ไม่พบผลการค้นหา
'ภูมิใจไทย' จัดเต็ม นโยบาย อสม. ดันค่าตอบแทน 2,000 บาท - กองทุนเงินออม ให้ยืม 100,000 บาท - ตั้งสถาบัน อสม. เพิ่มสิทธิประโยชน์อื้อ

17 เม.ย. 2566 ที่พรรคภูมิใจไทย กรุงเทพฯ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เรวดี รัศมิทัต ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และจำรัส คำรอด ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) พรรคภูมิใจไทย ร่วมกันแถลงข่าว นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิต อสม. ในศึกเลือกตั้ง 2566 .

อนุทิน กล่าวว่า ตนและพรรคภูมิใจไทย ได้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงานของพี่น้อง อสม. มาโดยตลอด เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำความรู้จัก อสม.ครั้งแรก เมื่อครั้งลงพื้นที่ต่างจังหวัด นับจากนั้น จึงเข้าใจบทบาทการทำงานของท่าน ว่าเป็นรากฐานของระบบสุขภาพไทย เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความตั้งใจ จะดูแลท่าน ให้เหมาะสมกับที่ท่านดูแลประชาชน ในช่วงโควิด 19 อสม. ทำงานเสี่ยง ทำงานหนัก เราผลักดันค่าตอบแทนรายเดือนเพิ่มขึ้น แต่นับจากนี้ อสม. จะต้องมีความมั่นคงในชีวิต เราจึงได้ผลักดันค่าตอบแทน อสม.เป็น 2,000 บาทต่อเดือน และต้องเป็นถาวร ขณะนี้ เรื่องอยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2567 แล้ว หากภูมิใจไทย ได้กลับไปทำงาน เราผลักดันสุดแรงแน่นอน นอกจากนั้น เรายังเดินหน้าโครงการ ให้ อสม. และ บุตร อสม. ได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้ช่วยพยาบาลกับสถาบันพระบรมราชชนก พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพให้พี่น้อง อสม. เป็นหมอคนที่ 1 ในโครงการ 3 หมอ เรา เห็นว่าพี่น้อง อสม. ทำงานด้วยจิตใจอันสูงส่ง เสียสละ อุทิศแรงกาย แรงใจ ในการทำงาน เพื่อสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนคนไทย ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย มีนโยบาย สำหรับพี่น้อง อสม.ประกอบไปด้วย

1.เสนอกฎหมายจัดตั้ง "สถาบันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน" โดยใช้งบประมาณจากภาษีบาป

2.เพิ่มค่าตอบแทน อสม. และ อสส. 2,000 บาท 

3.เจ็บป่วยมีประกัน ชดเชยรายได้ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

4.เจ็บป่วยมีห้องพิเศษฟรี ค่าอาหารฟรี ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้บัตรสมาร์ตการ์ด อสม. และ อสส. ยื่นใช้สิทธิ์

5.เงิน "ฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.แห่งประเทศไทย" เสียชีวิตได้ 500,000 บาท 

6.เงินยืม อสม. และอสส. คนละ 100,000.- (ปลอดดอกเบี้ย) ผ่านกองทุนเงินออม อสม. และ อสส. และ 

7.จัดตั้ง กองทุนเงินออม อสม. และ อสส. เงินทุนมาจาก อสม. ส่งเงินเข้ากองทุน 100 บาทต่อเดือน รัฐบาล ส่งเงินเข้ากองทุน 100 บาทต่อเดือน

“ผมไม่ได้มาแจกเงินท่าน เพราะผมคำนึงถึงเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของท่าน ในฐานะอาสาสมัคร แต่เราก็ต้องการให้ท่านดำเนินชีวิต บนพื้นฐานของความมั่นคง ส่วนตัว ผมเอง ก็เป็น อสม. เป็นอาสาสมัคร ผมขับเครื่องบิน ช่วยพาทีมแพทย์ไปผ่าตัดอวัยวะ ส่วนท่านคือรากฐานของระบบสาธารณสุขไทย ท่านทำมากกว่าผม แต่เราเข้าใจกันแล้ว ที่สุดแล้ว ขอขอบคุณกับการทุ่มเททำงานหนักของท่าน เราตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่ตลอด” 

ด้านจำรัส ให้รายละเอียดว่า หลักเกณฑ์ และวิธีการ โดยการหักเงินจากสมาชิกเดือนละ 100 บาท นำเข้ากองทุนเช่น อสม. จำนวน 1,000,000 คน หักเดือนละ 100 บาท เท่ากับเดือนละ 100,000,000 บาท ปีละ 1,200,000,000 บาท, วงเงินที่ให้สมาชิกกู้ รายละ 100,000 บาท โดยการผ่อนชำระเดือนละ 500 บาท ให้ทายาทที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ของ ฌกส.อสม.แห่งประเทศไทย เป็นผู้ค้ำประกัน, สมาชิกที่จะกู้ยืมต้องออมเงินเข้ากองทุนอย่างน้อย 1 ปี จึงจะมีสิทธิ์กู้ยืมได้ตามสิทธิ์, การพิจารณาวงเงินกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยการพิจารณาจากอายุการเป็นอสม. เช่น เป็นอสม. 30 ปี 20 ปี 10 ปี และคะแนนสะสมผลงานความดีของ อสม. เป็นหลักในการพิจารณา

ขณะที่ เรวดี กล่าวว่า เพื่อให้อสม. และอสส. ที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมากมีองค์กรที่มีความเข้มแข็ง และสามารถทำงานได้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยที่ผ่านมาในองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพ ประชาชนโดยทั่วไปแล้วมักจะใช้กลไกของ อสม. และอสส. เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ จึงเห็นสมควรยกระดับให้เป็น “สถาบัน อสม. แห่งประเทศไทย”