ไม่พบผลการค้นหา
'พิธา' ชี้กรณีจัดงบประมาณปี 2566 เปรียบเหมือน "ช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้" ชำแหละ 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นปีแห่งความหวังและการฟื้นฟู แต่กลับจัดงบไม่ตอบโจทย์ ขณะที่ 'ไอติม พริษฐ์' ย้ำเรื่องเศรษฐกิจและสวัสดิการประชาชน คือ 2 โจทย์สำคัญที่ยังตกหล่น

พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม "Hackathonงบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น" ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยมีประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และมีการนำเสนอ หลังจากมีการแบ่งกลุ่มไปตรวจสอบงบในด้านต่างๆ ตามที่ตนสนใจ อาทิ เศรษฐกิจ เกษตรกร การศึกษา สาธาณสุข สวัสดิการ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน รายได้รัฐ ปลดล็อกท้องถิ่น เป็นต้น 

Hackathonงบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แผนการอภิปราย พ.ร.บ งบฯ เราต้องการที่จะชี้แจงให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ เพราะด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น 1.เรื่องสถานการณ์โควิดที่ทั่วโลกจากเคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 4 ล้านคน ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5 แสนคน ขณะเดียวกันอัตราเสียชีวิตก็ลดลง การฉีดวัคซีนก็เยอะขึ้น การท่องเที่ยวการเดินทางเริ่มกลับมา 2. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาซึ่งทำให้คนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ด้วย และ 3. บทอวสานของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ครบ 8 ปีแล้ว ซึ่งอาจจะต้องสิ้นสุดลง ทั้ง 3 ปัจจัยนี้คือสิ่งที่ตนเห็นว่าคือความหวัง และเราต้องสร้างความหวังด้วยการจัดงบฯ ปีนี้ให้ดี เพื่อให้ประเทศไทยไปข้างหน้าและสามารถปรับตัวได้ใน 10 ปี แต่ถ้ายังจัดงบฯ แบบเดิมๆ ในทางตรงกันข้ามก็จะถอยหลังไปอีก 10 ปี เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ปีนี้เป็นปีที่มีความสำคัญมากๆ น้ำขึ้นต้องรีบตัก ซึ่งจะตักได้มากก็ขึ้นอยู่กับว่ากระบวยของประเทศนั้นใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ากระบวยยังเท่าเดิม คือจัดสรรงบแบบเดิมก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

"แต่เมื่อดูการจัดงบปี 2566 แล้ว เปรียบไปก็เหมือนลักษณะช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ เพราะถ้าไปดูส่วนที่ได้รับมากที่สุดก็คือ งบกลาง 8 แสนกว่าล้าน นอกจากนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ถูกใช้ไปกับงบฯ บำนาญและสวัสดิการข้าราชการ ส่วนถ้าไปดูงบที่ปรับสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคืองบรัฐวิสาหกิจ หน่วยรับที่ได้สูงสุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ซึ่งปรากฏว่าก็เป็นงบที่จ่ายอุดหนุนการเกษตรที่ย้อนหลังไปจนถึงปี 2551 จึงอาจกล่าวได้ว่า แทนที่จะเป็นการจัดงบเพื่อฟื้นฟูไปสู่อนาคต แต่เป็นการจัดงบของอดีต สมมติว่าประเทศเราเก็บภาษีได้ 100 บาท พบว่า 70 บาทถูกใช้จ่ายกับอดีตจนหมดเลย ทั้งเงินบำนาญและสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ จะมีเหลืออยู่เพียง 30 บาทที่สำหรับบริหารในอนาคต" พิธา กล่าว 

Hackathonงบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น

พิธา กล่าวด้วยว่า กรณีงบส่วนใหญ่ที่ถูกใช้ไปกับการดูแลข้าราชการนั้น ถือว่าเป็นยาขมที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คล่องตัวขึ้น ไม่อุ้ยอ้ายอย่างที่เป็นอยู่ และหนึ่งในนั้นที่เราคิดกันไว้ก็คือเรื่องของการกระจายอำนาจ ให้ข้าราชการไปสังกัดอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกัน การทำให้สวัสดิการของประชาชนเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ จะปล่อยให้งบบำนาญข้าราชการสูงกว่าสวัสดิการประชาชนคนชรา ถึง 57 เท่าอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ จะเหมือนกับว่าเราเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อมาดูแลรัฐราชการอุ้ยอ้าย ไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ควรรจะมีความหวัง เป็นปีแห่งการฟื้นฟู แต่การจัดงบประมาณไม่บอกเราอย่างนั้น ดังนั้น พรรคก้าวไกลคงไม่ยอมให้ผ่านวาระแรกไปได้

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป้าหมายในการทำงานงบประมาณในปีนี้ ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลอย่างเดียว แต่ยังเป็นการตั้งความหวังกับประชาชนด้วยว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เรามองเรื่องการจัดสรรงบประมาณอย่างไร และสำหรับการจัดงบในครั้งนี้ ถ้าถามถึงสิ่งที่ยังตกหล่นอยู่ ตนคิดว่า 2 โจทย์ คือ โจทย์แรกเรื่องของเศรษฐกิจ เราจะหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ได้อย่างไร ที่จะมาขับเคลื่อนไปเคียงข้างไปกับกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะต้องใช้เวลาปีนี้ในการฟื้นฟู แต่ทว่าเราก็เห็นว่างบปี 2566 นั้น งบการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งเมื่อไปดูรายละเอียดก็เห็นว่างบส่วนใหญ่ใช้ไปกับการสร้างถนนหนทาง โจทย์ที่สอง คือ เรื่องสวัสดิการ ที่ประชาชนทุกช่วงวัยกำลังเดือดร้อนอย่างทั่วหน้า แต่เราก็ไม่เห็นว่างบปีนี้ถูกตั้งมาเพื่อดูแลประชาชนเหล่านั้น