วันที่ 22 กันยายน 2565 จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดสิ่งที่กระทำได้หรือไม่ได้ ในช่วง 180 วันก่อนครบอายุสภา พร้อมกับที่ได้ประกาศกำหนดการจัดการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นราวเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ว่า 180 วันก่อนครบอายุสภา ห้ามใคร ไม่ห้ามใคร อย่าให้เลวร้ายเหมือนเลือกตั้งปี 62 ที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อง 180 วัน ก่อนหมดอายุสภา คนที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.กับพรรคการเมืองและรัฐบาลทำอะไรได้แค่ไหน ความจริงก็มีประเด็นที่ควรจะทำให้เกิดความถูกต้องชัดเจน
ว่าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทำอะไรได้แค่ไหนนั้น มีเรื่องที่กกต.อาจทำให้เป็นปัญหาอยู่ 2 ส่วนคือ 1.การห้ามทำกิจกรรมทางสังคมหรือศาสนาจนเกินสมควร ทำให้ผู้ที่เป็นว่าที่ผู้สมัครไม่เป็นผู้เป็นคน เป็นตัวประหลาดในสังคม เช่น มีงานศพจะส่งหรีดก็ไม่ได้ ช่วยงานหรือร่วมทำบุญก็ไม่ได้ มีงานบุญจะทำบุญก็ไม่ได้ กลายเป็นซื้อเสียงไปเสีย
การห้ามในสิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายประเพณีที่ดีทางสังคม ขัดขวางการทำกิจกรรมทางศาสนาที่จริงๆแล้วรัฐไม่ควรก้าวล่วง ความจริงจะกำหนดวงเงินไม่ให้เกินความเหมาะสมไว้ก็ได้ แต่ที่ผ่านมากกต.ก็มักจะตีความในทางสุดโต่งไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณีและสิทธิเสรีภาพที่รวมทั้งการทำกิจกรรมทางศาสนา
ผู้สมัคร ส.ส.บางคนถูกจับแพ้ฟาวล์เพราะใส่ซองทำบุญ 2,000 บาท จนไม่ได้เป็นส.ส.ไปหนึ่งสมัยทั้งๆที่ต่อมาศาลตัดสินว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรเลยก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
เลวร้ายกว่านั้นก็คือการดูถูกประชาชนคนไทยว่าคิดอะไรไม่เป็น ได้เงินใส่ซองช่วยงานบวชงานศพก็ต้องเลือกคนนั้นแล้ว
ในส่วนของพรรคการเมือง ที่จะเป็นปัญหามากคือการไปจำกัดขัดขวางกิจกรรมที่ไม่ใช่เป็นการหาเสียง แต่เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและต่อการพัฒนาระบบพรรคการเมือง เช่น กิจการที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญหรือสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น รายจ่ายสำหรับกิจกรรมในเรื่องเหล่านี้ไม่ควรนับเป็นกิจกรรมหาเสียง แต่ถ้า กกต.นำมาคิด ก็จะทำให้พรรคการเมืองต้องงดกิจกรรมเหล่านี้เพื่อเหลือวงเงินไว้ใช้ในการหาเสียง
สำหรับรัฐบาลนั้น ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือจะบังคับให้รัฐบาลเริ่มปฏิบัติตนเหมือนเป็นรัฐบาลรักษาการตั้งแต่เมื่อไหร่ ปรกติเมื่อยุบสภาแล้วก็ควรห้ามรัฐบาลอนุมัติงบประมาณและแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากกกต. ซึ่งจะเป็นเวลาไล่เลี่ยกับการห้ามว่าที่ผู้สมัครสส.หาเสียงด้วยวิธีต่างๆหลังจากประกาศราชกิจานุเบกษากำหนดวันเลือกตั้งแล้ว แต่พอห้ามว่าที่ผู้สมัครหาเสียงล่วงหน้าถึง 180 วัน แต่ไม่ห้ามรัฐบาลใช้งบประมาณและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ตามใจชอบก็กลายเป็นความลักลั่น ได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ลูกน้องบริวารของพลเอกประยุทธ์ได้เขียนรัฐธรรมนูญไว้ ให้ยกเว้นหลักการการเป็นรัฐบาลรักษาการของพลเอกประยุทธ์ ทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและอนุมัติและใช้งบประมาณได้อย่างไม่จำกัด ไม่เหมือนที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ทำให้พลเอกประยุทธ์กับพวกใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านหาเสียงได้อย่างสบาย เช่น การจ่ายเงินในโครงการที่มีชื่อพ้องกันกับพรรคการเมือง และสนับสนุนให้นักการเมืองในพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์สามารถอวดอ้างหาเสียงจาการใช้งบประมาณของรัฐบาลอย่างโจ่งแจ้งด้วย
ที่ถกเถียงกันอยู่จึงมีประเด็นที่ต้องทำให้ถูกต้อง อย่าให้เกิดปัญหามากอย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอีกเลยครับ