ไม่พบผลการค้นหา
'ปลอดประสพ' ชี้ 6 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลละเลย จวกรัฐบาล ไร้ 'ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี' อัดฉีดงบกว่า 3 เท่าจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ไร้ประสิทธิภาพ 'ธีรรัตน์' วอนภาครัฐฯ ออกประกาศให้ขรก. ทำงานได้เร่งด่วน-เร่งพร่องน้ำสู่พื้นที่โดยรอบ

วันที่ 12 ก.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวประเด็น "ใครทำน้ำท่วม ?" โดย ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. (เขตลาดกระบัง) ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย 

ปลอดประสพ กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องแรกคือยากจะทบทวนสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ละเลย ความละเลยทำให้เกิดเหตุ ได้แก่ 

1.เรื่องน้ำเป็นงานในระดับยุทธศาสตร์ เพราะน้ำเป็นสายเลือดของชาติ และประชาชน เป็นความอยู่ดีมีสุขของประชาชน คงเคยได้ยินจิ๋นซีฮ่องเต้ ตรัสไว้เมื่อท3,000 ปีที่แล้ว ถ้าจะปกครองประเทศจีนให้ร่มเย็น ต้องคุมน้ำให้ได้ และท่านก็ทำได้ สิ่งนี้คิดมา 3,000 ปี และพิสูจน์แล้วว่าการบริหารจัดการน้ำเป็นยุทธศาสตร์ แต่ผู้บริหารทำไม่ได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นยุทธศาสตร์ขนาดนี้ 

2.การจัดการเรื่องน้ำ เป็นยุทธวิธี ที่เป็นที่รู้ เข้าใจ และยอมรับมา 3,000 ปีเหมือนกันคือ น้ำต้องมีที่อยู่ที่ไป ตอนนี้น้ำไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ไป เพราะมาท่วมเสียหมด เพราะฉะนั้น ต้องถือว่า ยุทธวิธีที่ทำช่วงนี้มันผิด เช่น บางประตูน้ำไม่ควรปิดก็ปิด บางสถานที่ไม่ควรจะขุดก็ไปขุด ที่ไม่ควรจะถมก็ไปถม อาคารบางแห่งไม่ควรสร้างก็สร้าง เป็นต้น

3.การบริหารจัดการน้ำต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่น้ำฝน ตกลงมาในภูเขา หรือต้นน้ำ และไหลมาเป็นกลางน้ำ ต่อที่ท้ายน้ำ ก่อนออกทะเล และต้องทำทุกลุ่มน้ำ แต่รัฐบาลไม่ทำ การไปเยี่ยมประชาชนในช่วงนี้ แต่ละจุดที่ไป ไม่ได้อธิบายการจัดการบริหารน้ำ การเดินทางไปเยี่ยมราษฎรไม่ได้ทำให้น้ำหายท่วม

4.การบริหารจัดการน้ำไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่มันเป็นวิชาการที่มีหลายแขนงมาเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด เช่น ความรู้ทางด้านอุทกวิทยา วิศวกรรม ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม อุตุนิยมวิทยา ลองดูว่าบทบาทของหน่วยที่พูดถึงดี และเชื่อมกันแค่ไหน อีกทั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติก็ไม่แจ้งต่อประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

5. 26 หน่วยงานที่ทำงานเรื่องน้ำ แต่ละหน่วยมีอำนาจหน้าที่ของตัวเองต่างคนต่างทำ และรัฐบาลมี สทนช. ซึ่งคล้ายกับว่า การตัดสินใจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี แทนที่บอร์ดผู้บริหาร สทนช. จะเป็นคนพิจารณา ทำให้ประชาชนไม่เห็นความสอดคล้อง

6.วันนี้เราอยู่ในช่วงของลานินญ่า ลมตะวันออกพัดเข้ามาสู่ภูมิภาคอินโดจีน และภาวะโลกร้อน อุณหภูมิในทะเลสูง แต่รัฐบาลบริหารประเทศแบบปกติ ต้องบริหารในภาวะ New Normal ปฏิบัติงานที่เป็นมิติธรรมดาแบบนี้ไม่ได้ 


เรื่องน้ำเป็นเรื่องการบ้าน 

ปลอดประสพ กล่าวว่า การละเลยเรื่องใหญ่ใน 6 ข้อ ที่กล่าวมาได้นำไปสู่ความผิดพลาดได้แก่ รัฐบาลสืบทอดมาจากการปฏิวัติ ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีนักปฏิวัติอยู่หลายคน แม้จะผ่านการฉีกรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญที่พิลึกมาแล้ว แต่เรื่องน้ำมันเป็นเรื่องการบ้าน มันเป็นสายเลือด ความอยู่สุขของประชาชน ท่านเลิกไม่ได้ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ท่านปฏิวัติเรื่องน้ำไม่ได้ 

LINE_ALBUM_220912_4.jpg

ในสมัยตนได้ทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างดีเยี่ยม และไม่เสียเงิน ศาลปกครองสูงสุดบอกว่าถูกต้อง ป.ป.ช. ไม่พบความผิดอะไร เงินก็กองอยู่ 1 แสนล้าน นักวิชาการทุกคนมีความเห็นสอดคล้องว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุด แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับไปปฏิวัติเรื่องนี้ และไม่ทำต่อ มันถูกต้องแล้วหรือ และนอกจากไม่สานต่อโครงการ ยังเอาเงิน 1 แสนล้านไปใช้อย่างไม่เป็นประโยชน์ เช่น เอาหน่วยทหารไปจัดการน้ำ จนสุดท้าย ครม.มีมติ ให้ยุติ เพราะทำแล้วไม่ได้อะไร เหมือนเอาเงินไปละลายน้ำ 


ความไม่โปร่งใสการบริหาร

ปลอดประสพ กล่าวต่อว่า จากที่ตนได้พูดไปว่า เรื่องน้ำเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องน้ำในทางยุทธศาสตร์ ปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนในคลองเปรมประชากร หรือคลองลาดพร้าว จนล้ำเข้ามาในอาคาร จนไม่เหลือทางเดินของน้ำ ทำให้น้ำท่วมเอ่อในพื้นที่ 

อีกทั้ง ความผิดพลาดที่ไม่มีการบูรณาการใดๆ เลย หรือกระทั่งวิตกกังวลว่าทางตะวันออกของกรุงเทพฯ มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ และไม่อยากเห็นน้ำท่วม จึงไม่ให้น้ำไปทางนิคมลาดกระบัง ทั้งๆ ที่ทางตะวันออกมีคลองประเวศ มีประตูน้ำที่สามารถออกทะเลได้ รวมถึงมีน้ำมาจากนครนายก หรือเชื่อป่าศักดิ์สิทธิ์ ลงมายังทุ่งรังสิต ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่โปร่งใส จัดการล่าช้า ใน 10 โครงการหลักๆ ที่รัฐบาลสมัยตนจัดทำ และมีงบนไว้แล้วคือ การขุดแม่น้ำใหม่จากบางไทร มาบางบาล ยาว 20 กม. รัฐบาลนี้นำมาสานต่อแต่ใช้งบประมาณแพงขึ้น 3 เท่า อีกทั้งวางแผนไว้ให้เสร็จภายใน 3 ปี แต่รัฐบาลนี้กลับวางแผน 7 ปี อีกทั้งสิ่งก่อสร้างไปกีดขวางทางน้ำ จึงหลีกเลี่ยงการสร้างถนนที่ขวางทางน้ำ แต่รัฐบาลนี้กลับให้ข้าราชการทำถนนขนาบข้าง ทำให้น้ำที่อยู่ใน จ.อยุธยา และรอบข้างท่วมขัง ไม่สามารถไหลลงแม่น้ำได้ 

"ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง หากพรรคเพื่อไทยชนะ ผมจะเสนอให้รื้อถนนที่สร้างขนาบข้างแม่น้ำที่ถูกขุดใหม่ เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง และในยามที่ประชาชนเดือดร้อนมากมาย ทางพรรคเพื่อไทยเองอยากจะช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิด และประสบการณ์ แม้กระทั่งบุคลากรของพรรค อยากจะวางเรื่องการเมือง การต่อสู้สักเดี๋ยว ขอให้ประชาชนพ้นภัยก่อนแล้วกัน" ปลอดประสพ กล่าว 


ไม่มีใครอยากรับความเดือดร้อน

ปลอดประสพ ยังแนะนำรัฐบาลอีก 6 ข้อในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำ ให้รัฐบาล และกทม. จับมือกัน โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องคุยกับรัฐบาล และหวังว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ต้องสั่งให้เอาปั๊มน้ำทุกจังหวัดในประเทศไทยที่ไม่ได้ใช้ มายังกรุงเทพฯ ให้หมด ส่วนทางกรุงเทพฯ ให้เตรียมการว่าจะนำปั๊มน้ำไปวางที่ไหน 

อีกทั้งปั๊มน้ำเครื่องใหญ่ให้นำมาดูดน้ำจากคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทะเล หรือแม่น้ำบางปะกง และปั๊มน้ำเครื่องเล็กท่อประมาณ 6 นิ้ว ยาว 300-500 เมตร ไปแจกจ่ายใช้ในกรุงเทพฯ เพื่อดูดน้ำจากจุดท่วม ไปยังคลองใหญ่ เพื่อไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 

ปลอดประสพ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องประกาศพื้นที่ที่ประชาชนประสบอุทกภัยให้เป็นพื้นที่ภายใต้ภาวะพิเศษฯ ฉะนั้นการไปสั่งซื้อปั๊มน้ำ หรือเครื่องมือจะได้ง่าย เพราะขนาดตอนปฏิวัติยังมีระเบียบยกเว้นรัฐธรรมนูญไม่รู้จบ ใครก็ตามสั่งปล่อยน้ำลงมาทุ่งรังสิต หยุดทำเดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากได้ มีแต่ความเดือดร้อน ให้ไปยกเลิกคำสั่งเดี๋ยวนี้ 

อีกทั้งการกระจายน้ำจากรังสิตไปให้ครบทั้ง 3 ทาง คือ เจ้าพระยา บางปะกง และเมื่อไหร่ก็ตามที่คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ลดแล้ว ต้องยอมให้น้ำจากรังสิตไหลผ่านกรุงเทพฯ เพื่อให้ไปสู่ทะเล 

ปลอดประสพ กล่าวย้ำว่า การที่น้ำมันระบายไม่ได้ในขณะนี้ นอกเหนือจากฝน ยังมีสิ่งก่อสร้างเยอะไปหมด ฉะนั้นการระบายปกติทำไม่ได้ จึงต้องใช้ปั๊มน้ำอย่างเดียว จึงอย่าเสียดายเงินในการซื้อปั๊ม นอกจากนี้ ตนยังเล็งเห็นว่ารัฐบาลไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากประตูน้ำพระโขนง ทั้งที่เป็นประตูที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศ ฝากเรียนท่านผู้ว่าฯ ให้ตรวจสอบว่าติดขัดอะไร 


เพื่อไทยตั้งศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ประจำเขต 

ด้าน ธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการละเลยในการดูแลพี่น้องประชาชน และวันนี้ได้นำเสนอครบทุกมิติ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดใจแนวทางในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน เราหมายมั่นปั้นใจว่า พี่น้องประชาชนจะได้รับการดูแลมากที่สุด 

LINE_ALBUM_220912_5.jpg

ขณะที่ในเขตลาดกระบังก็ประสบปัญหาหนักเช่นกัน เรามีการส่งเสียงต่อรัฐบาลให้เตรียมการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะในเรื่องของการเตรียมการเครื่องสูบน้ำ เพราะลาดกระบังเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ จึงต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำ และได้ประสานเรือผลักดันน้ำ เพื่อให้น้ำจากคลองประเวศฯ และคลองพระองค์เจ้าฯ ไปยังสมุทรปราการ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับ 

ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลมีท่าทีที่นิ่งเฉย เพราะไม่รู้ในปัญหาใช่หรือไม่ หรือพยายามปิดหูปิดตาของท่านเพื่อจะไม่ลงมาแก้ไขปัญหา หากไม่ใช่เหตุผลนี้ จึงอยากให้นำสิ่งที่ตนได้กล่าวไปมาแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด และที่ตนไม่สบายใจคือ มีข้าราชการที่อาจจะไม่รู้วิธีการแก้ไขปัญหา รับงานจากรัฐบาลนำมาซึ่งการใช้งบประมาณ และเมื่อรัฐบาลไม่สั่งการ ข้าราชการจึงไม่ขยับ สิ่งที่จะพิสูจน์ให้ว่าไม่เป็นจริง ต้องลงมือทำทันที 

นอกจากนี้ ยังไม่มีการพร่องน้ำให้กระจายเพื่อลดความรุนแรงของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ที่ไม่เคยท่วมในลาดกระบังก็ท่วม ปี 54 +71 ซม. แต่ปีนี้ +84 ซม. ในทางกลับกันได้ทราบรายงานว่า ทางฝั่งประตูน้ำพระโขนงกลับยังแห้งอยู่ และขอให้การนำเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน 

ธีรรัตน์ เสริมว่า ตนได้มีโอกาสประสานงานไปทางกรมชลประทาน แต่ไม่มีการสั่งการ ทำให้ข้าราชการไม่กล้าขยับ หรือทำเกินขอบเขต และขอให้รัฐบาลจัดการในเรื่องเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่ประชาชนทุกข์ยาก และขอให้พิจารณาการประกาศในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติสามารถดำเนินการได้เร็วกว่านี้  

"ทางพรรคเพื่อไทยจึงขอเป็นตัวแทนจากประชาชน ส.ส. และส.ก. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมากที่สุดหากยังไม่รู้ ให้มาฟังสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอ และขณะนี้เพื่อไทยตั้งศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ประจำเขต หากตัวแทนแต่ละเขตสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ จะดำเนินการทันที โดยพี่น้องประชาชนสามารถติดต่อมาทางพรรคเพื่อไทย หรือพรรคเพื่อไทยประจำเขตเพื่อให้ดำเนินการแจ้งปัญหาได้ และยินดีเป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว" ธีรรัตน์ กล่าว