ไม่พบผลการค้นหา
"ศรีสุวรรณ" ไม่เห็นด้วย สมช. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือน ชี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-สังคมต่อเนื่อง แนะกลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อตามปกติ

ตามที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกมาแถลงผลการประชุมเพื่อพิจารณาการต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 พ.ค. 2563 ว่า ที่ประชุมมติเห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน โดยอ้างว่าสถานการณ์โลกยังน่าเป็นห่วงอยู่ ประเทศไทยแม้จะประสบความสำเร็จแต่การผ่อนคลายแต่ละระยะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการระบาดรอบที่ 2 และจะมีการผ่อนคลายระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ในเดือน มิ.ย. จึงต้องมีเครื่องมือในการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.ในวันนี้ (22 พ.ค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 พ.ค. นั้น

ข้ออ้างในการต่ออายุ พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อโคโรนา 2019 ได้ทุเลาลงไปมากแล้ว จนกลายเป็นการติดเชื้อโดยปกติเหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆ ทั่วไปแล้ว เพราะหากจะให้ตัวเลขการติดเชื้อเท่ากับ "ศูนย์" อย่างต่อเนื่อง สังคมไทยก็คงต้องรอไปจนถึงชาติหน้าเท่านั้น เพราะโรคดังกล่าวไม่มีทางหมดไปจากประเทศไทยและโลกนี้ตามที่แพทย์ผู้รู้ได้ให้ความเห็นไว้

ทั้งนี้การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปจะกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการผ่อนคลายให้กิจการบางประเภทสามารถดำเนินการได้แล้วภายใต้กฎ New Normal ก็ตาม แต่ทว่าธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นธุรกิจของกลุ่มนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลใช่หรือไม่ อีกทั้งคนที่เสนอและออกคำสั่ง มิได้มีผลกระทบใดๆ เลย ยังคงได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และเบี้ยประชุมกันอย่างอิ่มหนำสำราญ

ยิ่งมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยิ่งมีการจัดประชุมรับเบี้ยประชุม มีการตั้งด่านตรวจเคอร์ฟิวส์รับเบี้ยเลี้ยงกันทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างไม่ละอาย แต่กลับอ้างว่าเสียสละ กลายเป็นแหล่งบ่อเงินบ่อทองให้กับหน่วยงานบางหน่วยไปโดยปริยาย ซึ่งรัฐบาลไม่เคยประกาศให้ประชาชนรับรู้ได้ว่านับแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นต้นมา มีการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศเพื่อการดังกล่าวไปแล้วเท่าไร      

นอกจากนั้น การบังคับตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการเลือกปฏิบัติหรือบังคับกันแต่เฉพาะกับประชาชน คนธรรมดาทั่วไป หากแต่คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ มีตำแหน่งใหญ่โตกลับเพิกเฉยเสีย ดังกรณีที่ พล.อ.ประวิทย์ เดินทางไปปลูกป่าที่เชียงใหม่ มีข้าราชการ นักการเมืองแห่แหนกันไปร่วมเสนอหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่มีข้อกำหนดว่าถ้าคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะจาก กทม.เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่จะต้องถูกกักตัว 14 วัน แต่ทว่าคณะของ พล.อ.ประวิทย์ ถูกกักตัวหรือไม่ สมช.ตอบได้หรือไม่

ดังนั้น การเสนอต่ออายุ พ.ร.ก.จึงไร้เหตุผลใดๆ ที่จะต่ออายุต่อไป ควรกลับไปใช้กฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ตามปกติต่อไป หากยังคิดว่ามีความสามารถหรือศักยภาพที่จะจัดการได้จริงตามที่คุยโวไว้ โดยไม่ต้องพึงเครื่องมือคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไป เว้นแต่จะใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างในการใช้และรักษาฐานอำนาจของพวกตนไว้เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :