นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าหรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ
โดยนายเรืองไกร ระบุถึงการที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำสั่งไม่รับคำร้องของนายเรืองไกร ที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าด้วยเรื่องการล้มล้างการปกครอง กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 กำหนดไว้ โดยศาลให้เหตุผลว่า การกระทำของ พลเอกประยุทธ์ ตามมาตรา 161 และมาตรา 162 ยุติไปแล้ว จากที่ศาลไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอีกคำร้อง จึงไม่รับคำร้องของนายเรืองไกรนั้น
นายเรืองไกร มองว่า หากเปรียบเทียบกับกรณีที่ใกล้เคียงกันคือ การร้องเรียนการกระทำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการและกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เช่นเดียวกัน ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ แต่กลับไม่รับเรื่องที่ตัวเองร้องนั้น มีเหตุอันควรสงสัยว่า เป็นการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานหรือไม่ จึงต้องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่
ทั้งนี้ นายเรืองไกร ยังตั้งข้อสังเกต ในเชิงกังวลว่า อาจจะมีการรับลูกกันระหว่างป.ป.ช.กับศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้เดินทางมายื่นเรื่องในวันนี้ เพราะจากการสอบถามเรื่องที่ตัวเองเคยยื่น ป.ป.ช.เอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ฯ ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ยังอยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. แจ้งว่ามีการนำเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับวินิจฉัยกรณีถวายสัตย์ของนายกรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งอาจนำสู่การปัดตกเรื่องนี้ จากการเร่งด่วนสรุปของอนุกรรมการใน ป.ป.ช.ได้