ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่อวัยวะที่ได้รับบริจาคนั้น ไม่เคยเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ บรรดานักวิทยาศาสตร์เริ่มมีความพยายามท้าทายพรมแดนของจริยธรรม ในการสร้าง ‘ครึ่งคนครึ่งสัตว์’ จากหนู หมู หรือลิง เพื่อใช้เป็นอวัยวะอะไหล่ในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์

แนวคิดเบื้องหลังของการวิจัยหมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมนี้ คือการสร้างสัตว์ที่มีอวัยวะบางส่วนเกิดจากเซลล์ของมนุษย์ทั้งหมด อย่างตับหรือไต เพื่อใช้เป็นอวัยวะสำหรับปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย

โดยทั่วไปแล้วทำโดยดัดแปรพันธุกรรมของเอ็มบริโอของสัตว์ เพื่อยับยั้งไม่ให้มีการสร้างอวัยวะบางอย่างขึ้น จากนั้นจึงนำสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดจากมนุษย์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนตัวเอง รวมถึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้ ฉีดเข้าไปในเอ็มบริโอของสัตว์ โดยหวังว่าตัวอ่อนจะเติบโตมาพร้อมกับอวัยวะภายในของมนุษย์ที่เกิดจากสเต็มเซลล์นั้นแทน

นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าการสร้างครึ่งคนครึ่งสัตว์ เป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการแก้ไข้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่ายจากการบริจาค รวมถึงแก้ปัญหาระบบภูมิคุ้มกันปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายด้วย และดูเหมือนแนวคิดนี้จะเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ


ความท้าทายทางการแพทย์
ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายและศีลธรรม

จากรายงานซึ่งเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวสเปน เอลปาอีส (El País) ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2019 อ้างว่า ฮวน การ์ลอส อิซปิซัว เบลมอนเต และคณะวิจัยจากสถาบันซอล์กเพื่อการวิจัยทางชีววิทยา (Salk Institute for Biological Studies) ในสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยฉีดสเต็มเซลล์ของมนุษย์เขาไปในเอ็มบริโอของลิงเป็นครั้งแรกในโลก โดยทำการวิจัยในประเทศจีน เพื่อหลีกเรื่องปัญหาทางกฎหมาย และได้ยุติการทดลองขณะตัวอ่อนมีอายุ 14 วัน ก่อนที่จะพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางขึ้น แต่ก็ชี้ว่าผลลัพธ์ดูมีความหวัง อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยยังไม่สามารถเปิดข้อมูลได้มากนักจนกว่าผลการวิจัยจะตีพิมพ์

ทั้งนี้ ทีมของเบลมอนเต เคยวิจัยสร้างตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งสัตว์มาก่อนแล้ว โดยวิจัยในเอ็มบริโอหมู เมื่อปี 2017 และวิจัยในเอ็มบริโอแกะเมื่อปี 2018 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีเซลล์มนุษย์เหลือรอดน้อยเกินไป โดยหมูและแกะเหล่านี้มีสัดส่วนของเซลล์มนุษย์เพียงประมาณ 1 ใน 10,000 เซลล์ และถูกกำจัดภายใน 28 วัน

โดยทั่วไป การวิจัยลักษณะนี้มักทดลองในหมูซึ่งมีขนาดอวัยวะภายในคล้ายคลึงกับมนุษย์ ทางเว็บไซต์เอ็มไอทีเทคโนโลยีรีวิว จึงมองว่าเบลมอนเตอาจมองว่าการทดสอบในลิงซึ่งความคล้ายคลึงมนุษย์กว่าอาจเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ทว่าปาโบล รอสส์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส (University of California, Davis) ผู้ร่วมวิจัยสเต็มเซลล์มนุษย์ในเอ็มบริโอหมูกับสถาบันซอล์กมาก่อน ไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะลิงมีขนาดตัวเล็กเกินไป และใช้เวลานานเกินไปในการพัฒนาอวัยวะ

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทางทีมวิจัยของฮิโรมิซึ นากาอุจิ ในประเทศญี่ปุ่น เพิ่งได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ให้ทดลองปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของมนุษย์ในสัตว์ได้ โดยนากาอุจิ ซึ่งเป็นนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวและสแตนฟอร์ด จะทดลองปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มนุษย์เข้าไปในตัวอ่อนของหนูเพื่อสร้างตับอ่อนมนุษย์ขึ้น

จากเดิมที่ญี่ปุ่นกำหนดให้การวิจัยลักษณะนี้ต้องกำจัดเอ็มบริโอทิ้งภายในอายุ 14 วัน และห้ามไม่ให้นำเข้าสู่ครรภ์เพื่อเจริญเติบโตต่อ ทว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้มีการยกเลิกข้อจำกัดนี้ และเปิดให้นักวิจัยยื่นขออนุญาตเป็นรายโครงการเพื่อปลูกถ่ายตัวอ่อนครึ่งคนครึ่งสัตว์ในครรภ์ของสัตว์กระทั่งคลอดออกมาได้

ขณะที่ในหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรยังคงกำหนด 14 วันเป็นเกณฑ์ในการยุติการทดลองกับเอ็มบริโอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความหมิ่นเหม่ทางจริยธรรมในการเกิดสัตว์ที่มีความเป็นมนุษย์สูงเกินไป เช่น หากสเต็มเซลล์ของมนุษย์เล็ดลอดจากอวัยวะที่ต้องการสร้างไปยังส่วนอื่นอย่างสมองแล้วเกิดกระบวนการรู้คิดขึ้นมา สิ่งมีชีวิตนั้นจะนับว่าเป็นอะไร การกำจัดสัตว์ทดลองจะต่างจากการฆ่าเด็กทารกที่เป็นมนุษย์หรือไม่ นับเป็นข้อถกเถียงทางศีลธรรมที่ยังเป็นที่กังวลกันอยู่


เทคโนโลยียังมาไม่ถึง
แต่การบริจาคอวัยวะรอไม่ได้

ขณะที่จุดหมายปลายทางในการสร้างอวัยวะอะไหล่ยังห่างไกล และเต็มไปด้วยความท้าทายทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศีลธรรม แต่ปัจจุบันยังคงมีผู้รอการบริจาคอวัยวะสำหรับปลูกถ่ายอยู่อีกมาก

ข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ เผยว่าเดือนมกราคม 2019 ในสหรัฐฯ มีผู้รอการบริจาคอวัยวะกว่า 113,000 ราย ขณะที่ในปี 2018 มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 17,553 รายทั้งผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตและที่บริจาคหลังเสียชีวิต โดยมีการประมาณว่าในทุกๆ วันมีผู้รออวัยวะปลูกถ่ายกระทั่งเสียชีวิตวัน 20 คน

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2561 ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เผยว่าในประเทศไทยมีผู้รออวัยวะทุกประเภทรวม 6,401 ราย ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 261 คน


ที่มา : MIT Technology Review / Independent / Guardian / MedicalXPress

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: