ไม่พบผลการค้นหา
90 ปีประชาธิปไตย รัฐมนตรี/กระทรวงไหน ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นอะไรมากที่สุด
  • กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุด โดยนับเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคลคือ กระทรวงมหาดไทย 32 ครั้ง กระทรวงคมนาคม 24 ครั้ง กระทรวงพาณิชย์ 20 ครั้ง กระทรวงการคลัง 18 ครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 13 ครั้ง และกระทรวงอุตสาหกรรม 11 ครั้ง 
  • รัฐมนตรีที่ยังไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยมี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 
  • ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะ 9 ครั้งพบว่า การบริหารไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 41 รองลงมาคือ การทุจริต ร้อยละ 23 ตามมาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ ร้อยละ 9
  • การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล ทั้ง 36 ครั้งที่ผ่านมาพบว่า การบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 34 รองลงมาคือ การทุจริต ร้อยละ 27 ตามมาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ ร้อยละ 24
  • กระทรวงที่ถูกอภิปรายประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย 18 ครั้ง ประเด็นการทุจริตคือ กระทรวงมหาดไทย 21 ครั้ง ส่วนประเด็นการใช้อำนาจโดยมิชอบคือ กระทรวงมหาดไทย 14 ครั้ง  ประเด็นการดำเนินนโยบายผิดพลาดคือ กระทรวงการคลัง 4 ครั้ง และประเด็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ คือ กระทรวงกลาโหม 3 ครั้ง
ประชุมรัฐสภา สภา รัฐสภา -2138-4B32-B069-A369BD55F036.jpeg

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะ 10 คน ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้แก่

  1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  2. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  3. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  4. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  5. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  6. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  7. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  8. จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  9. สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  10. นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  11. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

Rocket Media Lab ชวนสำรวจข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในวันที่ 2 ส.ค. 2478 ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นการเปิดอภิปรายเพื่อให้มีการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ในสภา ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 44 เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่านักการเมืองไทยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นอะไรมากที่สุด และมีประเด็นอะไรน่าสนใจอีกบ้าง 


อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2478-ปัจจุบัน

จากข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นตลอด 90 ปี ที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมทั้งหมด 44 ครั้ง (ยังไม่นับรวมครั้งล่าสุดที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565) พบว่าเป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะ จำนวน 9 ครั้ง และแบบรายบุคคล จำนวน 36 ครั้ง ซึ่งในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในเดือนมิถุนายน 2536 มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งสองแบบในคราวเดียว โดยพรรคชาติไทยของประมาณ อดิเรกสาร ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล และพรรคชาติพัฒนาของชาติชาย ชุณหะวัณ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ โดยอาศัยข้อ 39 (2) ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535 กล่าวว่า “ขอให้รวมระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องเดียวกัน ทำนองเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน” โดยฝ่ายค้านอ้างว่าทั้ง 2 ญัตติมีเนื้อหาการอภิปรายไม่เหมือนกันจึงยื่นขอเปิดอภิปรายทั้งสองแบบ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรรับรองญัตติทั้งสอง

ในจำนวนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะทั้ง 9 ครั้ง พบว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง 7 ครั้ง  และไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2481 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา อันเกิดมาจาก ขุนชำนิอนุสาส์น ผู้ยื่นขอเปิดอภิปรายตัดสินใจถอนญัตติในวันอภิปรายทำให้ไม่มีการอภิปรายเกิดขึ้น และในปี 2530 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ อันเกิดจากในวันอภิปราย มีผู้ขอถอนญัตติจำนวน 15 คน ทำให้ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมีจำนวนผู้รับรองไม่ถึง 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติต่อไปได้

ขณะที่ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคลทั้ง 36 ครั้ง จะพบว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง 33 ครั้ง ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2523 สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภา ทำให้ไม่มีการอภิปรายเกิดขึ้น ต่อมาในปี 2527 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ประมาณ อดิเรกสาร ผู้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ออกมาชี้แจงญัตติ ทำให้ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจถูกตีตกไป และในปี 2528 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของประมาณ อดิเรกสาร ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีไม่ชอบตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521

เมื่อพิจารณาผลการลงมติจะพบว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะ มีผลการลงมติไว้วางใจ 5 ครั้ง ผ่านญัตติในที่ประชุม* 1 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยในที่ประชุมมีมติให้ผ่านระเบียบวาระ* และไม่มีการลงมติ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดในปี 2538 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในวันที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ไม่มีการลงมติเกิดขึ้น

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล มีผลการลงมติ ไว้วางใจ 32 ครั้ง และผ่านญัตติในที่ประชุม 1 ครั้ง ในปี 2526 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ โดยสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ผ่านระเบียบวาระตามมติในที่ประชุมสภาตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 

โดยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 44 ครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะมากที่สุด คือ รัฐบาลชวน หลีกภัย 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่งนายกฯ 2 สมัย, รัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนา 2 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 5 สมัย และรัฐบาลของถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลละ 1 ครั้งเท่ากัน

ส่วนรัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคลมากที่สุด คือรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ 8 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 3 สมัย, รัฐบาลชวน หลีกภัย 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย เท่ากับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย และรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ 3 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 1 ครั้ง 

หากรวมทั้งแบบทั้งคณะและรายบุคคล จะพบว่า รัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุดก็คือรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ 9 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 3 สมัย รองลงมาคือรัฐบาลชวน หลีกภัย 7 ครั้ง (เนื่องจากในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2536 มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 แบบ ในคราวเดียวกัน ทำให้เวลานับจำนวนครั้งแบบแยกทั้งคณะและรายบุคคลต้องแยกการยื่นญัตติครั้งนี้ออกเป็น 1 ครั้งเสมอ) จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัยและรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้งจากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย 

หากพิจารณาจากกระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุด โดยนับเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคล จะพบว่า กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 32 ครั้ง กระทรวงคมนาคม 24 ครั้ง กระทรวงพาณิชย์ 20 ครั้ง กระทรวงการคลัง 18 ครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 13 ครั้ง และกระทรวงอุตสาหกรรม 11 ครั้ง ในขณะที่รัฐมนตรีที่ยังไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยมี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งทั้ง 4 กระทรวงเพิ่งก่อตั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรายบุคคล จะพบว่า ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนักการเมืองที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด 6 ครั้ง แบ่งเป็นขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 3 ครั้ง เมื่อปี 2536 และ 2537, ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ครั้งในปี 2540 และขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 ครั้ง ในปี 2545 และปี 2547 ตามลำดับ 


อภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายประเด็นอะไรมากที่สุด

จากเนื้อหาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 44 ครั้งที่ผ่านมา Rocket Media Lab ได้จำแนกหมวดหมู่ประเด็นออกเป็น  1. การบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ 2. การใช้อำนาจโดยมิชอบ 3. การทุจริต 4. การดำเนินนโยบายผิดพลาด และ 5. การคุกคามสิทธิเสรีภาพ

หากพิจารณาจากการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะทั้ง 9 ครั้ง ที่ผ่านมา จะพบว่าการบริหารไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 41 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ณ วันที่ 12 ต.ค. 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา มีการอภิปรายถึงการไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ละเลยการดำเนินนโยบายที่ควรทำ และไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรครินเดอร์เปสต์และบาโบนในสัตว์พาหนะของราษฎรได้ 

รองลงมาคือ การทุจริต ร้อยละ 23 ซึ่งถูกพูดถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2530 ในสมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ในประเด็นที่รัฐมนตรีลงนามในใบอนุโมทนาบัตรและใบเกียรติคุณรับรองการบริจาคเงินอันเป็นเท็จ และใช้หลักฐานเท็จขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระมหากษัตริย์

ตามมาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือคนอื่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ ในวันที่ 19 พ.ค. 2490 ในสมัยรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยมีรายละเอียดเรื่องการโยกย้ายข้าราชการตามอำเภอใจ และประเด็นที่องค์การสรรพาหารนำเงินไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากสภาอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.งบประมาณ

การดำเนินนโยบายผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายที่เคยแถลงต่อรัฐสภา แต่ในการดำเนินตามนโยบายนั้นกลับไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.5  โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2533 ในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในประเด็นการไม่ปฏิรูปที่ดินและออกเอกสารสิทธิ์เพื่อให้ประชาชนมีที่ทำกิน และการเก็บค่าผ่านทาง กรณีเส้นทางเข้าภาคอีสานทั้ง 4 ด่านสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

และการคุกคามสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุกคามประชาชนผ่านอำนาจหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีสัดส่วนร้อยละ 13.5 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2533 สมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างสันติ กรณีต่อต้านการทำนาเกลือในลุ่มน้ำเสียว และการสร้างเขื่อนปากน้ำมูล

ขณะที่เมื่อพิจารณาจากการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล ทั้ง 36 ครั้งที่ผ่านมา จะพบว่า การบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ เป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด สูงถึงร้อยละ 34 โดยถูกพูดถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2517 ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายประเด็นการไม่สามารถรักษานโยบายทางการเงิน จากกรณีการเร่งรัดพิมพ์ธนบัตรกับบริษัทโธมัส เดอลารู 4,000 ล้านบาท

รองลงมาคือ การทุจริต มีสัดส่วนร้อยละ 27 ถูกพูดถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2517 ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายประเด็นรับสินบนในการเปิดประมูลโรงเหล้า 100 ล้านบาท

ตามมาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2517 สมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายในประเด็นการใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองในข้าราชการประจำ กรณีการย้ายสวัสดิ์ อุทัยศรี ออกจากอธิบดีกรมธนารักษ์ เพราะเป็นผู้เอาหลักฐานการทุจริตไม้เถื่อนให้กับหนังสือพิมพ์ ส่วนเกษม ศิริสัมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และขุนทอง ภูผิวเดือน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถูกอภิปรายในประเด็นไร้สมรรถภาพในการจัดหาที่เรียนให้เพียงพอ เกิดการวิ่งเต้นและการคอรัปชั่นในวงการศึกษา และอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถูกอภิปรายในประเด็นที่รัฐมนตรีรู้เห็นเป็นใจกรณีที่กรมสรรพสามิตร่วมมือกับกลุ่มสุราทิพย์ในการขายเหล้าข้ามเขต

ประเด็นเรื่องการดำเนินนโยบายผิดพลาด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2488 สมัยรัฐบาลควง อภัยวงศ์ โดยเล้ง ศรีสมวงศ์ และอุดม สนิทวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายในประเด็นที่กระทรวงการคลังขึ้นค่าเช่าอาคาร และเรียกเก็บเงินกินเปล่ากับผู้เช่าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เกินขนาด ส่งผลกระทบกับประชาชนผู้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน

และสุดท้าย การคุกคามสิทธิเสรีภาพ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ในวันที่ 9 มิ.ย. 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกอภิปรายในประเด็นสลายการชุมนุมม็อบชาวนาที่กำแพงเพชร ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ไม่อาจถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ดังกล่าว อีกร้อยละ 6 เช่น ประเด็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2478 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา, ประเด็นเจ้าหน้าที่การทูตไทยถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จับกุมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลในวันที่ 2 มิ.ย. 2525 สมัยรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์, ประเด็นการบรรยายหัวข้อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ของกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อ 1 มิ.ย. 2553 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

และเมื่อนำเอาข้อมูลกระทรวงที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาพิจารณาร่วมกันก็จะพบว่า ในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย 18 ครั้ง ส่วนการทุจริต กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 21 ครั้ง ประเด็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 14 ครั้ง  ประเด็นการดำเนินนโยบายผิดพลาด กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงการคลัง 4 ครั้ง และประเด็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงกลาโหม 3 ครั้ง

กลับกันหากพิจารณาจากรายกระทรวงก็จะพบว่า กระทรวงมหาดไทย ซึ่งถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นเดียวกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่กระทรวงการคลัง ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพและการใช้อำนาจโดยมิชอบมากที่สุดเท่าๆ กัน ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพและการทุจริตมากที่สุดเท่าๆ กัน  และกระทรวงอุตสาหกรรม ถูกอภิปรายในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพมากที่สุด 


ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ตลอด 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 23 คน ที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 44 ครั้ง แต่ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ซึ่งจะกำหนดว่าต้องมีสมาชิกรับรองการยื่นจำนวนเท่าไหร่ถึงจะสามารถเปิดอภิปรายได้ จำนวนสมาชิกในสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่จะมีผลต่อการรับรองในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่มาของรัฐบาล

การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะ ถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยในฉบับพ.ศ. 2475 ระบุในมาตรา 26 ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณของสภาผู้แทนราษฎร (ในข้อ 24 วรรคสองแห่งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477 ระบุว่าในการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องมีสมาชิกรับรองไม่ต่ำกว่า 15 คน) 

ส่วนในฉบับพ.ศ. 2489 - 2490 ได้บัญญัติไว้ว่าการยื่นเสนอญัตติต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่ต่ำกว่า 24 คน ขณะที่ฉบับ พ.ศ. 2492 - 2495 ปรับจำนวนผู้ยื่นเสนอญัตติต้องมีสมาชิกรับรอง 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาฉบับพ.ศ. 2511 เป็นครั้งแรกที่ให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมในการรับรองญัตติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร โดยต้องมีผู้รับรองไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 ของรัฐสภา หลังจากนั้นในฉบับ พ.ศ. 2517 - 2534 ปรับให้เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรองในการเสนอญัตติเท่านั้น โดยต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแยกรูปแบบการอภิปรายไว้ชัดเจน กำหนดให้การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 

ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ปรับสัดส่วนการยื่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ โดยการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ระบุไว้ในมาตรา 151 ว่าการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะจะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรรับรอง 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล กับรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มีผลต่อการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกฝ่ายรัฐบาลมากกว่าสมาชิกฝ่ายค้าน อาจทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามที่ต้องการได้ 

ที่มาของรัฐบาลก็มีส่วนต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นกัน โดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แต่ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของสภานิติบัญญัติในการปกครอง เมื่อไม่มีกลไกของรัฐสภา จึงไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น 

ดังเช่นกรณีของถนอม กิตติขจรหลังทำรัฐประหารตัวเองใน พ.ศ. 2514 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ทำให้กฎหมายสูงสุดของประเทศในเวลานั้นคือธรรมนูญการปกครองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้มีการบัญญัติข้อกฎหมายเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นการตรวจสอบกันเองในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้ต่อมาถนอม กิตติขจรลาออกจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และมีสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่การมีอยู่ของสภานิติบัญญัติทำให้ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้ง

อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยของสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในปี 2517 โดยเป็นการอภิปราย สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาเหตุเนื่องจากในช่วงนั้นมีการคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่ สมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากถนอม กิตติขจร ลาออกเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถเปิดประชุมสภานิติบัญญัติได้ มีการคัดเลือกสภานิติบัญญัติใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการพลเรือน ประจวบเหมาะกับได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 มีบทบัญญัติในมาตรา 159 ที่ทำให้สามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ จนทำให้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสภานิติบัญญัติ


นายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

จากข้อมูลพบว่าตลอด 90 ปีที่ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 23 ครั้ง โดยมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด 4 ครั้ง แต่ขณะเดียวกันมีนายกรัฐมนตรีอยู่ 17 คนที่ยังไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบ่งออกเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร 12 คน ได้แก่

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (พ.ศ. 2475 - 2476)
  2. แปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481 - 2487, พ.ศ. 2491 - 2494 และ พ.ศ. 2500)
  3. ควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2487 - 2488, พ.ศ. 2489 และ พ.ศ. 2491)
  4. ทวี บุณยเกตุ (พ.ศ. 2488)
  5. เสนีย์ ปราโมช (พ.ศ. 2488 - 2489, พ.ศ. 2518 และ พ.ศ.  2519)
  6. ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2489)
  7. ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2512 - 2514)
  8. คึกฤทธิ์ ปราโมช (พ.ศ. 2518 - 2519)
  9. สุจินดา คราประยูร (พ.ศ. 2535)
  10. อานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2535)
  11. ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544 - 2549)
  12. สมชาย วงศ์สวัสดิ์ (พ.ศ. 2551)

นายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะรัฐประหาร 10 คน 

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (พ.ศ. 2476)
  2. แปลก พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2495 - 2500)
  3. ควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2490 - 2491)
  4. พจน์ สารสิน (พ.ศ. 2500 - 2501)
  5. ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2506 - 2512 และ พ.ศ. 2515 - 2516)
  6. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502 - 2506)
  7. สัญญา ธรรมศักดิ์ (พ.ศ. 2516 - 2518)
  8. ธานินทร์ กรัยวิเชียร (พ.ศ. 2519 - 2520)
  9. อานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ. 2534 - 2535)
  10. สุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549 - 2551)

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น โดยแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ หนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490 แต่ก็ไม่เกิดการยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย สอง รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหารแทบทั้งหมด (ยกเว้นรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490) ก็ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการยื่นขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจระบุไว้

ส่วนนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของสภาผู้แทนราษฎร แม้จะมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้อยู่ และเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ สัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาล  ก็มีผลต่อการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นกัน

ยกตัวอย่างกรณีของทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรถึง 4 ครั้ง แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะในมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดไว้ว่า ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นสมัยแรก โดยมีที่นั่งในสภาสูงถึง 326 ที่นั่ง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน ในขณะที่ในสมัยที่ 2 พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภาสูงขึ้นเป็น 375 ที่นั่ง เท่ากับว่าหากฝ่ายค้านต้องการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่ต่ำกว่า 200 คน จึงจะสามารถขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้น ฝ่ายค้านซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภารวมกันไม่เกิน 125 ที่นั่งจึงไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้ 

ด้านระยะเวลาในการทำงานของรัฐบาล และวิกฤติทางการเมืองนั้น มีกรณีที่น่าสนใจคือ รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็ตาม แต่เนื่องจากระยะเวลาดำรงตำแหน่งไม่นานนักคือ สมัยแรก 136 วัน สมัยที่สอง  27 วัน และสมัยที่สาม 169 วัน ก่อนถูกรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของสงัด ชลออยู่ จึงทำให้ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากมติสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 75 วัน

และกรณีของเปรม ติณสูลานนท์ แม้จะดำรงตำแหน่งนานถึง 8 ปี 154 วัน และรัฐบาลเคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วถึง 9 ครั้ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการยื่นขอเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2528 แต่ก็ยังถูกตีตกไปเนื่องจากญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ผู้ยื่นญัตติขอเปลี่ยนรูปแบบการอภิปรายจาก ‘นายกรัฐมนตรี’ เป็น ‘นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล’ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติว่า ญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


อภิปรายไม่ไว้วางใจมีผลแค่ไหน เมื่อบทสรุปไว้วางใจตลอด 

จากข้อมูลจะเห็นว่ายังไม่เคยมีผลลงมติไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้จะมีข้อหาที่ร้ายแรงถึงขนาดที่ฝ่ายค้านอาจโน้มน้าวให้สภาผู้แทนราษฎรในสภาร่วมโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

เหตุที่เป็นเช่นนี้ อิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายในบทความ “พูดไปสองไพเบี้ย?: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” โดยอ้างถึงงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองหลายคน แล้วสรุปว่า

“...ในระบอบรัฐสภา รัฐบาลได้รับอำนาจฝ่ายบริหารจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านการรับรองโดยสภาผู้แทน (ซึ่งต่างจากในระบอบประธานาธิบดีซึ่งรัฐบาลได้รับอำนาจโดยตรง) อำนาจฝ่ายบริหารของรัฐบาลนี้จะคงอยู่ตราบเท่าที่รัฐบาลสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ชะตาชีวิตของรัฐบาลย่อมกลับไปขึ้นอยู่กับผลการลงมติโดยสมาชิกสภาผู้แทน ด้วยเหตุนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงสร้างภาวะ ‘ลงเรือลำเดียวกัน’ (legislative cohesion) ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่ยินยอมร่วมมือกัน ผลการลงมติไม่ไว้วางใจก็อาจกลายเป็นวิกฤตของรัฐบาล และนำไปสู่การยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในที่สุดแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนเองก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย…”

อาจเรียกได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมและตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติที่รุนแรงที่สุดในการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะมีกลไกและเงื่อนไขที่สามารถนำไปสู่การถอดถอนการดำรงตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทนได้ ในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารมีสิทธิที่จะประกาศยุบสภา เพื่อล้มฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ นำไปสู่การคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ถึงอย่างนั้น รัฐธรรมนูญของไทย อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่ห้ามยุบสภาระหว่างยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจนกว่าจะมีการอภิปรายเสร็จโดยเริ่มบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดย จิรากิตติ์ แสงลี กล่าวถึงในบทความ “ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการ ‘ยุบสภา’ ในฐานะที่เป็นกลไกของระบบรัฐสภาในรัฐธรรมนูญไทย” ในหนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ในประเด็นนี้ว่า

“ข้อห้ามของการไม่ให้ยุบสภาภายหลังจากการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทย อันเป็นบทบัญญัติที่เป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่ได้มีการลอกเลียนข้อความคิดนี้จากต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดของการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีต และเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติยังประสบปัญหาเรื่องการมีมติของพรรคที่อยู่เหนือความเป็นปัจเจกในอุดมการณ์ของนักการเมือง ตระกูล มีชัย และชมพูนุท ตั้งถาวร อธิบายไว้ใน การศึกษาอนาคตและฉากทัศน์การเมืองไทยเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน : ในมิติของสถาบันการเมือง (2563) ต่อกรณีที่ไม่มีสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลคนใดลงชื่อกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านเลยว่า 

“ถึงแม้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระ ไม่ผูกมัดกับมติพรรค ซึ่งส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ หรือไว้วางใจ จะเป็นการลงคะแนนตามที่วิปของรัฐบาล และวิปพรรคฝ่ายค้านกำหนด ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นที่คาดหมายล่วงหน้าว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องลงคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐมนตรีโดยไม่ต้องพิจารณาข้อมูลจากการอภิปรายว่ารัฐมนตรีมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดในการบริหารหรือไม่ มาตรการควบคุมเสียงของวิปรัฐบาล และมติของพรรคการเมืองที่ถือเป็นกฎเหล็กในการควบคุมระเบียบวินัยในการลงมติใดๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงหุ่นยนต์ ที่ถูกโปรแกรมไว้ให้ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ห้ามทำในเรื่องใด จากพรรคการเมืองที่ตนสังกัด”

ทั้งหมดจึงนำมาสู่คำถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นกลไกในกระบวนการรัฐสภาที่ใช้ได้จริงหรือไม่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นเดียวกันนี้ในบทความ “บทบาทและสถานะของการอภิปรายไม่ไว้วางใจของการเมืองรัฐสภาในปัจจุบัน”  ในเว็บไซต์มติชน ว่า

“แม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจมีบทบาทและสถานะของมันในการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนให้เห็นความแตกต่างในทางอุดมการณ์ จุดยืนทางการเมือง และจุดยืนทางนโยบายที่แตกต่างกันของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน”

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เคยมีกลไกที่สามารถมีบทลงโทษโดยตรงต่อผู้ถูกอภิปรายหากพบความผิดจากประเด็นที่ถูกอภิปรายมีมูลพอ ในรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2540 และพ.ศ. 2550 ระบุขั้นตอนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในกรณีที่มีหัวข้อการมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะต้องยื่นคำร้องถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อประธานวุฒิสภาก่อน จึงจะสามารถเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในหัวข้อนี้ได้ โดยในระหว่างการตรวจสอบ สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

แม้ผลการลงมติจะออกมาว่า ไว้วางใจ แต่ในกระบวนการถอดถอนและดำเนินคดีหากพบว่ามีความผิดจะถูกส่งเรื่องไปศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวถูกถอดออกจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

จากข้อมูลพบว่า ถึงแม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งจะได้รับการลงมติไว้วางใจทุกครั้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อให้เกิดผลตามมา เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 19 พ.ค. 2490 แม้ผลจะออกมาว่าไว้วางใจ แต่หลังการอภิปรายนายกรัฐมนตรีและคณะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐมนตรีใหม่ ก่อนที่ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จะกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 

ในสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แม้ผลอภิปรายครั้งแรกใน พ.ศ. 2522 สภายังไว้วางใจรัฐมนตรี แต่ต่อมาในช่วงต้นปี 2523 รัฐบาลได้ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ 

นอกจากผลที่เกิดตามหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ก็ยังมีผลทางอ้อมที่เกิดก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เช่น เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2523 เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯ ในขณะนั้นประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย  ในช่วงปลาย พ.ศ. 2537 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 2 คน คือ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ และสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ทั้งสองคนลาออกก่อน ต่อมาฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ในวันที่ 17-18 พ.ค.2538 และยังไม่ทันมีการลงมติ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภา และในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ผลการลงมติจะออกมาไว้วางใจก็ตาม

สถานะเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในไทย แม้จะเป็นกลไกควบคุมฝ่ายบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญต่อความงอกงามของประชาธิปไตย แต่ในเมื่อเสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติยังถูกฝ่ายบริหาร หรือพรรคการเมืองรัฐบาลควบคุมอยู่ สถานะที่สามารถนำไปสู่การตรวจสอบและถอดถอนผู้ถูกอภิปรายตามกลไกประชาธิปไตย ถูกลดลงมาเป็นเพียงการแสดงจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ และนโยบาย ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำให้การไว้วางใจที่แท้จริงกลับไปอยู่ในมือของประชาชนแทนว่า รัฐบาลชุดนี้สมควรที่จะได้ไปต่อในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ 


ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-censure-debate-all/ 


อ้างอิง


* ผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านญัตติในที่ประชุม เพื่อผ่านระเบียบวาระ จะเกิดขึ้นจากกรณีหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วมีการขอให้ลงมติในวันเดียวกับที่มีการอภิปราย ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกำหนด ไม่ให้มีการลงมติในวันเดียวกับวันอภิปราย เว้นแต่ในที่ประชุมจะมีมติให้ผ่านระเบียบวาระเท่านั้นถึงจะทำได้ในวันเดียวกัน ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร