ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 19 พ.ย. 2565 ประชาชนชาวมาเลเซียได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของประเทศ ซึ่งจะเป็นการตัดสินว่าใครจะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป อย่างไรก็ตาม เวลาได้ผ่านไปกว่า 5 วันแล้ว และในขณะนี้ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด ท่ามกลางความวุ่นวายของการเจรจาที่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงทิศทางได้ตลอดเวลา
ปัจจุบันนี้การเจรจาระหว่างพรรคต่างๆ ของมาเลเซียมีความคืบหน้าแค่ไหน?

อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าของมาเลเซีย ซึ่งมาจากพรรคอัมโน ได้ยุบสภา และจัดการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 พ.ย.) ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนดการเพื่อกระชับอำนาจของพรรคหลังถูกสมาชิกในพรรคกดดัน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศมาเลเซียที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สภาแขวน” หรือปรากฏการณ์ที่ไม่มีพรรค หรือแนวร่วมพรรคใดที่สามารถชนะเสียงข้างมากในรัฐสภาพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เลย

พรรคปากาตัน ฮาราปัน (PH) ซึ่งนำโดย อันวาร์ อิบราฮิม ชนะที่นั่งในสภาไปทั้งหมด 82 ที่นั่ง ทำให้พรรคของเขาจำเป็นต้องหาที่นั่งเพิ่มอีก 30 ที่นั่งจากแนวร่วม เพื่อให้ถึงระดับขั้นต่ำของการครองเสียงข้างมากในรัฐสภาที่ 112 ที่นั่ง ในขณะที่แนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คือ กลุ่มเปอริกาตัน เนชันแนล (PN) ซึ่งนำโดย มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับที่นั่งไป 73 ที่นั่ง ส่วนแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล (BN) ซึ่งถูกครอบงำโดยพรรคอัมโน ได้ที่นั่งมากเป็นลำดับที่ 3 ด้วยจำนวน 30 ที่นั่ง

ในขณะที่ตัวแปรที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ พรรคที่มีฐานเสียงอยู่บนเกาะบอร์เนียวในภูมิภาคมาเลเซียตะวันออก 2 พรรค ได้แก่พรรคกาบังกัน ปาร์ตี ซาราวัค และ กาบังกัน ปาร์ติ รัคยาต ซึ่งได้รับที่นั่งในรัฐสภาไปพรรคละ 23 ที่นั่ง และ 6 ที่นั่ง ตามลำดับ 

ทั้งนี้ อันวาร์ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 พ.ย.) ว่าพรรคปากาตัน ฮาราปันของเขาหาแนวร่วมมากพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันนั้น มีข่าวเผยแพร่ออกมาว่ามูห์ยิดดินกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ อาบัง โจฮารี โอเปง จากพรรคกาบังกัน ปาร์ตี ซาราวัค ในภายหลัง อาบัง โจฮารีได้แถลงการณ์และระบุว่า พรรคการเมืองต่างๆ บนเกาะบอร์เนียว รวมถึงแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล พร้อมที่จะหนุนหลังมูห์ยิดดิน

อย่างไรก็ตาม แนวร่วมบาริซาน เนชันแนล ออกมาปฏิเสธการตัดสินใจดังกล่าว ในทางกลับกัน มีข่าวออกมาว่าแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าร่วมกับพรรคปากาตัน ฮาราปันของอันวาร์แทน หลังมีภาพข่าวที่เผยแพร่ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 พ.ย.) ว่าผู้นำของพรรคปากาตัน ฮาราปัน และบาริซาน เนชันแนลกำลังจับมือกันในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งภายหลัง อันวาร์ออกมากล่าวว่า เขาพึงพอใจกับแนวทางของการเจรจาครั้งนั้นเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ท่ามกลางการย้ายฝั่งทางการเมือง เมื่อกลับมามองที่พรรคบนเกาะบอร์เนียวอีกครั้ง อาบัง โจฮารีซึ่งแต่เดิมหนุนหลังมูห์ยิดดินและกลุ่มเปอริกาตัน เนชันแนล ได้กลับคำพูดของตน และกล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันวุ่นวายมาก และพรรคของเขายังคงอยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะเข้าร่วมกับพรรคใดอยู่ ในขณะที่พรรควาริซาน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งบนเกาะบอร์เนียวกล่าวว่า พร้อมจะหนุนหลังแนวร่วมพรรคปากาตัน ฮาราปัน และบาริซาน เนชันแนล

สถานการณ์กลับมาพลิกผันอีกครั้ง เมื่อในวันอังคารที่ผ่านมา (22 พ.ย.) อิสมาอิล ซาบรี ได้ออกมาทวีตข้อความว่า บาริซาน เนชันแนลจะไม่เข้าร่วมกับแนวร่วมพรรคใดๆ และจะทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านแทน 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ณ เวลาตีหนึ่งของวันที่ 24 พ.ย. พรรคอัมโนซึ่งนำแนวร่วมบาริซาน เนชันแนลได้กลับคำพูดของตนอีกครั้ง และออกมากล่าวว่า พรรคของตนพร้อมจะสนับสนุนพรรคปากาตัน ฮาราปัน และสนับสนุนอันวาร์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยจะไม่สนับสนุนกลุ่มเปอริกาตัน เนชันแนลของมูห์ยิดดิน

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองนี้ พรรคและแนวร่วมพรรคต่างๆ ยังคงทำการเจรจาเพื่อหาแนวร่วมเพิ่มเติมให้ตนเองต่อไป ในขณะที่แรงกดดันกำลังตกอยู่ที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์ ที่ต้องตัดสินใจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ

ทำไมกษัตริย์ของมาเลเซียจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ประเทศมาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคดังกล่าวมักจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบบดังกล่าวเป็นระบบเดียวกันกับไทยและอังกฤษ

ในขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียมีประมุขของประเทศเป็นพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง ซึ่งผู้ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนี้มีที่มาจากการเวียนกันของสุลต่านจาก 9 รัฐของมาเลเซีย โดยกษัตริย์ของมาเลเซียจะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเป็นวาระ วาระละ 5 ปี เมื่อพ้น 5 ปี หรือมีการสละราชสมบัติ สุลต่านจากรัฐต่อไปตามลำดับก็จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์แทน

ทั้งนี้ บทบาทของกษัตริย์มาเลเซียจะเป็นการให้คำแนะนำต่อฝ่ายการเมืองเสียส่วนมาก ในขณะที่หน้าที่การบริหารเป็นของรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญของมาเลเซียก็ระบุไว้ว่า กษัตริย์มีหน้าที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่พระองค์เชื่อว่าสามารถได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภาได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “สภาแขวน” ซึ่งมีความไม่ชัดเจนว่าพรรคใดกันแน่ที่ถือครองเสียงข้างมาก และสามารถคุมเสียงในรัฐสภาได้ ความกดดันจึงตกอยู่ที่กษัตริย์ในการตัดสินใจโดยปริยาย

ทำไมนักการเมืองอาวุโสอย่างมหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนี้?

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ก่อตั้งพรรคเปจวงขึ้นในปี 2563 หลังการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน เปจวนเป็นพรรคชาตินิยมมาเลย์ ที่มีจุดยืนในการต่อต้านรัฐบาลแนวร่วมพรรคเปอริกาตัน เนชันแนล และบาริซาน เนชันแนล ซึ่งในขณะนั้นมีผู้นำคือ มูห์ยิดดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเหตุผลที่เขาต้องการจะโค่นล้มแนวร่วมทั้งสอง มาจากการที่เขาเชื่อและกล่าวหาว่าบาริซาน เนชันแนลได้กระทำการทุจริตคอรัปชัน ในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปีนี้ มหาเธร์วางตำแหน่งของพรรคเปจวนไว้ว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่ 3 แนวร่วมหลักที่แข่งขันกันในการเลือกตั้ง

“คำมั่นสัญญาที่พรรคเปจวงให้ได้ คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ปราศจากการทุจริตและการยักยอกงบประมาณของรัฐออกไปใช้” มหาเธร์กล่าวก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน “เลือกพรรคเปจวงหากคุณต้องการปกป้องประเทศนี้ออกจากการตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวายและหายนะ”

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พรรคเปจวงของมหาเธร์ไม่สามารถชนะที่นั่งใดในจำนวน 125 ที่นั่งที่มีการท้าชิงได้เลย ในขณะที่ตัวมหาเธร์เองแพ้การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งบนเกาะลังกาวี รัฐเคดะห์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา โดยมหาเธร์ได้คะแนนไปเพียง 10% ของคะแนนโหวตทั้งหมด ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 4 จาก 5 ผู้สมัครทั้งหมด ในขณะที่ที่นั่งนั้นกลับตกเป็นของ โมฮัมหมัด ซูไฮมี อับดุลเลาะห์ ผู้สมัครจากแนวร่วมเปอริกาตัน ของมูห์ยิดดิน ทั้งนี้ มหาเธร์ยังคงไม่ได้ออกความเห็นใดเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ มหาเธร์ในวัย 79 ปีเคยกล่าวว่า เขาจะวางมือจากวงการการเมืองหากเขาแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะถือเป็นการสิ้นสุดอาชีพทางการเมืองของมหาเธร์ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 7 สมัย โดยตำรงตำแหน่งครั้งแรกติดต่อกัน 6 สมัยตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2546 และครั้งต่อมาเมื่อ 4 ปีที่แล้วซึ่งเขาสามารถนำพรรคแนวร่วมของเขาเอาชนะ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีจากพรรคอัมโนซึ่งเคยเป็นพรรคเดิมของเขาได้

มีผู้วิเคราะห์ว่า กลุ่มประชากรที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุด คือ กลุ่มคนจนในพื้นที่เมือง เนื่องจากอัตราการอพยพย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ชนบทกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและระดับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ชุดนโยบายที่มีแนวโน้มที่จะดึงดูดเสียงโหวตได้มากที่สุดจึงเป็นนโยบายที่มีการพูดถึงการต่อสู้กับความยากจน การสร้างงาน และการลดระดับราคาสินค้าอาหารลง

“ค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นข้อกังวลหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้” อามีร์ ฟารีด จากบริษัท KRA ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการให้คำปรึกษาทางการเมืองกล่าว “แนวคิดหลักที่นักการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงต้องพิจารณาคือปัญหาค่าครองชีพและการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ”

ในขณะที่มหาเธร์สร้างชื่อเสียงจากการต่อต้านปัญหาคอรัปชั่นและจัดการกับเรื่องอื้อฉาว เขากลับสูญเสียความนิยมลงจากกลุ่มฐานเสียงที่เป็นคนจนเมือง และกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรก ที่มีความกังวลเรื่องงานและค่าครองชีพ ซึ่งเทใจไปให้แนวร่วมพรรคทั้ง 3 ที่มีนโยบายชัดเจนกว่ามหาเธร์มาก การจับนโยบายไม่ถูกจุดนี้เองจึง เป็นที่มาของการพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 53 ปี และอาจเป็นการปิดฉากอาชีพทางการเมืองของเขาได้

การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียในหลายๆ แง่มุม ทั้งความวุ่นวายที่ยืดเยื้อยาวนานเป็นเวลาหลายปี และการพลิกผันทิศทางทางการเมืองที่ทำให้นักการเมือง ที่มีอิทธิพลมาอย่างยาวนานอย่ามหาเธร์ สูญเสียบทบาทของตนลง ผลของการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถนำพามาเลเซียออกจากวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันได้หรือไม่


ที่มา:

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-11-21/mahathir-s-shock-election-loss-marks-end-of-decades-long-career

https://www.channelnewsasia.com/asia/malaysia-ge15-urban-poor-voters-3073131?cid=FBcna&fbclid=IwAR0E9J4EYu-VIZAmASD4lBT8Zys0W_hdELkd56-zKVmKeeKOVMH359SOvNE

https://asia.nikkei.com/Politics/Malaysia-election/Malaysia-election-live-UMNO-to-back-Anwar-as-prime-minister

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/22/what-do-we-know-about-talks-to-form-a-new-malaysian-goverment

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/19/mahathir-mohamad-ex-malaysia-pm-loses-seat-in-first-poll-defeat

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/23/why-is-malaysias-king-helping-choose-the-countrys-next-pm?fbclid=IwAR1UFdJUzQxo8Hh46t2DRPzOanPFOZMszLGUTj5ITVJ5tYg-4rctbGFsdIM