ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลัง ชี้แจงรัฐบาลจะไม่จบความช่วยเหลือ ปชช.-ผู้ประกอบการ ยืนยันเตรียมความช่วยเหลือระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจและระยะยั่งยืนไว้แล้ว

ในงานแถลงข่าวการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลมีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือทุกฝ่ายของประเทศตั้งแต่ประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เพิ่งเริ่มดำเนินการแค่ตอนมีโควิด-19 แต่ช่วยกันมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่หลายฝ่ายได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นายอุตตม กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศได้รับผล กระทบอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาด จึงทำให้รัฐบาลต้องทยอยออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ที่กำหนดวงเงินกู้และกรอบมาตรการการเยียวยาวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท หรือมีชื่อเต็มๆ ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

รมว.คลัง ชี้แจงว่าที่ผ่านมาก่อนที่จะมี พ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลพยายามใช้เงินช่วยเหลือในกรอบงบธรรมดาแล้วแต่ไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ออกมา พร้อมอยากให้ประชาชนมองไปที่ความสำคัญและสิ่งที่ พ.ร.ก.นี้สามารถช่วยเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระในโครงการเราไม่ทิ้งกันซึ่งแจกจ่ายเงินแล้วทั้งสิ้น 15 ล้านราย การร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อจ่ายเงินเยียวยาฝั่งเกษตรกร รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) ผ่านวงเงินช่วยเหลือซอฟต์โลน วงเงิน 500,000 ล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และวงเงินรักษาเสถียรภาพทางระบบการเงินของประเทศอีก 400,000 ล้านบาท 

"ให้มองว่า พ.ร.ก.กู้เงิน ก็คือ พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน" อุตตม กล่าว

นายอุตตมชี้แจงว่ามาตรการระยะต่อไปที่กระทรวงการคลังรวมไปถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนไว้จะเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป ทั้งยังจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลประชาชนที่กระทรวงฯ มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ ของประชาชน

คลัง แถลงเราไม่ทิ้งกัน

พร้อมกันนี้เหล่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังออกมาชี้แจงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยทั้งฝั่งประชาชนและผู้ประกอบการ อาทิ ธนาคารออมสินที่ดำเนินการเพิ่มสภาพคล่องต่อเนื่องหลังจากการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ด้วยการเพิ่มระยะเวลาการพักหนี้ต่อเนื่องอีก 2 ปี โดยลูกหนี้สามารถเลือดชำระดอกเบี้ยในสัดส่วนร้อยละ 50 - 100 ได้ตามความสามารถ อีกทั้งถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ได้ดีต่อเนื่อง ก็ยังจะได้ดอกเบี้ยคืนอีกร้อยละ 20

พร้อมกันนี้ ออมสินชี้ว่าธนาคารยังเตรียมสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 40,000 ล้านบาทรองรับความจำเป็นในการใช้เงินหลายมิติของประชาชน ได้แก่ 1.สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ 2.สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ 3.สินเชื่อคลายกังวล (ช่วยเรื่องเงินสนับสนุนผู้ปกครองกับค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาบุตร) และ 4.สินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและการท่องเที่ยว

ขณะที่ฝั่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เตรียมเม็ดเงินเยียวยาเพิ่มเติมอีกราว 170,000 ล้านบาท ผ่าน 3 โครงการสินเชื่อกู้ยืม ได้แก่ 1.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการปล่อยกู้ให้เกษตรกรไม่เกิน 50,000 ล้านบาท 2.สินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3.สินเชื่อ Jump Start วงเงินรวมสูงที่สุดถึง 100,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับฝั่งกรมต่างๆ ภายใต้กระทรวงการคลัง อาทิ กรมสรรพากรที่ชี้ว่าปัจจุบันสิ่งที่กรมฯ พยายามทำให้ได้มากที่สุดคือการรักษาสภาพคล่องของประชาชนชนและบริษัทเอกชน ผ่านการเลื่อนการนำส่งภาษีทั้งฝั่งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งคิดเป็นเงิน 12,000 และ 80,000 ล้านบาทตามลำดับ

ทั้งยังเร่งจ่ายเงินภาษีบุคคลธรรมดาคืนให้กับประชาชน ในวงเงินรวม 28,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 95 จากจำนวนประชาชนที่ยื่นเอกสารขอเงินคืนมาแล้วทั้งหมด ขณะที่เม้ดเงินคืนในฝั่งนิติบุคคลคิดเป็นเงิน 27,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้กรมสรรพากรยังมีนโยบายเพิ่มเงินในมือประชาชนผ่านการลดอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 1.5 และเลื่อนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการออกไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;