ไม่พบผลการค้นหา
'วราวุธ' พา ส.ส. 'ชาติไทยพัฒนา' รายงานตัวยกพรรค ไม่แสดงความเห็น 'ปดิพัทธ์' เหมาะสมประธานสภาฯ หรือไม่ ส่วนความเห็น ส.ว. มอง 14 ล้านเสียงเป็นส่วนน้อย อาจมองเหรียญคนละด้านกัน

วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา วราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีการเดินทางมารายงานตัววันนี้ ว่า เป็นฤกษ์ดี เพราะ ส.ส.ของพรรคอยู่ครบ 10 คน จึงเดินทางมาพร้อมเพรียงกัน อีกทั้งวันนี้เป็นวันอธิบดีจึงถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย 

ส่วนการเลือกประธานสภาฯ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีใครชิงตำแหน่ง ซึ่งช่วงเช้าวันที่ 4 ก.ค. จะมีการประชุมพรรคกันที่สภาฯ เพื่อหารือแนวทางว่าจะมีการลงมติอย่างไร สำหรับพรรคก้าวไกลที่เปิดตัว ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ นั้น ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลก็คงพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เป็นสิทธิของพรรคที่จะเสนอรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนาจึงไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรเพื่อพิจารณาบุคคลที่จะมาเป็นประธานสภา วราวุธ กล่าวว่า ตอนนี้ตนรู้เพียงแค่ชื่อแคนดิเดตประธานสภาของพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคอื่นยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องรอดูต่อไป 

ส่วนความขัดแย้งเรื่องประธานสภาฯ ของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จะเป็นเหตุให้เกิดชนวนการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนคงตอบไม่ได้ เพราะพรรคชาติไทยพัฒนามี ส.ส.เพียง 10 คน นั่งรถตู้คันเดียวก็หมดแล้ว จึงต้องรอความชัดเจนจากพรรคการเมืองใหญ่ๆ ว่ามีแนวทางเป็นอย่างไร ต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน

เมื่อถามว่า ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนาจะต้องมีแนวทางเดียวกันในการโหวตประธานสภาหรือไม่ วราวุธ กล่าวว่าไม่ใช่ต้องมีแนวทางเดียวกัน เป็นเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจ แต่เชื่อว่า เราทำงานด้วยกันมานานแค่มองตาก็รู้ใจ 

เมื่อถามว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จะส่งผลต่อการประชุมสภาในวันที่ 4 ก.ค.นี้หรือไม่ วราวุธ กล่าวว่า คงเป็นความท้าทายของประธานสภาชั่วคราวคือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ส่วนตัวเชื่อว่า ท่านเป็นนักการเมืองที่อยู่ในวงการมานาน จึงน่าจะมีวุฒิภาวะ ความรู้ และได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย น่าจะพาการประชุมสภาฯ ผ่านไปด้วยดี 

เมื่อถามว่า ก่อนการเลือกประธานสภาฯ จะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมหรือไม่ วราวุธ กล่าวว่า ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง เพราะวันนี้ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจน ส่วนที่มีการมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อนั้น ตนมองว่าไม่ได้ยืดเยื้อจนเกินไป เพราะใช้เวลาเพียงแค่ 30 วัน แต่หลังจากนี้จะ มีอะไรทำให้การเมืองสะดุดนั้น คิดว่าคงไม่มี หากเลือกประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการพลิกขั้วรัฐบาล จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรงขึ้น และเกิดการชุมนุมหรือไม่นั้น ตนคงตอบแทนใครไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความไม่แน่นอน การพูดคุยกันของแต่ละพรรคก็เป็นสิทธิในการทำงาน จึงเชื่อว่าไม่น่ามีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะแต่ละพรรคคงเข้าใจสถานการณ์ดี และคงประคับประคองไปได้ยังราบรื่น 

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่ ส.ว.มองว่า 14 ล้านเสียงไม่ใช่เสียงข้างมาก วราวุธ กล่าวว่า 14 ล้านเสียงเป็นเสียงที่มาก และเป็นเสียงที่เยอะที่สุด แต่ด้วยประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 66 ล้านคนและมีผู้ลงเสียงเลือกตั้งจำนวน 50 กว่าล้านคน เป็นความคิดของแต่ละคน 

"เหรียญมีสองด้านเสมอ จะมองจากด้านใดก็ถูกต้อง แล้วแต่ว่าเราจะมองจากข้างใด ทางพรรคก้าวไกลอาจจะมองว่าตนเองได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ทาง ส.ว.ก็มองเหรียญอีกด้านหนึ่งเช่นกัน แม้จะเหรียญเดียวกัน แต่แนวทางไม่เหมือนกัน ดังนั้นพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมจะน้อมรับในความคิดต่างๆ" วราวุธ กล่าว

เมื่อถามว่าทาง ส.ว. ได้มีการไปเร่งรัดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งตรวจสอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เหมาะสมหรือไม่ วราวุธ กล่าวว่า แต่ละท่านมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป แต่เวลาเราออกกฎหมาย จากทางสภาผู้แทนราษฎร ก็จะต้องผ่านการพิจารณาของ ส.ว. ดังนั้นอาจจะเป็นมุมมองในการตรวจสอบ หากเกิดความคลางแคลงใจ ก็เป็นเอกสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ เป็นการเริ่มปฏิบัติเองส่วนเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่นั้นตนมองว่า ที่ผ่านมาก็มีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทำให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะได้รับการตรวจสอบแบบกล้องจุลทรรศน์จากสาธารณชน