ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยชนะ-ณัฐชา' เผยทราบจาก 'สุรเชษฐ์' สืบพบ 'ลุงเปี๊ยก' ถูกถุงดำคลุมหัว-บังคับรับสารภาพ รออาการดีขึ้นค่อยสอบถามเพิ่มเติม ด้าน กมธ. จ่อหารือมาตรการป้องกันเหตุเกิดซ้ำ

วันที่ 18 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ร่วมกันแถลงข่าว หลังเปลี่ยนกำหนดการจะเดินทางเข้าพบ ปัญญา คงแสนคำ หรือ 'ลุงเปี๊ยก' ผู้เสียหายจากกรณีเกือบกลายเป็นแพะรับโทษแทน 5 เยาวชนที่ก่อเหตุรุนแรงทำร้าย บัวผัน ตันสุ จนถึงแก่ชีวิต 

โดยเดิมทีทั้งสองตั้งใจจะไปถามว่า 'ลุงเปี๊ยก' ถูกทำร้ายบังคับให้รับสารภาพหรือไม่ แต่ล่าสุดได้รับแจ้งจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ว่าลุงเปี๊ยกถูก กระทำทรมานจากตำรวจ สภ. อรัญประเทศ และมีรองผู้กำกับสืบสวนรับทราบ 

ชัยชนะ ระบุว่า การกระทำของตำรวจได้ฝ่าฝืน พ.ร.บ. อุ้มหาย มาตรา 5 ที่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำหรือทรมาน บังคับขู่เข็ญ ให้ผู้ใดยอมรับความผิด ซึ่งมีโทษจำคุก 1-15 ปี และ ปรับ 1-3 แสนบาท ล่าสุดมีการแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจคนนี้แล้วพร้อมกับแจ้งความรองผู้กำกับสืบสวนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีรับทราบแต่ไม่ห้าม ซึ่งกรรมาธิการยังคงติดตามในคดีนี้เนื่องจากสังคมให้ความสนใจ อีกครั้งทราบข้อมูลมาว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังสั่งดำเนินคดีย้อนหลัง 5 เยาวชนซึ่งมีอยู่ 5 คดี

ชัยชนะ ยังกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้ไปเยี่ยมลุงเปี๊ยก เนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาในฐานะผู้ป่วยที่โรงพยาบาลธัญญาลักษณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากลุงเปี๊ยกมีอาการติดแอลกอฮอล์ หรือจะรอให้อาการดีขึ้นจะเข้าพบอีกครั้งหนึ่งว่าพอใจในกระบวนการยุติธรรมของตำรวจหรือไม่ หรือต้องการได้รับการเยียวยาอะไรบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการต่อไป

พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปราบปรามยาเสพติดที่เป็นสาเหตุของเหตุการณ์นี้อย่างเด็ดขาด ซึ่งปัญหาทุกวันนี้มาจากลูกฆ่าพ่อลูกค้าแม่ลูกค้าใหญ่ และปัญหาการพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นเหตุก่ออาชญากรรมในสังคม อย่างกรณีลุงเปี๊ยก พร้อมฝากย้ำตำรวจในการทำคดีต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเรียบร้อยอย่าเร่งรีบเพื่อไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ถูกลงโทษโดยไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่เกิดความเป็นธรรม

"ฝากถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากวันไหน เจ้าหน้าที่คนใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้มีความผิดที่ทำให้มีการปิดสำนวน และกรณีดาบตำรวจและผู้กำกับสืบสวนมีส่วนใช้ถุงดำคลุมลุงเปี๊ยก ขับรถ หรือเดินพาเข้าห้องไปทรมาน ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นประชาชนจะพึ่งตำรวจไม่ได้" ชัยชนะ กล่าว

ชัยชนะ เปิดเผยด้วยว่า จากที่พูดคุยกับ รอง ผบ.ตร. มีตำรวจที่คลุมถุงดำเพียงคนเดียว แต่รองผู้กำกับสืบสวนรับทราบ หากลุงเปี๊ยกฟื้นความจำและทราบว่ามีตำรวจคนอื่นอีกคุมถุงดำรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็พร้อมที่จะรับข้อมูลเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนที่ลุงเปี๊ยกให้การกลับไปกลับมาเรื่องตำรวจคุมถุงดำนั้นเชื่อว่าจะไม่ทำให้ตำรวจพ้นจากความผิด เนื่องจากตำรวจมีการยอมรับในการกระทำ 

สำหรับการขอพิจารณาโทษให้เยาวชนเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ในคดีนี้ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เนื่องจากมาตรา 73, 74 และ 75 ของประมวลกฎหมายอาญา เปิดให้เยาวชนพอสมควร หากมีการแก้กฎหมายในอนาคตจะต้องแก้ในส่วนว่ากระทำความผิดเช่นไรที่จะต้องกำหนดว่าอายุน้อยกว่า 18 ปีเข้าสถานพินิจ แต่ถ้ามีการไตร่ตรองไว้ก่อนต้องออกจากสถานพินิจไปคุมขังที่เรือนจำกลาง ไม่เช่นนั้นผู้ที่คิดจะทำร้ายผู้อื่นอาจจะใช้เยาวชนเป็นเครื่องมือ เนื่องจากโทษเบา กลายเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่กระทำความผิด 

ด้าน ณัฐชา กล่าวถึงกฎหมายคุ้มครองเยาวชน กับคดีดังกล่าวอาจเป็นการไม่สมควรแก่เหตุ ทางกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือเรื่องของบทลงโทษ ซึ่งจากการหารือในเบื้องต้นข้อสรุปยังไม่ถึงขั้นแก้กฎหมาย และจากปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากกรณีที่เยาวชนกระทำความผิดและทำจนคุ้นชินแต่ไม่ได้เคยรับโทษ หรือมีการใช้กลไกบางอย่างช่วยเหลือ จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง 

ณัฐชา ย้ำว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่ายังมีอีกกี่เคส ที่ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับโทษ และมีกระบวนการของเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ไม่ว่าการโยนความผิดให้บุคคลที่เป็นโรคจิต หรือโยนความผิดให้ผู้มีฐานะยากจน หรือโยนความผิดให้คนที่ไม่สามารถต่อสู้ทางคดีได้ 

"ถ้าไม่มีพยานกล้องวงจรปิดลุงเปี๊ยกอยู่ในคุกไปนานแล้ว กลายเป็นจับผู้บริสุทธิ์ไปคุมขังแทนผู้กระทำความผิดที่แท้จริง กังวลกับกลุ่มคนเร่ร่อน กลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ที่อยู่บริเวณจุดต่างๆ อาจถูกกระทำความรุนแรงจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือผู้ที่พยายามกลั่นแกล้ง ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบและสร้างความรุนแรง เมื่อเขาตอบโต้กลายเป็นเขาผิด"

ณัฐชา ยังระบุว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยอมรับกับกรรมาธิการว่าทั่วประเทศมี 11 แห่งที่มีบุคคลเร่ร่อนอยู่ในการดูแลจำนวน 5000 คน ซึ่งอาจมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวอีกนับ 10,000คนเป็นอย่างป้าบัวผัน ซึ่งเคสนี้เป็นตัวอย่าง แต่ป้าบัวผันถึงแก่ชีวิตและยังมีอีกหลายคดีที่อาจไม่ถึงแก่ชีวิต และไม่ได้เป็นข่าว