ไม่พบผลการค้นหา
'มัลลิกา' ซัดกลุ่มต้านเอเปค 2022 อย่าสิ้นคิดล้มประชุมเหมือนรุ่นก่อน ไร้มารยาท-ขาดกาลเทศะ เตือนอย่าหาแสงบนความเสียหายชาติ

วันที่ 14 พ.ย. มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ในช่วง 18-19 พ.ย. นี้ ถือเป็นบทสรุปที่สำคัญที่สุดแล้ว เพราะเป็นการประชุมผู้นำเอเปคที่ประเทศเราก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ ส่วนประเทศไทยของเราก็เป็นเจ้าภาพและเราเคยเป็นเจ้าภาพในปี 2535 และ 2546 เท่านั้น

"ช่วงเวลาแบบนี้เราควรจะเว้นไว้ซึ่งความคิดทางการเมือง อคติทางการเมืองหรือความไม่พอใจผู้นำทางการเมือง แต่เราควรจะทำตัวเป็นเจ้าภาพร่วมกันเพราะนี่คือมารยาทและกาลเทศะ ประเทศเราไม่ได้มีโอกาสบ่อยในการเป็นเจ้าภาพระดับโลกเช่นนี้สถานการณ์โลกยิ่งมีความขัดแย้งและปัญหาเราควรจะทำตัวให้น่ารักน่าชื่นชมเป็นเจ้าบ้านเป็นเจ้าภาพที่ดีอะไรที่จะทำให้ประเทศเสียหายก็ไม่ควรทำโดยเฉพาะความรุนแรงทั้งปวง " มัลลิกา กล่าว 

มัลลิกา กล่าวว่า ประโยชน์ของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ในมิติที่เป็นประโยชน์ที่สุดคือการค้าเพราะเป็นการหารายได้เข้าประเทศ และใน 21 เขตเศรษฐกิจ ก็ล้วนมีความมุ่งมั่นผลักดันและกำหนดทิศทางผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองที่หลากหลายในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2022 ที่ประเทศไทยกำหนดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance”

อย่างผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนั้น มีความได้เปรียบและคืบหน้ามาก จะรวมอยู่ในรายงานในการประชุมสุดยอดผู้นำที่กำลังจะมาถึงและถือว่าทางด้าน เศรษฐกิจการค้านั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 

เราได้โอกาสเปิดกว้างและเปิดเสรีทางการค้ากับคนมากว่าครึ่งค่อนโลกและผลรูปธรรมคือทุกประเทศทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันทางการค้าคือจะนำเอเปค ไปสู่การจัดทำ FTAAP หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific ให้เกิดขึ้นในอนาคต จากนั้นเราจะเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของบุคคลหรือสินค้าและบริการและได้มีการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า APEC Safe Passage Task Force เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น 

"การที่เราจะชุมนุมแสดงความคิดเห็นอาจจะเป็นสิทธิ์แต่มันมีขอบเขตตรง กติกา-มารยาท-กฎหมาย ถ้าเราอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ถ้าคิดและทำมากกว่านี้ ไม่น่าจะมีใครยอม เพราะประเทศชาติสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด การที่ใครจะหาแสง หิวแสง แล้วทำการรุนแรงใดๆ รอบที่พักและสถานที่ประชุม ต่อต้านการประชุมเวทีนี้ด้วยอคติ และต้องการแสดงตัวต่อใครก็ตาม ล้วนเป็นการทำบนความเสียหายของชาติ ไร้มารยาท ขาดความรู้เท่าทัน ขาดกาลเทศะ และถ้าคิดจะทุบการประชุมเหมือนกลุ่มเก่ารุ่นก่อนก็สิ้นคิดมาก" มัลลิกา กล่าว