ไม่พบผลการค้นหา
‘เป็นธรรม’ ชื่นมื่น รับ ‘ปดิพัทธ์’ สมาชิกใหม่ ยันทำหน้าที่รองประธานสภาฯ โปร่งใส ไม่เข้าข้างใคร รับแรงเสียดทานยังมี แต่บรรยากาศดีขึ้น ปัดตอบลงพรรคใดเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไม่คิดระยะยาว ชี้เป็นบทเรียนการเมือง เห็นข้อดี-ข้อด้อย รธน. 60 ใช้เวลาพิสูจน์แก้ไขอย่างไร ‘กัณวีร์’ ย้ำไม่ใช่สาขา ‘ก้าวไกล’ เพียงเดินร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย

วันที่ 10 ต.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 แถลงเข้าเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรม ร่วมกับปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค

โดยปดิพัทธ์ กล่าวว่า หลังจากที่อดีตพรรคของตนได้มีมติให้ตนออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว ก็ได้หารือและกล่าวในวันนี้ให้ชัดเจนว่าตัดสินใจเข้าพรรคเป็นธรรม เพราะอุดมการณ์และแนวทางที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดกับตอนที่อยู่กับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล รู้ดีว่าการทำงานของตนจะต้องเผชิญกับความเสียดทานแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสภาให้โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันวาระก้าวหน้า หรือนโยบายที่ได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร 

ปดิพัทธ์ ย้ำว่า วันนี้ยังไม่มีการสมัครสมาชิกพรรค ในทางกฎหมาย ยังรอหนังสือยืนยันการพ้นสภาพ สส. ก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะมาในเร็วๆ นี้ และจะสมัครสมาชิกพรรคเป็นลำดับถัดไป วันนี้ไม่ได้ถือฤกษ์อะไร เป็นวันดี เพราะพรุ่งนี้ก็มีความชัดเจน จะทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีสังกัดพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริง

ขณะที่ปิติพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่มีนิมิตหมายอันดีของพรรคเป็นธรรม ที่เรามีความภูมิใจได้รับเกียรติอย่างสูงที่ได้ปดิพัทธ์มาร่วมงาน พรรคเป็นธรรมเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชัดเจน ได้แก่ ประชาธิปไตย ประเทศชาติ และประชาชนด้วยความเป็นธรรม ดังนั้น เมื่อทำงานร่วมกันตนก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า จากนี้เป็นต้นไป จะมีบริบทในการบริหารกิจการสภาเพิ่มมากขึ้น งานของฝ่ายค้านซึ่งเป็นอีกบริบทหนึ่ง

โดยผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้ความมั่นใจว่าอุดมการของพรรคจะไม่ขัดแย้งกับอุดมการของปดิพัทธ์หรือไม่ ปิติพงศ์ กล่าวว่า ตนยืนยันว่าจุดยืนของพรรคเป็นธรรม จะสนับสนุนการทำงานของปดิพัทธ์ในการทำงานสภา ซึ่งได้ทราบว่ามีหลายเรื่องที่ปดิพัทธ์อยากทำ จึงได้มีการเชื้อเชิญตนเข้ามาทำงานที่ปรึกษาก็จะมาทำงานที่สภามากขึ้น

กัณวีร์ สิบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการทำงานร่วมกันกับ ปดิพัทธ์ ในฐานะ สส.ใหม่ โดยระบุว่า เรื่องนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มี ปดิพัทธ์ มาร่วมพรรคเป็นธรรมของเรา การทำงานของเราชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่บิดเบี้ยว เราจะสร้างให้ทุกคนเห็นว่าต่อไปนี้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยจะสามารถปักหลักปักธงในประเทศไทยได้

เราจะได้เห็นปดิพัทธ์ทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จะไม่เห็นความขัดแย้งต่างๆ เพราะในตำแหน่งทั้งประธาน และรองประธานสภาฯ ต้องมีความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นธรรม การทำงานต่างๆ ต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทุกคนยืนยันจากการทำงานของปดิพัทธ์ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีอะไรมาขัดขวางการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยได้

“การทำงานจะเป็นรูปแบบพรรคร่วมฝ่ายค้านเชิงรุก ได้เห็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดิน จะไม่ค้านทุกอย่าง แต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารแผ่นดินมีมากขึ้น เป็นความมุ่งหวังที่อยากเห็นต่อไป” กัณวีร์ กล่าว

กรณีที่ถูกมองมาโดยตลอดว่าพรรคเป็นธรรมเป็นพรรคสาขาของพรรคก้าวไกล กัณวีร์ ยืนยันว่า ตนเป็นคนนอก ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับพรรคก้าวไกล เช่นการเดินหาเสียงช่วงเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลกับพรรคเป็นธรรมก็ต่อสู้กันในเชิงนโยบายมาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราชัดเจนว่าแม้เราร่วมอุดมการณ์กัน แต่ในการหาเสียง การทำงานทางการเมือง เรามีจุดยืนของพวกเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจนว่าเราไม่ใช่พรรคสาขาของพรรคก้าวไกล 

กัณวีร์ กล่าวต่อไปว่า เราทำงานเป็นตัวเลือกให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ดีที่สุด ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นคำถามนี้จึงไม่ควรจะมีออกมาจากสังคม แต่น่าจะเป็นการทำงานของพรรคร่วมอุดมการณ์ในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ประชาชนควรมั่นใจและภูมิใจในการทำงานของเรา

ด้าน ปิติพงศ์ ระบุเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก ปดิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ ระหว่างดำรงตำแหน่งอยู่ จะไม่มีการจัดสรรตำแหน่งภายในพรรคเป็นธรรม ทั้งกรรมการบริหารพรรค หรือตำแหน่งอื่นๆ ให้ ปดิพัทธ์ ซึ่ง ปดิพัทธ์ ได้ปวารณาตัวสนับสนุนการทำงานทางการเมืองของพรรคในฐานะสมาชิกพรรคเท่านั้น

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการย้ายพรรคครั้งนี้ ไม่มีเรื่องอามิสสินจ้าง ไม่มีระบบกล้วยเหมือนแต่ก่อน เป็นการย้ายพรรคด้วยอุดมการณ์ พรรคเป็นธรรมไม่ได้ตกปลาในบ่อของพรรคก้าวไกล 

“ดังนั้น คำถามที่ว่าจะเป็นสาขาพรรคหรือไม่ ขอยืนยันว่าเราไม่ได้เป็น เราอยู่หมู่บ้านประชาธิปไตยด้วยกัน มีบ้านคนละหลัง กินข้าวคนละชามด้วย ไม่ได้ชามเดียวกัน ชามผมอาจไม่อร่อยเหมือนพรรคก้าวไกล ก็ต้องว่ากันไป เราเป็นพรรคเกิดใหม่ แต่ก็คิดว่าไม่ถึงขนาดข้าวคลุกน้ำปลานะครับ” ปิติพงศ์ กล่าว

ด้าน ปดิพัทธ์ ยืนยันว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ให้เป็นกลาง เป็นไปไม่ได้ที่เมื่ออยู่พรรคอื่นแล้วจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นในสภา แนวทางการทำงานทั้งหมด ทั้งเรื่องการบรรจุกฎหมาย การพิจารณา ร่างการเงิน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะอำนวยการให้ทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน 

“แม้สัดส่วนของพรรคเป็นธรรมจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 คน ก็ไม่ได้ทำให้คุณกัณวีร์ได้อภิปรายเพิ่มขึ้น และผมจะไม่เข้าร่วมการประชุมพรรค หรืองานของวิปฝ่ายค้าน ผมจะทำงานร่วมกับประธานและรองประธานสภาฯ มากกว่า และอีกส่วนหนึ่งคือการทำงานเรื่อง ICT ร่วมกับรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นการทำงานลักษณะเดิมแม้ สังกัด สส. อยู่พรรคใดก็ตาม” ปดิพัทธ์ กล่าว

ปดิพัทธ์ ยอมรับว่า เวลานี้บรรยากาศดีขึ้น จากท่าทีของอดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล เพราะการจับจ้องทางการเมืองเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ และเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนย้ายเข้าพรรคเป็นธรรมแล้ว ฉะนั้น คิดว่าจะมีแรงเสียดทานเรื่อยๆ จากหลายเรื่อง เช่น การตรวจรับสภาฯ การจัดซื้อจัดจ้าง แรงเสียดทานจะไม่น้อยลง แต่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแน่นอน

เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่สร้างเงื่อนไขให้จำเป็นต้องย้ายพรรค เพราะกำหนดไว้ว่าพรรคที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่มี สส. รับตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ควรมีการปรับแก้เงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับแรกของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กรธ. เคยมีการเสนอให้ประธานสภาฯ 3 ท่าน มี 1 เก้าอี้ที่มาจากฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นบทเรียนทางการเมืองทั้งสิ้น ว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร

“ต้องเป็นหน้าที่ของกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสังคม ที่จะพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกันกับ สสร. ส่วนจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร คงจะตัดสินในตอนนี้ไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลาครบสมัย 4 ปี ในการพิสูจน์ว่า เรื่องนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร” ปดิพัทธ์ กล่าว

สำหรับการเลือกตั้งคราวหน้า ปดิพัทธ์ จะยังลงเลือกตั้งในนามพรรคเป็นธรรมต่อไปหรือไม่ ยังไม่มีการตัดสินใจในระยะยาว ตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะตนเองต้องสังกัดพรรคให้ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งเห็นว่าพรรคเป็นธรรมจริงใจที่สุด เปิดรับที่สุด และมีแนวทางใกล้เคียงกันที่สุด ยังเหลือเวลาอีกหลายปี ต้องค่อยๆ พิจารณาไปก่อน เป็นเอกสิทธิ์ของพรรคเป็นธรรม และของผมด้วย

“ตอนนี้ถ้าผมไปเดินตลาดที่ จ.พิษณุโลก คำทักทายไม่ใช่สวัสดี แต่เป็นคำว่า อย่าออก เพราะชาวพิษณุโลกเอง ต้องการให้คนพิษณุโลกดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ นี้มาก และสิ่งที่ผมทำจะขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ ได้รับเสียงตอบรับทั้งใน จ.พิษณุโลก ในสนามบิน มีคนเดินมาจับมือ แล้วบอกว่า อย่าออก อย่างเดียวเลย จึงคิดว่าแรงสนับสนุนมีแน่นอน และคำวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ก็มาจากฝั่งที่ไม่ต้องการเห็นผมอยู่ในตำแหน่งนี้” ปดิพัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย