สำหรับปี 2562 สถานการณ์สตาร์ทอัพไทย เหมือนเดินมาถึงจุดต้องขยับ คนทำสตาร์ทอัพในช่วงก่อร่างสร้างฐานที่พาธุรกิจฝ่าข้ามอุปสรรคนานา ในวันนี้ บางแห่งจากทีมงานเพียง 2-5 คน ขยายเป็น 30-50 คน บางรายยอดขายจากปีแรกๆ 2-5 ล้านบาท ขยับเป็น 10 -100 ล้านบาท
ความท้าทายของสตาร์ทอัพไทย อยู่ในจุดที่พิสูจน์ฝีมือผู้ประกอบการอยู่ตลอดเวลา ทุกจังหวะก้าว
'พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย' ผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ ฟินคอร์ป จำกัด ธุรกิจที่สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในฐานะตัวกลางของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ต้องการเสนอไอเดีย พัฒนาธุรกิจ กับนักลงทุน เล่าว่า หลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม 'Live' มาได้ครบปี พบว่า ผู้ร่วมลงทุน (VC:Venture Capital) ส่วนใหญ่ของขาด หมายถึง ไม่มีธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน หรือนักลงทุนรายใหญ่ (HNW :High Net Worth) พอเข้ามาสักพักก็จะมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ได้รับ
ขณะที่ ฝั่งผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ก็มักไม่เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนักลงทุน เช่น บางรายไม่เปิดเผยถึงเงินระดมทุนที่ได้รับ ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในเรื่องมูลค่าของธุรกิจ ที่จะนำไปสู่การประเมินผลตอบแทนของการลงทุน เป็นต้น
"สตาร์ทอัพหลายรายมีไอเดีย แต่ไม่มีแผนธุรกิจ ไม่รู้ว่าจะทำให้เกิดยอดขายอย่างไร ส่วนสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตแล้ว ก็ไม่ได้ต้องการแค่เพียงเงินทุน แต่ต้องการพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อช่วยกันยกระดับพัฒนาธุรกิจให้ขยายตัวและสร้างเครือข่ายได้" พงศ์ปิติ กล่าว
อีกทั้ง การระดมทุนของสตาร์ทอัพควรใช้เพื่อการขยายธุรกิจ แต่ไม่ควรติดกับการนำมาเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (operation cost)
ส่วนการนำแพลตฟอร์ม Live มาขยายบริการเป็น 'Virtual Pitching Platform' ก็เพื่อเป็นตัวกลางทำให้สตาร์ทอัพไทยเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงเป็นชุมชนของชาวสตาร์ทอัพ สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน
โดยในแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นทั้ง directory รวบรวมรายชื่อธุรกิจ, เป็นแหล่งโชว์เคส ให้เห็นตัวอย่างของธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้นักลงทุนได้ดูรูปแบบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะมีการอัพเดพข้อมูลทุกๆ 6 เดือน รวมถึงเป็นพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างเป็นชุมชนของกลุ่มธุรกิจ รวมถึงในอนาคตจะเป็น one stop service ให้บริการในที่เดียวครบจบ
"ตอนนี้ เราต้องการแสดงให้เห็นถึงแผนธุรกิจของสตาร์ทอัพรายต่างๆ ไม่ได้เน้นเรื่องแผนการลงทุน หรือ ขายหุ้น" พงศ์ปิติ กล่าว
ขณะที่ คนในแวดวงสตาร์ทอัพ สะท้อนภาพสตาร์ทอัพไทยในเวลานี้ว่า สตาร์ทอัพไทยนั้นได้รับเงินสนับสนุนด้านเงินทุนพอๆ กับหลายประเทศในโลก แต่ปัจจุบันสตาร์ทอัพไทยมีไอเดียเยอะมาก แต่เป็นการผลิตสินค้าผลิตบริการมากกว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องธุรกิจ
'พณชิต กิตติปัญญางาม' นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association บอกว่า ภาพใหญ่ของประเทศก็มีปัญหาในเรื่อง mindset (วิธีคิด) เกี่ยวกับธุรกิจประเภทนี้ และการอุดหนุนด้านเงินทุนแก่สตาร์ทอัพของหน่วยงานภาครัฐไทย ก็เป็นลักษณะการปกป้องความเสี่ยงของหน่วยงานมากกว่าจะเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง (risk management) ธุรกิจ
อีกเรื่องคือ การยอมรับความล้มเหลว เนื่องจากธุรกิจแบบนี้เป็นของที่ต้องลองผิดลองถูก ดังนั้น ถ้าหากกลัวการล้มเหลว ไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาด การสร้างนวัตกรรมย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น
"4-5 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า สตาร์ทอัพไทยมีทิศทางที่ดี แต่สปีดหรืออัตราเร่งการพัฒนายังช้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากวัฒนธรรม 'เพลย์เซฟ' แบบไทยๆ ด้วยที่ทำให้ไม่กล้าทำผิด กลัวการผิดพลาด จึงทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ยาก" พณชิต กล่าว
ส่วนในมุมของนักลงทุน 'พจน์ สุพรหมจักร' กรรมการ Thai Venture Capital Association หรือ TVCA บอกว่า เงินทุนจากภาครัฐในการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยนั้นมีจำนวนมากไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ แต่เท่าที่สังเกตคือ สตาร์ทอัพไทยที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานครอบครัวมีเงิน ไม่มีความเสี่ยงหรือความกังวล หากธุรกิจจะล้มเหลว
"ตอนแรก ใครๆ ก็สนใจและอยากโดดลงมาทำสตาร์ทอัพ แต่ตอนนี้ เหมือนเริ่มแผ่ว และนักลงทุนหลายรายก็เริ่มขยาดกับสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อย่างที่พูดๆ กันว่า มีแต่ไอเดีย แต่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน" พจน์ กล่าว
ส่วน 'ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ' ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ตลาด ดอท คอม กล่าวว่า ในเวลาที่สตาร์ทอัพเริ่มแผ่ว งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์คนเริ่มไปลดลงเมื่อเทียบกับปีแรก แต่สตาร์ทอัพไทยยังมีโอกาส จากกรณีที่บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการนวัตกรรมแก้ปัญหาหรือขยายธุรกิจ ธุรกิจเหล่านี้ยังมองหาสตาร์ทอัพเพื่อจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ด้านโรงแรม สุขภาพ เป็นต้น
อีกด้านหนึ่งคือ สตาร์ทอัพไทยต้องคิดถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็จะพบว่า สตาร์ทอัพที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะจำกัดตัวเองเพียงตลาดในประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศในระยะถัดไป 'ภาวุธ' กล่าวว่า รัฐบาลนี้ก็คือรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งก็น่าจะให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยต้องการมันมีมากกว่าเงินทุนสนับสนุน คือต้องการการทำงานร่วมกันไปตลอดทาง ช่วยการยกระดับและพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมายังขาดตรงนี้อยู่