ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์ เผยโรคพาร์กินสันมักเกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด จึงได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างเข้าใจ สามารถใช้ชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกลุ่มเซลล์ประสาทที่ผลิตสารโดปามีน ควบคุมการเคลื่อนไหว มักเกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการไม่มากนัก เช่น ปลายนิ้วสั่น พูดเสียงเบาลง เดินไม่แกว่งแขน หรือทำอะไรช้าลง แต่ภายหลังอาการจะเด่นชัดเจนขึ้น คือ มีอาการสั่นบริเวณมือ แขน หรือขา คิดช้า พูดช้า เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อเกร็งที่แขน ขาหรือคอ เสียการทรงตัว เดินซอยเท้า ควบคุมการเดินไม่ได้ เป็นต้น

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองไม่สามารถสร้างสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสั่งการของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหว พบว่ามีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเสื่อมของสมอง เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีบางชนิด 

แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการรักษาโรคพาร์กินสันปัจจุบันมี 2 วิธีหลัก คือ 1.การรักษาด้วยยา โดยใช้ยาที่เพิ่มสารตั้งต้นโดปามีนหรือทดแทนโดปามีน ซึ่งยามีฤทธิ์ช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสันได้ดี 2.การรักษาด้วยการผ่าตัด 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันนอกจากอาการเคลื่อนไหวผิดปกติแล้วยังมีกลุ่มอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวอีก เช่น ซึมเศร้า ประสาทหลอน กลืนอาหารลำบาก สำลักง่าย ท้องผูก หน้ามืดเวลาลุกยืน จึงควรปฏิบัติตัวเบื้องต้น ดังนี้

  • รับประทานอาหารจำพวกที่มีกากใยเพื่อช่วยลดอาการท้องผูก
  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ลดเกร็งและปรับการทรงตัวให้ดีขึ้น เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ รำไทเก็ก หรือเต้นแอโรบิก ฝึกเดิน ฝึกพูด
  • ปรับบริเวณทางเดินหรือในห้องน้ำควรมีราวเกาะ และไม่วางของเกะกะทางเดิน ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ถอดใส่ง่าย เช่น กางเกง เอวยางยืด เป็นต้น