นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพ และการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการเสวนา”ปลดล็อคสื่อมวลชน คืนเสรีภาพประชาชน เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดขึ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเรียกร้องให้หัวหน้า คสช. หรือ รัฐบาล เสนอกฎหมาย หรือใช้ ม. 44 เพื่อยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่ยังกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ทั้งประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และประกาศ คสช. ที่ 103/2557 ,คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 5 รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เนื่องจาก เมื่อมีการปลดล็อคให้พรรคการเมือง เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว จึงควรปลดล็อคสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน และประชาชนในการแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อให้บรรยากาศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าความเป็นประชาธิปไตยจะถูกตีความมากหรือน้อยก็ตาม ต้องมีการเลือกตั้งบนพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการร่วมแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี แต่เมื่อพิจารณาถึงบรรยากาศถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เราก็พบความจริงว่า มีคำสั่งและประกาศ คสช. หลายเรื่องกระทบสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
โดยพบว่า คำสั่งที่ 3/2558 กระทบประชาชน เพราะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปเคหะสถานเพื่อตรวจค้น และมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีหมายศาล เรื่องนี้มีการทับซ้อนอำนาจทีน่าเกลียดมาก เพราะผู้มีอำนาจลงนามคำสั่งดังกล่าว กำลังจะอยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นไปได้หรือไม่หากเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตัวเองกลั่นแกล้งพรรคการเมือง
อย่างไรก็ดี อำนาจในลักษณะนี้ หลายประเทศที่ไม่ไกลจากบ้านเรา ได้ใช้อำนาจลักษณะนี้ เข้าไปดำเนินการก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้สนับสนุนผู้มีอำนาจในขณะนั้น และอาจเกิดขึ้นได้กับประเทศไทย หากคำสั่งในลักษณะนี้ยังคงอยู่ ดังนั้นคิดว่าเราไม่ควรมีคำสั่งเหล่านี้อยู่อีกต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง นอกจากนั้นในมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุตอนหนึ่งว่า การสั่งปิดกิจการสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพ รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาก่อนนำเสนอถือเป็นสิ่งที่กระทำมิได้ เว้นแต่จะอยู่ในภาวะสงคราม สรุปคำสั่ง คสช.ที่มีอยู่เวลานี้ ทำให้ประเทศเราอยู่ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งหรือกำลังเข้าสู่ภาวะสงคราม
ส่วนนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยว่าควรยกเลิก เพราะคำสั่ง และประกาศ คสช. นอกจากจะกระทบสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนแล้ว ยังจะกระทบต่อประชาชนด้วย เช่น ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สื่อมวลชนจะนำเสนอข่าวให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งได้อย่างไร จึงเห็นว่า ควรจะยกเลิก และรื้อ คำสั่ง คสช. ให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีรัฐบาล-รัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง
ด้านนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เห็นว่า คำสั่ง และประกาศของ คสช. ต่าง ๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่นั้น ควรจะมีการจัดการ และปลดล็อค เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ความสง่างามในช่วงการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ คสช. ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้กลไก กสทช. ในการจัดการสื่อมวลชน
นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพของสื่อมวลชนว่า สื่อเสรีภาพของสื่อ ถือเป็นเสรีภาพของประชาชน เพราะถือเกี่ยวข้องกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนจากสื่อมวลชนด้วย พร้อมเรียกร้องให้ คสช. ยุติการใช้อำนาจ ม.44 ทันทีที่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งทั่วไป
นางสาวพรรณิการ์ ยังเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่ออยู่เป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะการมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น ไม่เป็นธรรม และเชิญชวนให้พรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 279 ที่เกี่ยวข้องกับการคงประกาศ และคำสั่ง คสช. ให้มีผลทางกฎหมายด้วย
เช่นเดียวกับ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคชาติพัฒนา ที่เห็นตรงกันว่า ควรยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช. ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย
ขณะที่ นายปราเมศวร์ เหล็กเพ็ชร นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อรับข้อเสนอดังกล่าวของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไปพิจารณาด้วย