วันที่ 24 มี.ค. 2565 ที่ชั้นดาดฟ้า อาคารพรรคเพื่อไทย มีการจัดกิจกรรม 'Bangkok Bling กรุงเทพฯ มั่งคั่ง' เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต ของพรรคเพื่อไทย พร้อมแนวนโยบาย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ส.ก.พรรคเพื่อไทย วิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม.พรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทย ในฐานะเป็นสถาบันการเมืองของพี่น้องประชาชน เห็นความสำคัญอย่างยิ่งของชีวิตพี่น้องชาว กทม. ครั้งนี้เป็นโอกาสของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. เรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 50 เขต และมั่นใจว่าจะตอบสนองพี่น้องได้อย่างใกล้ชิด
“พรรคเพื่อไทยโอบอุ้มสนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่จะสร้างว่ากรุงเทพฯ มั่งคั่ง Bangkok Bling ได้จริงๆ จึงขอฝาก ส.ก. ทั้ง 50 เขต ในวันเลือกตั้ง เข้าคูหา กาเพื่อไทย” นพ.ชลน่าน กล่าว
สำหรับ 5 แนวนโยบายหลัก มีดังนี้
1) 30บาท ถึงที่หมาย : ผลักดันให้กระทรวงคมนาคมบริหารจัดการรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟลอยฟ้า หน่วยงานเดียว เพื่อการบริหารค่าโดยสารที่เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย เสียค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ผู้โดยสารจะเข้ามาใช้งานมากขึ้น ทำให้ค่าตั๋วโดยสารถูกลงด้วย
2) 50 เขต 50 โรงพยาบาล : ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วเขตละ 1 แห่ง หรือสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงที่สามารถดูแลประชาชนเบื้องต้นแบบครบวงจร โดยให้ กทม. รับงบประมาณกองทุนประกันสุขภาพจำนวน 15,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการเอง
3) 437 สถานศึกษา พัฒนาสร้างรายได้ : เปิดพื้นที่โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ให้เป็นพื้นที่ของงาน เงิน และอนาคต ทั้งการศึกษาในระบบ โดยเพิ่มการเรียนภาษาที่ 2 อังกฤษและจีน เพิ่มทักษะคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่ง เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีทักษะความรู้ในโลกสมัยใหม่ รวมทั้งการศึกษานอกระบบ ต้องทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Maker space) โดย กทม.มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ จัดจ้างครู อุปกรณ์ เช่น การทำอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า โรงถ่ายหนัง มาสร้างสรรค์งานร่วมกัน จนเกิดเป็นสตาร์ทอัพ
4) กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท : ทุกชุมชนใน กทม.ไม่เกิน 6,000 แห่ง ชุมชนแออัด หมู่บ้าน และคอนโด ต้องได้รับงบประมาณ 200,000 บาทต่อปี ให้ แต่ละชุมชนนำเสนองบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ผ่านเขตของตนเองได้ โดยจะมีคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งภายในชุมชน มีผลงานชัดเจนจากการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมาแล้ว มาร่วมตัดสินใจใช้งบประมาณแบบมีส่วนร่วม
5) 50 เขต 50 ซอฟต์พาวเวอร์ : คนชุมชนหรือย่านนั้น จัดงานแสดงศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร แฟชัน ดนตรี โดยคนในท้องถิ่นที่จะสามารถออกแบบอีเวนต์เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างเงินด้วยตนเอง กรุงเทพฯ จะไม่หลับใหล เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง สร้างงาน สร้างเงินให้กับประเทศ
สำหรับสโลแกนในการลงผู้สมัคร ส.ก.ของเพื่อไทย คือ ‘เลือกเพื่อไทย เลือกอนาคตที่มั่งคั่งให้คนกรุงเทพฯ’ ผ่านนโยบายของว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. จากพรรคเพื่อไทย
ทัดดาว ตั้งตรงเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตราชเทวี กล่าวว่า ตนเคยติดเชื้อโควิด เพราะลงพื้นที่ดูแลประชาชนในเขต แม้ในกรุงเทพฯจะมีโรงพยาบาลรัฐอยู่หลายแห่ง แต่มักจะรักษาเฉพาะโรคยากๆ ทำให้กรุงเทพฯทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามารักษาจนไม่มีเตียงมากพอ โอนเชื่อว่าเราต้องมีโรงพยาบาลชุมชนกระจายตัวอยู่ทั่วเขตของกรุงเทพฯ เพื่อคัดกรองผู้ป่วยในขั้นปฐมภูมิ เพื่อที่จะสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องข้ามเขต ให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีแม้ในยามวิกาล ความมั่งคั่งที่พรรคเพื่อไทยมอบให้ คือสุขภาพที่ดีนั่นเอง
ทิพจุฑา บุนนาค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางพลัด ระบุว่า 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นได้จริง แล้วจะทราบประโยชน์สูงสุดให้คนกรุงเทพฯจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน สามารถการันตีได้ว่าไม่ว่านาคตจะเจอโรคระบาดอะไร ประชากรชาวไทย ก็จะมีที่รองรับ และสามารถดูแลกันได้ไม่มีการปล่อยให้นอนตายข้างถนนเหมือนอย่างที่ผ่านมา เพื่อไทย 50 เขต 50 โรงพยาบาลจะเกิดขึ้นได้จริง หากคุณเลือก ส.ก. พรรคเพื่อไทย
สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย หรือ 'เฮียล้าน จอมทอง' กล่าวว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ กรุงเทพฯไม่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ก.รวม 8 ปี พร้อมกับแต่งตั้ง ส.ก. 30 คน ซึ่งไม่เคยลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวจอมทองสักครั้ง แม้ตนเองจะไม่ได้เป็น ส.ก. แต่ยังคงลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องมากว่า 20 ปี เสมือนเป็น ‘ส.ก.นอกสภา’ พร้อมตอกย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของ ส.ก. ว่าทำหน้าที่เหมือน ส.ส. ของคนกรุงเทพฯ เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ออกข้อบังคับที่เป็นประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ พิจารณางบประมาณ ที่ผู้ว่าฯ กทม. เสนอมา ตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งประชากรจริงและประชากรแฝงทุกคน
ดังนั้น การเป็น ส.ก.คือการแก้ปัญหาทั้งในสภา กทม.และนอกสภา ซึ่งคือการลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวกรุงเทพฯในทันที เช่น การลงพื้นที่ตรวจ ATK เชิงรุก จัดชุดยาเพื่อให้ประชาชนทำ Home isolation ประสานหาเตียง พร้อมย้ำว่า ตนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ที่จะดูแลคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่อาศัยเพื่อทำมาหากินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ขอให้ชาวกรุงเทพฯมั่นใจว่า เลือกเพื่อไทย เลือกอนาคตที่มั่งคั่ง ให้คนกรุงเทพฯ
“การเป็น ส.ก. แบบเฮียล้าน ไม่ใช่คนที่ลงพื้นที่เฉพาะเวลาใกล้เลือกตั้งแล้วนั่งทำงานในห้องแอร์ แต่คือการเป็นคนพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน เข้าถึง พึ่งได้ ไม่นิ่งดูดาย เจอปัญหาต้องหาวิธีแก้ไข ทั้งการออกข้อบังคับต่างๆ ตามกลไก หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านอกสภา เพราะบางปัญหาต้องแก้ทันที รอไม่ได้” สุทธิชัย กล่าว
สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า จากการลงสำรวจพื้นที่ลาดกระบังอย่างต่อเนื่อง พบปัญหาหลายรูป ตั้งแต่ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก รัฐบาลและสำนักงานเขตไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้ทันท่วงทีเนื่องจากติดขัดกับข้อกฎหมาย แล้วปัญหาของมนุษย์คอนโด ที่มีส่วนกลางไม่สามารถรอรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ปัญหาทั้ง 3 ด้านมีความต้องการในการแก้ไขปัญหาแตกต่างกันไป การเกาให้ถูกที่ แก้ให้ถูกจุด ประชาชนต้องมีอิสระทางความคิด พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า ปัญหาของประชาชนต้องแก้โดยประชาชน เป็นการกระจายอำนาจ ที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
สุรจิตต์ นำเสนอนโยบาย กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท ต่อปี ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการฟื้นฟูนโยบายกองทุน SML สมัยพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย ภายใต้รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประชาชนสามารถนำกองทุนส่วนนี้มาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกจุด ไม่ว่าจะเป็นชุมชน หรือคอนโด เป็นกองทุนที่เปิดโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลง ในชุมชน หมู่บ้าน คอนโด พลิกฟื้นให้เราทุกคนกลับมามีความสุขอีกครั้ง
"ประชาธิปไตยที่กินได้ เกิดจากการกระจายอำนาจ เข้าคูหารอบนี้ มีเวลา 3 วินาที จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน หมู่บ้าน แล้วคอนโด เลือกเพื่อไทย เพื่ออนาคตที่มั่งคั่งของกรุงเทพฯ" สุรจิตต์ กล่าว
วิพุธ ศรีวะอุไร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางรัก พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเดินทางโดยรถไฟฟ้าต้องมีไว้สำหรับทุกคน พรรคเพื่อไทยขอเสนอแนวคิด ‘ 30 บาท ถึงที่หมาย’ เพื่อแก้ไขปัญหาหลักของคนกรุงเทพฯ คือการเดินทาง จากต้นทุนการเดินทางที่แพง ที่มีส่วนทำให้การจราจรติดขัด การทำให้ราคาค่าโดยสารของคนกรุงเทพลดลงมีทางออกเดียวคือ ต้องรวมเอารถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน มีเจ้าของเดียวกันคือกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานครต้องขายสัมปทานให้กระทรวงคมนาคมบริหารจัดการ เมื่อรวมเครือข่ายรถไฟทุกประเภทแล้ว ต้องไม่มีการจัดเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน จ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ต้องมีการรื้อระบบสัญญาสัมปทานใหม่โดยคำนวณรายได้อื่นๆ ทั้งค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือพื้นที่โฆษณา ให้รวมอยู่ในสัมปทานในรูปแบบที่เหมาะสมด้วย เมื่อราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลง ประชาชนจะใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ต้นทุนจะลดลง หากสามารถบริหารจัดการได้ จะช่วยเพิ่มผู้โดยสารจาก 1.5 ล้านคน เป็น 3-4 ล้านคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งจะสอดคล้องกับการเตรียมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม กรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยแทบทั้งสิ้น เราจะร่วมมือกับผู้ว่าฯ กทม.ที่เห็นแก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ที่ผมพูดมา ส.ก. คงทำทั้งหมดไม่ได้ แต่ถ้า ส.ก. ร่วมกับผู้ว่าฯ กทม.ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน ร่วมกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แนวทาง 30 บาท ถึงที่หมาย เป็นไปได้แน่นอน เพราะเราทำงานเป็นทีม นี่คือความมุ่งมั่นที่ทีม ส.ก. พรรคเพื่อไทย มุ่งหวังลดรายจ่ายค่าเดินทาง เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้ประชาชน” วิพุธ กล่าว
วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย ขอเสนออีกนโยบาย “437 สถานศึกษา พัฒนาสร้างรายได้” โดยจะเปิดพื้นที่โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ให้บริการการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เป็นพื้นที่ของงาน เงิน และ อนาคต ได้แก่
1.การศึกษาในระบบ : ส.ก.ของเพื่อไทยจะเข้าไปผลักดันเพิ่มการเรียนภาษาที่ 2 อังกฤษและจีน เพิ่มทักษะคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่ง เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีทักษะความรู้ในโลกสมัยใหม่
2.การศึกษานอกระบบ : ส.ก.จากพรรคเพื่อไทยจะเข้าไปเปิดรั้วโรงเรียน ทำให้โรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Maker space) โดย กทม.มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ จัดจ้างครู อุปกรณ์ เหมือนที่ ‘Chiang Mai Maker Club’ ทำแล้ว เด็กและเยาวชนที่สนใจเรื่องวิศวกรรม ใช้สถานที่ร่วมกัน เปิดทำการตลอดเวลา มีคนจัดหาอุปกรณ์สำหรับสร้างงานประดิษฐ์ หาเวทีประกวด ซึ่ง Maker space มีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การทำอาหาร ตัดเย็บเสื้อผ้า โรงถ่ายหนัง มาสร้างสรรค์งานร่วมกัน จนเกิดเป็นสตาร์ทอัพ ซึ่ง กทม.ต้องร่วมมือกับสำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกใบรับรองให้เพื่อใช้ประกอบการทำงานจริงต่อไป
วิรัตน์ กล่าวอีกว่า นโยบายการศึกษาทั้ง 2 ระบบจะ ‘สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง โอกาสทางการศึกษา’ สอดรับกับแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งหวังให้การศึกษาไม่จำกัดที่ในรั้วโรงเรียน เมืองต้องเปิดโอกาสให้คนกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อทลายข้อจำกัดการเรียนรู้เดิมที่จะต้องเรียนให้จบเพื่อหางานให้ตรงสายการเรียน
“โจทย์การศึกษาวันนี้ไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงเรียน การศึกษาเปลี่ยนไปแล้ว โลกเปลี่ยนเร็ว คนต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลาและตลอดชีวิต เมืองต้องเปิดโอกาสนั้น ต้องไม่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่คนคือเมือง คือทรัพยากรมนุษย์ สโลแกนของเราคือ ‘เลือกเพื่อไทย เลือกอนาคตที่มั่งคั่งให้คนกรุงเทพฯ’ ความมั่งคั่งไม่ได้หมายความแค่ ‘ตัวเงิน’ แต่คือความมั่งคั่งทางความรู้ เลือกเพื่อไทย เลือกอนาคตที่มั่งคั่งทางการศึกษาให้คนกรุงเทพฯ” วิรัตน์ กล่าว
มธุรส เบนท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตสะพานสูง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 50 เขต แต่ละเขตมีจุดเด่นเอกลักษณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป เป็นเมืองหลวงสตรีทฟู้ดของโลก การนวดแผนไทยที่ยูเนสโก หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้การรับรองว่าเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต จึงมีศักยภาพที่จะสร้างให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวได้ ภายใต้แนวนโยบาย ส.ก.ของเพื่อไทย คือ “50 เขต 50 ซอฟต์พาวเวอร์” เพื่อให้ชุมชนหรือย่านนั้น ได้จัดงานเผยแพร่วัฒนธรรมและศิลปะของตัวเองในสวนสาธารณะในกรุงเทพฯที่มีถึง 39 แห่ง ถนนคนเดิน หรือจัดในวันหยุดที่โรงเรียนต่างๆ สามารถจัดงานอีเวนต์ได้ตลอดปี
เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบึงกุ่ม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนของกรุงเทพฯ มีศักยภาพพร้อมและขับเคลื่อนกันเองอยู่แล้ว เช่น การจัดตลาดนัดฮิปๆ เทศกาลมโหรสพ การละเล่นงิ้ว คอนเสิร์ตกลางแจ้ง เทศกาลภาพยนตร์ของแต่ละประเทศที่จัดในสถานทูตต่างๆในไทย รวมถึงเทศกาลขนมหวานไทย เขตภาษีเจริญ รวมทั้ง Bangkok Design Week จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ซึ่งต่อยอดมาจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย เป็นการจัดงานที่การออกแบบมาทำให้พื้นที่เศรษฐกิจทั่วกรุงเทพฯ เกิดความน่าสนใจมากขึ้น
โดยนโยบาย“50 เขต 50 ซอฟต์พาวเวอร์” การจัดงานแสดงศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร แฟชัน ดนตรี โดยคนในท้องถิ่นที่จะสามารถออกแบบอีเวนต์เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างเงินด้วยตนเอง กรุงเทพฯ จะไม่หลับใหล เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) กินร้องเต้นรำกันทั้งวัน เศรษฐกิจกลางคืนจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองมั่งคั่ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ กลายเป็น Soft Power ที่ทรงพลัง สร้างงาน สร้างเงินให้กับประเทศชาติตามมาแน่นอน
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เด็ก เยาวชน นักศึกษา รวมถึงแฟนคลับ ได้สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากของครอบครัวจากรายได้ลดลง รายจ่ายที่มากขึ้น มองไม่เห็นหนทางในการสร้างตัวอย่างเข้มแข็งมั่นคง มีคนบอกให้ประชาชนอดทนและขยันเพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นการซ้ำเติมประชาชน วาทกรรมเก่า ๆว่า ‘ขยันแล้วจะสบาย’ หรือ ‘ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า’ เป็นคำโกหก เพราะวันหน้าของประชาชนยาวนานถึง 8 ปี และแม้เข้าปีที่ 8 แล้วก็ยังมาไม่ถึง ยืนยันได้จากข้อมูลทางสถิติของ KISI (เคซี) องค์กรที่ศึกษาเรื่องความสมดุลระหว่างงานและชีวิต ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ทำงานหนักเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า 7 ปีที่ผ่านมาหนี้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัว และ 60% ของคนวัยทำงานอายุ 30 ปี เป็นหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ เพราะแม้คนไทยทำงานหนักจนติดอันดับโลก แต่ทรัพย์สินในประเทศกว่า 66% กลับตกไปอยู่กับคนแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด
ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ‘ยิ่งทำยิ่งจน’ แต่คนที่รวยขึ้นกลับเป็นนายทุนอย่างเดียว และ ‘ยิ่งทำยิ่งเจ็บ’ เพราะยิ่งทำงานหนักก็ยิ่งเจ็บทั้งกายทั้งใจ คนกรุงเทพฯ สู้ชีวิตมาก การเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้จึงอยากให้คนกรุงเทพฯ ชนะ พรรคเพื่อไทยมีภารกิจเดียว คือทำให้คนกรุงเทพฯ ที่ทำงานหนักตลอดชีวิต จ่ายถูกลง หาเงินได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเหนื่อยไปกว่านี้
พรรคเพื่อไทยขอประกาศภารกิจ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และกระจายความมั่งคั่งให้คนกรุงเทพฯ” อย่างถ้วนหน้า ผ่านการทำงานสอดประสานกับฝ่ายบริหารในกรุงเทพมหานคร เสนอแนะ ดูแล และผลักดันให้พี่น้องทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น โดยความมั่งคั่งของประชาชน ไม่ใช่ภาระของประชาชนแต่เพียงผู้เดียว แต่เกี่ยวพันถึงการสนับสนุน ดูแล จัดสรรของฝ่ายบริหาร ที่จะกระจายทรัพยากร กระจายโอกาส และแบ่งเบาภาระจากประชาชน ตนเชื่อว่าไม่มีใครอยากจน ผู้มีอำนาจมีหน้าที่ที่จะพาทุกคนออกจากความยากจน ให้มีกิน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีอนาคต ความมั่งคั่งของประเทศจะต้องถูกปลดแอกจากคน 1% และแจกจ่ายให้เจ้าของประเทศทุกคนอย่างทั่วถึงกัน พรรคเพื่อไทยจึงขอเปิดตัว 5 นโยบาย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. จากเพื่อไทย ได้แก่
1)30บาท ถึงที่หมาย
2) 50 เขต 50 โรงพยาบาล
3) 437 สถานศึกษา พัฒนาสร้างรายได้
4) กองทุนพัฒนาชุมชน 200,000 บาท
5) 50 เขต 50 ซอฟต์พาวเวอร์
“คนกรุงเทพฯ สู้ชีวิตมาก แต่ชีวิตก็สู้กลับตลอด ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพฯ คือ 331 บาท แต่ค่ารถไฟฟ้าไปกลับวันละเกือบ 100 บาท 8 ปีที่ผ่านมาเงินเดือนปริญญาตรี ขึ้นแค่ 25% แต่ค่าข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวพุ่งขึ้น 150% เราสู้ชีวิตมาก แต่สู้ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ ภายใต้ 5 นโยบายของว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. คือความตั้งใจจริงจากพรรคเพื่อไทย ที่มีต่อคนหาเช้ากินค่ำ คนทำงานหนัก คนรุ่นใหม่ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตของตนในเมืองหลวงแห่งนี้” ธีรรัตน์ กล่าว