ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยระบุว่า ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2560 เวลา 9.30 - 11.30 น. จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชนเพื่อยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.ที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยที่มาของกิจกรรมนี้ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งไปแล้วกว่า 500 ฉบับที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมือง สิทธิชุมชน และเสรีภาพสื่อ โดยที่ประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้จะยังคงอยู่และมีสถานะเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ว่าประเทศกำลังเดินหน้ากลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและ คสช. จะต้องเตรียมตัวยุติบทบาทหลังการเลือกตั้งแล้วก็ตาม
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับความเดือดร้อนจากประกาศและคำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับต่างๆ จึงเตรียมจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ"ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)" ให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช.รวม 35 ฉบับ
โดยกิจกรรมจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 เป็นต้นไปและคาดว่าจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งอย่างน้อย 35 ฉบับได้
สำหรับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่จะชี้แจงผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. และเหตุผลที่ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ควรถูกยกเลิกได้แก่
1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
2. เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ
3. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
4. เครือข่ายแรงงาน
5. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
6. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
7. เครือข่ายผู้บริโภค
8. เครือข่ายประชนผู้เป็นเจ้าของแร่
9. เครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ
10. เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
11. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
12. เครือข่ายสลัมสี่ภาค (ทุกภาค)
13. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
14. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (คอป.)
15. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
16. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
17. สมัชชาคนจน
18. ขบวนการอีสานใหม่
19. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)
20. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
21. กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)
22. กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
และกลุ่ม องค์กร เครือข่ายอื่นๆ ที่เข้าร่วมอีกจำนวนมาก
ทั้งนี้สำหรับตัวอย่างประกาศ คำสั่ง คสช.ที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยได้แก่
๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดให้การชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป เป็นความผิด และให้ทหารมีอำนาจ
๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2559, 13/2559, 5/2560 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าทีืทหารเรียกและจับบุคคลไปขังไว้ได้ 7 วัน โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ได้รับยกเว้นความรับผิด
๐ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ซึ่งกำหนดห้ามสื่อรายงานข้อมูลที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และต้องออกอากาศรายการตามที่คสช. สั่ง
๐ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557, 66/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 4/2558 เรื่องการ "ทวงคืนผืนป่า" ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 1,785 ราย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 552 คน
๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 กำหนดให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2559 กำหนดให้หน่วยงานรัฐหาเอกชนผู้รับเหมาโครงการใหญ่ได้ก่อนผ่าน อีไอเอ