ไม่พบผลการค้นหา
'รมว.ดีอีเอส' เปิดสถิติเชิงลึก พบผู้แชร์ข่าวปลอมมากกว่า 23 ล้านคน พบอายุ 18-24 ปี เป็นผู้โพสต์และแชร์ข่าวปลอมมากที่สุด เผยพบกลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมวันที่ 1 พ.ย 62 ถึง 23 ธ.ค 64 มีจำนวน ผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1% 

ชัยวุฒิ ประชุมสภา  -91DBC9656C7A.jpeg

สำหรับกลุ่มอาชีพที่สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3% และผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8% 

ขณะที่ กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่ กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0% ตามมาด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4% และกลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0% 

“ทั้งนี้ เราต้องขอขอบคุณสำนักข่าว และอินฟลูเอนเซอร์หลายราย ที่สนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชน และสาธารณะในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง” ชัยวุฒิกล่าว 

โดยในรอบปี 2564 มีรายชื่อสำนักข่าว และ Influencer ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมากสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ไทยรัฐ จส.100 มติชน บางกอกโพสต์ FM91 Trafficpro ข่าวจริงประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจ  News.ch 7 โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก ตามลำดับ 

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 2562 – 23 ธ.ค. 2564) มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่อง แบ่งเป็น โดยหมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง 

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบ Trend ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2563 - 23 ธ.ค. 2564 พบว่า หมวดนโยบาย มีแนวโน้มสูงสุด มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77%

"โดยพบว่าข่าวปลอมสูง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชน มียอดการพูด การสนทนา การโพสต์ บทความ ถึงนโยบายเยียวยา การแชร์ข้อมูลความถี่สูงขึ้น" อัจฉรินทร์กล่าว  

อัจฉรินทร์กล่าวอีกว่า รองลงมาเป็น หมวดหมู่สุขภาพ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 29,329 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 25.87% พบว่าข่าวปลอมสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน โดยคาดการณ์ในอนาคต มีแนวโน้มว่า หากมีการพบโรคระบาดใหม่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพการรับประทาน การรักษาด้วยตนเองมาบิดเบือนและแชร์ข้อมูล เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้อีก 

ขณะที่ หมวดหมู่เศรษฐกิจ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 15,966 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 14.09% พบข่าวบิดเบือน และข่าวปลอมในช่วงที่มีการปรับ เปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ มีแนวโน้มที่จำนวนการพูดถึงเฉลี่ย 15,042 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 13.27% โดยพบข่าวปลอมสูงในบางช่วง ในสถานการณ์วิกฤต ช่วงเกิดภัยพิบัติต่างๆ กระแสข่าวเกี่ยวกับมีผู้ประสบภัยพิบัติของทั้งในและต่างประเทศ 

อัจฉรินทร์กล่าวอีกว่า ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง เปิดเผยผลการปฏิบัติงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคงสำนักงานตำรวจชาติ หรือ ANSCOP ในรอบ 8 เดือน ( 1 พ.ค. จนถึง ปัจจุบัน) พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย หรือ AFNC ได้ส่งโพสต์ที่ตรวจพบและตรวจสอบแล้วได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน จำนวน 1193 ราย (Urls) มีโพสต์ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการพิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดแล้ว จำนวน 287 ราย (Urls) ซึ่งมีผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว จำนวน 53 คดี ซึ่งอยู่ในระหว่างสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และทำสำนวนคดี ส่งฟ้องตามกระบวน 

การยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ดำเนินการตักเตือน ให้แก้ไขข่าวหรือลบโพสต์ จำนวน 36 ราย ตามที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่จะทำได้ในกรณีข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน ที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 ที่ไม่รุนแรง อีกทั้งยังได้ขึ้นบัญชี ที่ต้องเฝ้าติดตามผู้ที่มีพฤติการณ์โพสต์ข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือน จำนวน 906 ราย (Urls)          

"หากพบมีการโพสต์ข่าวหรือข้อมูลปลอม ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายทันที" อัจฉรินทร์กล่าว

อัจฉรินทร์กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฝากความห่วงใยให้แก่พี่น้องประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ระมัดระวัง อย่าให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสมือนกับ 'การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน' แต่หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำความผิด ทั้งการหลอกลวงฉ้อโกง การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ปลอม หรือบิดเบือน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจของประเทศ จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และขอฝากข้อคิดสำหรับพี่น้องประชาชน ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่า ขอให้ท่านระลึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อใช้สื่ออนไลน์ 'ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน' ทุกท่านจะปลอดภัยจากการถูกฉ้อโกง หลอกลวง บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างแน่นอน 

“ในปีหน้า เราจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้ เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ต่อต้านการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย และรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร กลุ่ม อสม. และกลุ่ม อสด.” อัจฉรินทร์กล่าว