ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ยืนยันไร้เจตนา 'เซาะกร่อนบ่อนทำลาย' สถาบันฯ ชี้คำวินิจฉัยก่อผลกระทบระยะยาวต่อประชาธิปไตยในระยะยาว ด้าน 'พิธา' ยืนยัน ไม่มีใครสละเรือ

วันที่ 31 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และสั่งยุติการกระทำ พรรคก้าวไกลแถลงข่าว นำโดย พิธา และ ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล 

ชัยธวัช กล่าวว่า แม้ศาลจะวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลว่าเป็นสิทธิ์การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่ได้มีเจตนาเพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายหรือแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติแต่อย่างใด

นอกจากนี้ พวกเรายังเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลในวันนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาวด้วย เช่นอาจกระทบกับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต อาจกระทบต่อความเข้าใจ และความหมายตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักการสำคัญของระบบการเมือง ไม่มีความชัดเจนแน่นอน อีกทั้งมีความคลุมเครือ ทั้งในแง่การตีความข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนา ว่าอย่างไร คือการล้มล้างการปกครอง 

"คำวินิจฉัยในวันนี้จะก่อให้เกิดปัญหาต่อดุลยภาพระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมืองไทยในอนาคตอาจจะทำให้สังคมไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ระบบรัฐสภาในระบบประชาธิปไตยในการหาข้อยุติความขัดแย้งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมในอนาคต"

สุดท้ายคำวินิจฉัยวันนี้อาจส่งผลต่อประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยอาจส่งผลกระทบต่อด้านลบ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเองพรรคก้าวไกล ขอขอบคุณทุกกำลังใจจากประชาชนที่ส่งมาให้พวกเราตลอดหลังจากที่มีการอ่านคำวินิจฉัย

"คำวินิจฉัยในวันนี้ จะไม่ได้กระทบต่อพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน"

ชัยธวัช สรุปว่า ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนไม่ใช่ของพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของอนาคตระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลระบุ รายชื่อ สส.ของพรรคทั้ง 44 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้กฎหมายนั้น พรรคได้มีการประเมินและเตรียมไว้หรือไม่ ว่าอาจจะถูกลงโทษร้ายแรง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 

ชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แน่นอนว่าการเมืองใดๆ หลังจากนี้ ที่เกินสมควร ยืนยันว่า จะทำให้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะยุติ และลดการนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นความขัดแย้งในสังคมไทย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย 

ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า ข้อเสนอของ สส.พรรคก้าวไกล ก็เสนอด้วยเจตนาเช่นนี้ เจตนาที่ไม่ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่เปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตัวเอง และอาศัยความจงรักภักดีนั้น เสาะหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างปฎิเสธไม่ได้ ว่าเป็นส่วนสำคัญ เรายืนยันว่า เราไม่ได้มีเจตนาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส่วนความคิดเห็นในกรณีที่พรรคการเมืองอื่น ก็มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเช่นกันนั้น ชัยธวัช กล่าวว่า การวินิจฉัยว่านโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ให้มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง 

"คำถามคือพรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียง ว่าตัวเองเป็นผู้จงรักภักดี หรือโจมตีพรรคอื่น ว่าไม่เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หรือมีการขึ้นรูปพระราชวงศ์ในเวทีหาเสียง ถือว่าเป็นการลดทอน และเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่" ชัยธวัช กล่าว

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยในวันนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเสนอกฎหมายฉบับอื่นด้วยหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นความน่ากังวล เนื่องจากการตีความที่ดูเหมือนไม่มีขอบเขตในหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน อาจจะถูกตีความ ว่าแม้กระทั่งกรณีนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 มีนัยยะซ่อนเร้นล้มล้างการปกครองก็ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และไม่ได้กระทบต่อการปกครองหรือล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด 

ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า ตามบทบัญญัติกฎหมาย มีการละเว้นในส่วนความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึง พ.ศ. 2499 มีบทยกเว้นความผิดในบทนี้ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใด แต่ปัจจุบันถูกวินิจฉัย ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อนาคตก็ไม่รู้จะมีคำวินิจฉัยแบบไหนอีก เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ทำให้ความเข้าใจในการให้ความหมายร่วมกันนั้น ไม่มีความชัดเจนแน่นอน และอาจทำให้เกิดปัญหา

ส่วนพรรคจะมีโอกาสถอย มาตรา 112 ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น ชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายส่งไปแล้ว เป็นเรื่องของสภา คิดว่าสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ในสภาจะเป็นข้อยุติที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้ 

เมื่อถามถึงการเตรียมการในกรณีที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จะเดินทางไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคนั้น ชัยธวัช และ พิธา ตอบพร้อมกันว่า เดี๋ยวดูคำร้อง 

เมื่อถามว่าหลังจากนี้ จะมี สส.พรรคก้าวไกล สละเรือหรือไม่ ทำให้ สส. ที่ยืนอยู่ด้านหลังหัวเราะพร้อมกัน ก่อนที่ พิธา จะตอบว่า "ทุกคนหัวเราะ แปลว่าทุกคนอยู่ต่อหมด"


'รังสิมันต์' มองคำวินิจฉัยศาล รธน. สร้างคำถามให้สังคม ชี้ 'ก้าวไกล' ต้องพิสูจน์ความจริงใจด้วยเวลา เสนอนโยบายเพราะหวังแก้ปัญหาประเทศจริง

ด้านรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ว่าการนำประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ประเมินความเคลื่อนไหวนอกสภาฯ อย่างไร

รังสิมันต์ กล่าวว่า ปกติเมื่อมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนให้กับสังคม ซึ่งอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้สังคมปฏิบัติต่อไป และสถานะของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แนวคำวินิจฉัยของศาลจึงมีความสำคัญอย่างมาก เราจึงคาดหวังให้แนวคำวินิจฉัยสร้างให้มีความเข้าใจตรงกันว่าจะต้องปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างไร

"ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทันที คือ อย่างนี้คนที่ศาลเคยตัดสินยกฟ้องคดี 112 ไปเท่าไหร่ ให้ประกันตัวไปเท่าไหร่ ประชาชนที่เข้าชื่อเสนอให้ยกเลิก 112 จะอย่างไร เราเสนอนโยบาย กกต. ก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร สิ่งเหล่านี้เต็มไปด้วยคำถามตามมาทั้งหมด"

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของศาลตัวเต็ม แต่เฉพาะหน้าสังคมก็มีคำถามต่อเรื่องนี้อย่างมาก ตนเองไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบทางการเมืองมากน้อยเท่าไหร่ แต่จะทำให้เราต้องรอดู ว่าจะได้คำตอบของคำถามเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะคาดการณ์

ส่วนที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้กล่าวว่า 'กฎหมายเขียนด้วยคน ไม่ได้แฟกซ์มาจากพระเจ้า' ยังเชื่ออย่างนั้นได้อยู่หรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ตามความจริง กฎหมายเขียนด้วยคน คำวินิจฉัยวันนี้ของศาลก็เขียนด้วยคน ทุกอย่างก็เขียนด้วยคนทั้งหมด ถ้าเรามองไปที่ประเทศต่างๆ ที่ผ่านวิกฤต ถ้าเขาหาทางออกได้ ตนเองก็เชื่อว่าสังคมไทยก็หาทางออกได้ เพียงแต่เราต้องไม่ย่อท้อ เราต้องยืนหยัดในความเชื่อ และเราต้องพิสูจน์ 

"วันนี้พรรคก้าวไกลพยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเราไม่ได้ต้องการจะ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แน่นอนอาจจะมีคนบางกลุ่มไม่เชื่อ แต่เราก็ต้องพิสูจน์ต่อไป พิสูจน์ซ้ำๆ เพื่อยืนยันให้เห็นว่าเราต้องการเข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมืองจริงๆ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่คงต้องพิสูจน์กันด้วยเวลา" รังสิมันต์ ระบุ

รังสิมันต์ ยังเชื่อว่า การที่พรรคก้าวไกลได้รับความสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนจำนวนมากขนาดนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนที่เลือกเรา เขาเองก็อยากจะออกจากวิกฤตทางการเมือง การเสนอนโยบายคือการแก้ปัญหาให้กับประเทศ แล้วมีคน 14 ล้านคนเห็นด้วย แต่ถูกบอกว่าห้ามเสนอห้ามแก้และห้ามมีพื้นที่ด้วย ส่วนตัวมองว่า ก็จะเป็นวิกฤตใหม่ ที่วนไปวนมา หาทางออกไม่ได้ ก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด