ไม่พบผลการค้นหา
ไหนๆ ก็จะได้เลือกตั้งอีกหน จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะงานด้านนิติบัญญัติที่ไม่ค่อยมีใครรวบรวมไว้นัก

'ไอลอว์' ทำคู่มือเลือกตั้งแจกประชาชน ภายในคู่มือดังกล่าวมีตอนหนึ่งที่รวบรวมผลงานด้านกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์โดยเฉพาะ โดยรวบรวมกฎหมายที่ "นายกฯ ปัดตก" 

ถามว่า นายกฯ จะมาปัดตกกฎหมายไม่ให้เข้าสภาได้อย่างไร คำตอบคือ ทำได้เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า ด้วยเหตุที่นายกฯ ต้องรู้สถานะการเงินการคลังของประเทศ จึงกำหนดให้ร่างกฎหมายใดที่ "จะส่งผลต่อสถานะการเงินการคลังของรัฐ" ไม่ว่าจะเสนอโดย ส.ส. หรือประชาชนเข้าชื่อกันก็ตาม จะต้องผ่าน "คำรับรอง" ของนายกฯ ก่อน จึงจะเข้าสภาได้ 

ดังนั้น หากนายกฯ ไม่รับรอง ร่างกฎหมาย (ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน) ดังกล่าวก็ไม่มีโอกาสให้ผู้แทนราษฎรได้พิจารณา เรียกว่า 'แท้งแต่ต้น' ยังไม่ทันได้ถกเถียงกันทั้งในสภาและในสังคม 

ปัดตกร่างกฎหมาย 38 ฉบับ

ไอลอว์รวมรวมข้อมูลว่า ตลอด 4 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ปัดตกร่างกฎหมายไปอย่างน้อย 38 ฉบับ "เกินครึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน"

รายละเอียดมีดังนี้ 

16 ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เช่น

  • ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด 
  • ร่างพ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน 
  • ร่างพ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์ยางพารา
  • ร่างพ.ร.บ.การแบ่งปันผลประโยชน์มันสำปะหลัง

15 ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เช่น

  • ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ
  • ร่างพ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุ 3 ฉบับ
  • ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร 

7 ฉบับที่เสนอโดยประชาชน เช่น 

  • ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
  • ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด 
  • ร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ 

ดาวน์โหลดคู่มือเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ https://ilaw.or.th/.../files/Election_Guidebook_Online.pdf