วันที่ 24 ก.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วย จิราพร สินธุไพร กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. จ.ร้อยเอ็ด และ พชร นริพทะพันธุ์ กรรมการบริหารพรรคและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรค ร่วมกันแถลงข่าวประจำวันอังคาร เรื่อง '8 ปี แห่งความเสื่อมถอย : เพื่อไทยเพื่ออนาคตที่สดใสของประเทศ'
พิชัย กล่าวแสดงความยินดีกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งชนะอย่างแลนด์สไลด์ตามผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งคาดได้ว่าจะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน เนื่องจากประชาชนได้แสดงออกชัดแล้วว่าไม่ต้องการเห็นผู้เกี่ยวข้องกับเผด็จการสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจของประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก่อหนี้ครัวเรือนทะลุเพดาน บีบบังคับให้ประชาชนต้องกู้หนี้นอกระบบ รับภาระโดยที่รัฐบาลไม่มีการเยียวยา เช่นเดียวกับปัญหาคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 5 ปี
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ พิชัย ระบุว่า ปัญหาสังคมก็สร้างผลกระทบทำให้ประชาชนเกิดความหมดหวัง ด้านการเมืองไทยเองก็ย้อนกลับไปสู่ยุค 30 ปีก่อน ขาดเสถียรภาพ พบข่าวคราวการแจกกล้วยอยู่เสมอ ตลอดเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา ประเทศถดถอยในหลายด้าน เพียงเพื่อต้องการรักษาอำนาจของผู้นำเพียงคนเดียว
“สิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องการเห็น คือไม่อยากให้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่ต้องการเห็นพวกมากลากไป แล้วประเทศเสื่อมถอย เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรจะอยู่ 8 ปี นั่นคือสิ่งที่รัฐธรรมนูญต้องการเห็น เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อย่าถ่วงเวลาเลย เพราะยิ่งถ่วงเวลา ประเทศยิ่งเสื่อมถอย” พิชัย กล่าว
ด้าน จิราพร ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รัฐประหารไม่ใช่ทางออกของประเทศ กลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในช่วงชีวิตของตนพบการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าทำเพื่อความสงบสุขของคนในประเทศ แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาก็กลับทำลายนโยบายดีๆ ของรัฐบาลพลเรือน เว้นแต่นโยบาย 30 รักษาทุกโรค ที่ไม่อาจทำลายได้ เนื้องจากประชาชนส่วนใหญ่คัดค้าน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเคลมนโยบายดังกล่าวว่าเป็นผลงานของตนในการประชุมสหประชาชาติ
จิราพร ยังมองว่า รัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะล้มเหลวในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในรอบ 20 ปี ตนมีความเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการประชุมให้ราบรื่น ปล่อยให้เวทีเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจในประเด็นการเมือง จนประเทศสมาชิก 21 ประเทศไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันด้านเศรษฐกิจการค้าตามธรรมเนียมปฏิบัติได้ สะท้อนให้เห็นสภาวะความเป็นผู้นำที่ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น และเห็นแนวโน้มว่าไม่สามารถดำเนินการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจได้แน่นอน
"พล.อ.ประยุทธ์ ควรเลิกพยายามกระเสือกกระสนที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเพื่อให้ได้นั่งเป็นประธานเอเปค หวังจะกอบกู้ภาพลักษณ์ของตัวเองคืน แต่ถ้ารู้ว่ามือไม่ถึง ก็ควรจะสละอำนาจ และให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ ที่สำคัญดิฉันขอเรียกร้องให้คณะทหารเลิกยุ่งการเมือง ขอให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหาร และสืบทอดอำนาจ รวมถึงกลุ่มแนวร่วมที่เคยสนับสนุนให้ยุติการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาประเทศโดยการรัฐประหาร และสนับสนุนให้ประเทศกลับสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตยซึ่งจะเป็นทางออกของวิกฤตของประเทศได้ดีที่สุด" จิราพร กล่าว
พชร ได้กล่าวถึงผลการศึกษานโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ของรัฐบาล พบว่าประสบปัญหาในการออกแบบและดำเนินนโยบายอย่างผิดพลาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไม่เติบโต ปล่อยปละละเลยให้มีการควบรวมกิจการ โดยรัฐบาลไม่แสดลจุดยืนอย่างชัดเจน รวมถึงการใช้งบประมาณออกแอปพลิเคชันมาเป็นจำนวนมาก เช่น หมอชนะ ไทยชนะ และอื่นๆ แต่รัฐบาลดำเนินการขาดมาตรฐาน ส่งผลให้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนรั่วไหลเป็นจำนวนมาก
ในส่วนนโยบายด้านความมั่นคงทางดิจิทัล พชร กล่าวว่า รัฐบาลทุ่มงบไปกับกองทัพและการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ถึง แต่ไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อความมั่นคงทางดิจิทัลไว้ต่างหากเลย ความไร้นโยบายที่ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้กล่าวได้ว่า การพัฒนาทางดิจิทัลของรัฐบาล แพ้การพัฒนาด้านอาชญากรรมทางดิจิทัลของไทยอย่างเด่นชัด ขณะที่การแก้ไขโครงสร้างด้านพลังงาน การลงทุนด้านธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน และพลังงานสะอาดจึงขาดความคืบหน้า ไม่ได้พัฒนามากขึ้นจากสมัยของ ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
"เศรษฐกิจ 4.0 มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต แต่สถานการณ์ขณะนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถพัฒนาได้เลยเพราะรัฐบาลไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจโลก ไม่มีทีมงานที่มีความรู้ประสบการณ์ ที่สำคัญไม่มีความสามารถแยกแยะการจัดแผนนโยบายกับระบบราชการได้ เป็นเหตุผลที่สรุปได้ว่า 8 ปี ที่ผ่านมานั้นสูญเปล่าทั้งสิ้น" พชร กล่าว