมา ก็เป็นคนที่มีข้อมูลเรื่องเรือดำน้ำ และน่าจะช่วยงาน สุทิน ได้พอสมควร ไม่ว่า ยุทธพงศ์จะตัดสินใจด้วยเหตุผลใด ก็เคารพการตัดสินใจ

เมื่อถามว่า จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก่อนจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ วิโรจน์กล่าวว่า คงจะมีการหารือกันในหมู่ สส. มากกว่า เพราะเป็นเรื่องอำนาจนิติบัญญัติ