ส.ค.2549 สหภาพฯ ค้านนโยบายย้ายเที่ยวบินในประเทศใช้สนามบินสุวรรณภูมิก่อนกำหนด เหตุเครื่องมืออุปกรณ์-พนักงานไม่เพียงพอแบ่งให้บริการ 2 แห่งพร้อมกัน หลังจากคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารออกมายืนยันว่า ในวันที่ 15 ก.ย.2549 จะเปิดให้บริการเส้นทางบิน 3 เส้นทางคือ เชียงใหม่ พิษณุโลก และอุบลราชธานี โดยใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อทดสอบระบบต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ โดยให้เหตุผลว่า พนักงานการบินไทยในนามสหภาพแรงงานฯ เห็นว่ายังไม่มีความพร้อม ความชำนาญในการใช้สนามบิน การขนย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังดำเนินการไม่เสร็จ หากมีปัญหาจะเกิดผลกระทบในระยะยาว จึงไม่เห็นด้วยที่จะเร่งเปิดตามที่รัฐบาลเร่งรัดมา (ที่มา เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ, August 14, 2006 )
ก.พ.2550 สหภาพฯ เรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้เปิดใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ เป็นสนามบินนานาชาติควบคู่กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเสนอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ในการเปิดใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ เป็นสนามบินนานาชาติควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยขาดข้อมูลการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายด้านธุรกิจการบิน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ขณะเดียวกันนี้ได้เสนอว่าควรเปิดใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพในระดับเฉพาะสายการบินภายในประเทศเท่านั้น หากต้องการผ่อนคลายความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะไม่กระทบต่อความเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค สำหรับการเปิดใช้สนามบินสองแห่งนั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลักษณะด้านกายภาพของแต่ละประเทศ แต่ไม่เป็นที่นิยม พร้อมกันนี้ กลุ่มสหภาพฯ ยังตั้งข้อสังเกตุการเปิดใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางสายการบิน จึงวิงวอนให้ผู้รับผิดชอบ พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว โดยพิจารณาข้อมูลปัญหาให้รอบด้าน (ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, February 13, 2007)
ส.ค.2551 สหภาพฯ เรียกร้องพนักงานลาหยุดงาน เพื่อตอบโต้รัฐบาลหยุดการใช้ความรุนแรงทุกกรณีกับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ที่มา เว็บไซต์เดลินิวส์, August 29, 2008 )
พ.ย.2551 สหภาพฯ ยื่นหนังสือต่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อสั่งการให้คณะกรรมการบริหารชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง ขอให้พร้อมเปิดเผยรายละเอียดของหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหา รวมถึงคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากมีกระบวนการแทรกแซงจากภายนอกทำให้ได้ผู้บริหารที่ไม่มีความเหมาะสมกับสายงาน (ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์, November 04, 2008)
มี.ค.2552 สหภาพฯ ขอให้ระงับการย้ายเที่ยวบินจากสนามบินดอนเมืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะเป็นข้อโต้แย้งในสังคม โดยเฉพาะความโปร่งใสและผลดีผลเสียของการบินไทยในอนาคต รวมทั้งพบข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่ฝ่ายบริหารการบินไทยใช้ประกอบการพิจารณาการย้ายเที่ยวบินไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่ระบุว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้ปีละประมาณ 648 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถลดได้ตามที่ชี้แจง รวมทั้งสายการบินนกแอร์และสายการบินวันทูโก ยังคงให้บริการอยู่ที่สนามบินดอนเมืองเหมือนเดิมได้ สหภาพฯ จึงขอให้ รมว.คมนาคม พิจารณาระงับการย้ายเที่ยวบินในประเทศจากสนามบินดอนเมืองในวันที่ 29 มี.ค. 2552 ออกไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาผลดีผลเสีย (ที่มา เดลินิวส์, March 28, 2009 )
ส.ค.2552 สหภาพฯ ชุมนุมประท้วงและยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการบอร์ดการบินไทย ที่มีนายอำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ด พิจารณาทบทวนการปรับโครงสร้างองค์กรและระงับการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงจำนวน 2 ตำแหน่ง จากเดิมที่ได้ปรับ และ ยุบไป คือ ตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์และแผน และ ตำแหน่ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้า โดยทางสหภาพเห็นว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงขึ้นมาอีก 2 ตำแหน่งทำให้การบินไทย มีการขยายขนาดองค์กรใหญ่ขึ้น ในขณะที่ความเป็นจริงขณะนี้การบินไทยจะต้องปรับลดขนาดองค์กรให้เล็กลง เพราะการแต่งตั้งตำแหน่ง จะส่งผลให้ การบินไทยมีค่าใช้จ่าย หรือ งบประมาณมากขึ้น นอกจากนี้ในการเสนอการแต่งตั้งนั้นไม่ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 ตำแหน่งว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้นจึงสามารถมองได้ว่าแต่งตั้งและการสรรหาบุคคลเข้ามารับตำแหน่งใน 2 ตำแหน่ง อาจจะมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นได้ (ที่มา ไทยรัฐออนไลน์, August 07, 2009 )
ธ.ค.2552 สหภาพฯ เรียกร้องให้ นายวัลลภ พุกกะณะสุต ประธานกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีการใช้อำนาจในการเป็นบอร์ด ขนกระเป๋าน้ำหนักเกิน (ที่มา MGR Online, December 18, 2009)
พ.ย.2554 สหภาพฯ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม พิจารณานายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ออกจากตำแหน่งกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เพราะเห็นว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสม เพราะถูกกล่าวหามีคดีเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริตในกระทรวงคมนาคม (ที่มา ไทยรัฐออนไลน์, November 24,2011)
ม.ค.2555 สหภาพฯ ขอเพิ่มเงินเบี้ยขยัน 300 ล้านบาท และขู่หยุดงานประท้วงซ้ำ โดยขอให้ฝ่ายบริหารปรับเพิ่มวงเงินที่สำรองไว้จ่ายเบี้ยขยันเป็นเงิน 500 ล้านบาท จากเดิมที่คณะกรรมการอนุมัติไว้ที่ 200 ล้านบาท โดยขอให้ฝ่ายบริหารเกลี่ยเงินดังกล่าวให้พนักงานการบินไทยทุกคน ซึ่งมีจำนวน 2.6 หมื่นคนรวมทั้งการปรับเงินเดือนพนักงานระดับ 1-7 ในอัตรา 7.5% ซึ่งในปีดังกล่าว การบินไทยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 213,529.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ อยู่ที่ 6,510.22 ล้านบาท (ที่มา เว็บไซต์คมชัดลึก, January 2012)
มี.ค.2557 สหภาพฯ ออกแถลงการณ์ ขอให้นายอำพน กิตติอำพน ลาออกจากประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) และคัดค้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการดีดี ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นใบลาออกต่อประธานบอร์ด การบินไทย โดยให้เหตุผลว่ามาจากปัญหาสุขภาพและบอร์ดได้มีมติให้นายโชคชัย (DN) ทำหน้าที่รักษาการ DD มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม2557
สหภาพแรงงานฯ ไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดดังกล่าวที่ให้นายโชคชัยทำหน้าที่ รักษาการDD เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการตลาด การใช้เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ การยัดหาเครื่องบินใหม่ การกำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและอื่นๆ อันเนื่องมาจากการวางแผนกำหนดกลยุทธ์ของฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ (DY) ซึ่งมีนายโชคชัยเป็นผู้รับผิดชอบภายใต้การกำหนดนโยบาย แต่งตั้งบุคคลเข้าบริหารและสั่งการของนายอำพน เป็นประธานบอร์ดโดยไม่เคยให้นายสรจักร ในฐานะDD ได้มีส่วนในการพิจารณาผลของการกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินการที่ผิดพลาดทำให้บริษัทฯ ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่บุคคลทั้ง2 กลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ (ที่มา MGR Online, December 20, 2013)
ขณะที่นายอำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทย ระบุว่า สหภาพการบินไทยไม่ได้เรียกร้องให้ตนเองทบทวนบทบาทหรือลาออกจากตำแหน่งแต่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้บอร์ดการบินไทยเร่งการประชุมบอร์ดการบินไทยให้เร็วขึ้น ซึ่งได้เลื่อนให้จากวันที่ 22 ก.พ. มาเป็นวันที่ 8 ก.พ. 2.ให้ตนหยุดปล่อยข่าว เพื่อไม่ให้สร้างความสับสนในหมู่พนักงาน เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่เคยปล่อยข่าวให้เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงานแต่อย่างใด และ 3.สหภาพแจ้งว่า เมื่อตนเป็นประธานบอร์ด ย่อมรู้ปัญหาในการบินไทยเป็นอย่างดี จึงรู้ว่าควรจะแก้ไข ปัญหาอย่างไร จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ไม่มีข้อไหนที่สหภาพให้ตนทบทวนบทบาทตัวเอง ยังงงว่าจะให้ทบทวนอะไร ในเมื่อไม่เคยทำอะไรผิดพลาด ส่วนข้อเสนอต่างๆของสหภาพที่ออกผ่านสื่อนั้น ยังไม่เคยมายื่นกับตน แต่สหภาพมายื่นกับฝ่ายบริหารการบินไทยเป็นหลัก ( ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ January 23, 2013)
มี.ค.2557 สหภาพฯ ยื่นหนังสือคัดค้าน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น มาเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยอีก ในการประชุมผู้ถือหุ้น ในเดือน เม.ย.2557 เนื่องจากที่ประชุมบอร์ดวันที่ 21 ก.พ.2557 เสนอชื่อนายอำพนกลับมาเป็นบอร์ดอีกครั้ง โดยเห็นว่านายอำพนเป็นประธานบอร์ดมาแล้ว 5 ปียาวนานที่สุด มีพฤติกรรมทำให้เชื่อว่าครอบงำและแทรกแซงการบริหารงาน การแต่งตั้งโยกย้ายเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ขาดความรู้ความสามารถ ทำให้บริษัทไม่มีธรรมาภิบาล พนักงานแตกแยก ใช้เงินมหาศาลจ้างพรรคพวกเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่มีผลงาน ทำให้บริษัทขาดทุน และเป็นประธานบอร์ดบริษัทไทยสมายล์ ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงไม่สมควรกลับมาเป็นกรรมการอีก (ที่มา ไทยรัฐออนไลน์ , March 25, 2014)
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทย (21 ก.พ.2557) อนุมัติการลาออกของนายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการการบินไทย แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการการบินไทย และกรรมการอิสระพร้อมแต่งตั้ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองประธานกรรมการ เป็นประธานแทน โดยมีผล วันที่ 10 มี.ค. 2557 โดยนายอำพน ได้แจ้งสาเหตุการลาออกว่าอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมาต่อเนื่องเกือบ 5 ปี ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหลักธรรมาภิบาล การดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัทเป็นเวลานานเกินไปเป็นการไม่สมควร เป็นหลักทั่วไป ไม่ว่าเป็นภาคเอกชนหรือราชการกรณีปลัดกระทรวงจะเปลี่ยนทุก 4 ปี หรือประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระๆ ละ 3 ปี ดังนั้นจึงขอลาออกจากประธานกรรมการการบินไทย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องที่นายอำพนขอลาออก และเห็นว่านายอำพน ได้ช่วยแก้ไขวิกฤติการณ์ของบริษัทอยู่หลายครั้ง และแก้ปัญหาการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสมาตลอด แม้นายอำพน จะลาออก จากตำแหน่งประธาน แต่ในฐานะกรรมการยังสามารถทำประโยชน์ให้แก่บริษัทได้ (ที่มา กรุงเทพธุรกิจ , February 22, 2014)
เม.ย.2557 สหภาพฯ แถลงการณ์ร่วมมือ กปปส.พร้อมนัดหยุดงาน 22 พ.ค.โดยได้แจ้งไปยังสมาชิกสหภาพฯ ขอให้สมาชิกสภาพทำตามมติของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) คือ 1.ขอให้สมาชิกสหภาพฯ ที่เป็นกรรมการสหภาพจำนวน 3-5คน ปฎิบัติการไล่ล่ารัฐมนตรีเพื่อยึดคืนอำนาจอธิปไตยตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม -21 พฤษภาคม 2557 และ 2.หากข้อเสนอของมวลมหาประชาชนยังไม่ได้รับการตอบสนองให้สมาชิกสหภาพฯการบินไทย จำนวน 15,000 คน ลาหยุดงานพร้อมเพรียงกัน (ที่มา มติชนออนไลน์, May 20, 2014)
มิ.ย.2557 สหภาพฯ ยื่นหนังสือให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พิจารณาทบทวนต่อรองแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยขอให้ทาง คสช. พิจารณาทบทวน ต่อรองแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าจากการที่บริษัท ได้ใช้งบประมาณ 15,099.32 ล้านบาท ในปี 2545-2549 เพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นได้ทำสัญญาอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการ (สัญญาหลัก) กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) และได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและสถานที่ (สัญญาต่างหาก) ซึ่งมีระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน2549 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2579 ซึ่งคิดเป็นภาระที่จะต้องจ่ายสูงถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี โดยขอให้ คสช. พิจารณาเพื่อปรับปรุง พัฒนา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ (สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น., June 20, 2014)
ส.ค.2558 สหภาพฯ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการปฏิรูป สปช. ร้องเรียนเหตุถูกฝ่ายบริหารละเมิดสิทธิ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับตัวแทน สหภาพฯ 4 คน เป็นเงินถึง 326.5 ล้านบาท โดยศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2558 นั้นเป็นการละเมิดสิทธิ ของสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, August 25, 2015)
ก.พ.2560 สหภาพฯ สอบถามความคืบหน้าพร้อมกับเร่งรัดการตรวจสอบกรณี บริษัทโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์ให้กับการบินไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2548 เนื่องจากห่วงว่าการตรวจสอบจะล่าช้า และทำให้เกิดผลเสียตามมาหลายๆ ด้าน (ที่มา MGR Online, February 19, 2017)
เม.ย.2560 สหภาพฯ เรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้ ม. 44 ปลดบอร์ดยกชุด หลังบริหารผิดพลาด ส่อไม่โปร่งใส ชี้ผลงานไม่ควรอยู่ต่อ (ที่มา MGR Online , April 18)
ก.ค.2562 สหภาพฯ คัดค้านการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท เกรงว่าจะเป็นการสร้างหนี้เพิ่มให้กับองค์กร (ที่มา โพสต์ทูเดย์,July 15, 2019)
มี.ค.2563 สหภาพฯ ออกแถลงการณ์ ลดจำนวนรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการใหญ่ ที่มีมากเกินความจำเป็น รวมถึงตัดค่าน้ำมันรถ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายบริษัทฯในช่วงที่การเงินขาดสภาพคล่อง จากปัญหา”โควิด-19” เตรียมยื่น บอร์ด-คมนาคม-คลัง และ คนร.พิจารณา (ที่มา MGR Online, March 17, 2020)
พ.ค. 2563 สหภาพฯ ให้ข้อมูลและหลักฐานความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับขบวนการจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่าย (เอเยนต์) ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การบินไทยได้รับเงินคาตั๋วโดยสารแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุน (ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, May 07, 2020)
พ.ค.2563 สหภาพฯ ยื่นหนังสือขอนายกฯ ร่วมตรวจสอบแผนฟื้นฟูองค์กร-การใช้เงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท และคัดค้านการแปรรูปบริษัทฯ ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจของบริษัทฯ ออกจากกันหรือมีผลให้ บริษัท การบินไทย พ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ (ที่มา เว็บไซต์สยามรัฐ ,May 08, 2020)
ท้ายสุด ต้องไม่ลืมว่า โจทย์ของการบินไทย ซึ่งถูกวิเคราะห์โดยCAPA Centre for Aviation บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินระดับโลก ระบุว่า การบินไทยมีโครงสร้างการบริหารที่อ่อนแอ เทคโนโลยีล้าหลัง มีเครื่องบินหลายรุ่น ภาระการซ่อมบำรุง บริหารสายการบินในเครือไม่มีประสิทธิภาพ
ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งจลาจลและการรัฐประหาร มีเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นที่ไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวลังเลที่จะมาเที่ยวไทย
ทั้งนี้ การบินไทยต้องเจอการแข่งขันกับสายการบินประจำชาติของประเทศอื่นๆ ที่พยายามปรับปรุงบริการ เทคโนโลยี ซื้อเครื่องบินใหม่ และการเข้ามาแบ่งชิงตลาดของสายการบินจากชาติอาหรับ
และสุดท้ายแต่ยังไม่สิ้นสุดก็คือต้องไม่ลืมว่า ประเด็น ใครทำการบินไทยตกระกำลำบากอยู่ตอนนี้ถูกจุดขึ้นมา เพราะคำถามว่า “เราควรต้องอุ้มการบินไทยหรือไม่”
หมายเหตุ รวบรวมเหตุการณ์จากข่าวที่เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง