องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดทำคู่มือชั่วคราว (Interim Guidance) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 โดยปรับปรุงจากฐานข้อมูลการปฏิบัติและรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome) ที่แพร่ระบาดในหลายประเทศเมื่อปี 2558-2559 และมีต้นตอจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน
WHO ระบุชัดเจนว่า ระบบสาธารณสุขในหลายประเทศจะไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ทั้งหมดได้ แต่การกักตัวผู้ป่วยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ใช่ผู้มีอาการปอดอักเสบหรือหายใจหอบ สามารถพักฟื้นตัวเองได้ที่บ้าน หรือศูนย์พยาบาลชั่วคราวที่มีพื้นที่สำหรับกักตัวผู้ป่วยอย่างเพียงพอ เช่น โรงแรมที่ปรับใช้เป็นสถานดูแลผู้ป่วยชั่วคราว หรือโรงยิมขนาดใหญ่ที่มีการกั้นสัดส่วนหรือเว้นระยะห่างระหว่างเตียงผู้ป่วยมากกว่า 1 เมตร
ส่วนผู้ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้มีอาการป่วยเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน กลุ่มต่อมา คือ สตรีมีครรภ์และทารก
จากข้อมูลสถิติของ WHO ที่อัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2563 พบว่า 81 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ ไอ คัดจมูก ปวดเมื่อยเนื้อตัว ล้า เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ แต่บางรายอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือเวียนศีรษะร่วมด้วย แต่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ทั้งชายและหญิง สามารถพักฟื้นรอให้อาการดีขึ้นเองได้ที่บ้าน และแพทย์ต้องจัดยาหรือให้การรักษาให้เหมาะสมกับอาการ เช่น กรณีมีไข้ก็ให้ยาลดไข้ แต่ต้องกำชับให้ผู้ป่วยหรือสมาชิกครอบครัวผู้ป่วยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคู่มือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
หากผู้ที่ป่วยเล็กน้อยในตอนแรกมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น หายใจหอบ หายใจลำบาก หายใจถี่ หรือไอรุนแรงจนไม่สามารถพักผ่อนได้ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่ามีอาการปอดอักเสบ หรือทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบตามมาหรือไม่ เพราะหากมีอาการของโรคเหล่านี้เกิดขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะปอดอักเสบรุนแรง และระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS: Acute Respiratory Distress Syndrome) ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ 'ภาวะติดเชื้อ' และ 'อวัยวะภายในล้มเหลว' ได้
ข้อมูลของ WHO ระบุว่า เด็กที่มีอาการปอดอักเสบ จะหายใจถี่กว่าปกติด้วยอัตราแตกต่างกันตามช่วงอายุ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนจะหายใจมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ครั้งต่อนาที ส่วนเด็กอายุ 2-11 เดือน อัตราการหายใจมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ครั้งต่อนาที เด็กอายุ 1-5 ปี อัตราหายใจมากกว่าหรือเท่ากับ 40 ครั้งต่อนาที ส่วนผู้ใหญ่จะมีอัตราการหายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อนาที
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อที่พบทั้งหมด และผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่อีก 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ มีอาการเข้าขั้นวิกฤต ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้แชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในคู่มือการรักษาพยาบาลชั่วคราวของ WHO ไม่ได้ระบุว่า ต้องใช้ตัวยาหรือขั้นตอนการรักษาแบบใด แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินอาการของแพทย์
ขณะเดียวกัน ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย จะสามารถดีขึ้นในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างพักฟื้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ และใช้ยารักษาตามอาการ
คู่มือของ WHO ระบุว่า การดูแลผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างรอดูอาการ รวมถึงผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าป่วยด้วยโรคโควิด-19 แต่มีอาการไม่รุนแรง ใช้วิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาและพักฟื้นตัวเอง 'แบบเดียวกัน' โดยขั้นตอนแรก คือ การกักบริเวณผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ไม่ให้ออกไปยังที่สาธารณะเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าจะได้รับผลยืนยันจากห้องแล็บอย่างน้อย 2 ครั้งว่าผลตรวจ 'เป็นลบ' ซึ่งแปลว่าปลอดเชื้อแล้ว
กรณีกักตัวที่บ้าน ต้องแยกห้องให้ผู้ป่วยอยู่เพียงลำพัง แต่ต้องเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงแยกข้าวของเครื่องใช้สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออย่างเด็ดขาด ต้องไม่ใช้ปะปนหรือใช้ร่วมกับสมาชิกคนอื่นในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ช้อนส้อม สบู่ แปรงสีฟัน แก้วน้ำ จานชาม ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว
หากผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อต้องใช้ห้องครัวหรือห้องน้ำร่วมกันกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว จะต้องทำความสะอาดพื้นผิววัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนเครื่องเรือนต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง
นอกจากนี้ยังต้องจำกัดจำนวนคนดูแลผู้ป่วย โดยเลือกผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงที่สุดเพียงคนเดียวในครอบครัวมารับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่เชื้อจะติดต่อไปยังคนอื่นๆ เนื่องจากผลวิจัยบ่งชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีระยะรับเชื้อ (viral shedding) นานถึง 37 วัน แม้ผู้ติดเชื้อจะไม่ได้แสดงอาการป่วยออกมาให้เห็นแล้วก็ตาม
ผู้ดูแลจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งถุงมือ หน้ากากอนามัย แว่นตา ทุกครั้งที่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อจะต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ และต้องสวมหน้ากากทางการแพทย์ที่สามารถป้องกันละอองฝอยน้ำลาย น้ำมูกและเสมหะได้ โดยจะต้องสวมให้หน้ากากคลุมทั้งปากและจมูกอย่างมิดชิด
เมื่อถอดหน้ากากอนามัยทิ้ง จะต้องม้วนเก็บส่วนที่สัมผัสกับน้ำลายหรือละอองฝอยของน้ำมูกหรือเสมหะให้อยู่ทางด้านใน และต้องทิ้งขยะติดเชื้อเหล่านี้แยกจากขยะทั่วไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดเก็บและกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธีและไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อ
ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่สาธารณะหรือเข้าไปในพื้นที่ปิดและมีคนจำนวนมากอย่างน้อย 14 วัน เพื่อป้องกันการระบาดเพิ่มเติม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: