ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน แต่ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศของภูมิภาคนี้กำลังซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง จากสภานการณ์เศรษฐกิจจภายในประเทศของจีนและปัญหาภายในประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียน
บทความของบลูมเบิร์กระบุว่า นอกจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในจีนให้เกิดการชะลอตัวลง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นของไทยในปีนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยของคนจีนเช่นกัน เนื่องจากการเดินทางมาท่องเที่ยวทำให้คนจีนต้องใช้เงินมากขึ้นในการเดินทาง ประกอบกับอุบัติเหตุหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับคนจีนนับตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้คนจีนชะลอการเดินทางมายังไทย
ขณะที่ในอินโดนีเซีย เมืองท่องเที่ยวอย่างบาหลีก็ประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวจากจีนลดน้อยลงเช่นกัน
นูราห์ วิจายา ผู้อำนวยการฝ่ายการประชาสัมพันธืการท่องเที่ยวกล่าวว่า 'ปัญหาภายในประเทศอย่างสภาพการจราจรที่ติดขัดนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนใช้เวลาในบาหลีและจ่ายเงินในการท่องเที่ยวบาหลีลดน้อยลง'
กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า 'สถานการณ์เช่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2020 หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังดำเนินต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง'
การขยายตัวของชนชั้นกลางของจีนในช่วงทศวรรษที่ผ่านทำให้ในตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกมีคนจีนเป็นนักท่องเที่ยวหลัก คนจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศกว่า 131 ล้านครั้งในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2010 ที่มีการเดินทางท่องเที่ยวของคนจีนเพียงแค่ 57 ล้านครั้ง
รายงานของ McKinsey ในปี 2017 ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะเป็นจุดหมายปลายทางแรกของนักท่องเที่ยวจีนที่พวกเขาเลือกเดินทาง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลงแต่สำหรับประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์แล้วกลับมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเยือนมากขึ้น โดยตัวเลขการท่องเที่ยวของชาวจีนในมาเลเซียช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 6.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.55 ล้านคนเมื่อเทียบกับสถิติปีก่อนหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง