ไม่พบผลการค้นหา
การแสดงความคิดเห็นใน IG ของเหล่าดารานักร้องในมุมมองทางการเมืองดูเหมือนสะท้อนโครงสร้างบางอย่างของวงการบันเทิงไทย ล่าสุดมีการฝากตบ โดยนักร้องเสียงทอง ทาทายัง ออกอาการแนวล่าแม่มด ชีวิตจริงที่เลียนแบบละครที่ต้องมีการดักตบดักตี

หรือจะเป็นพีทพล ที่ยังมีการเหยียดรูปลักษณ์ผู้อื่น สร้างสังคมให้ต้อง “สวยงามตามแพทย์สั่ง”

หรือปั้นจั่น ปรมะ อิ่มอโนทัย ดาราหนุ่มหน้าตาดีที่กำลังมาแรง ออกมาบอกประชานะว่า

“ทำมาหากินไปเถอะ” 

เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นของคนดังสะท้อนโครงสร้าง “ทาส” ในวงการบันเทิง น่าแปลกใจที่ประชาชน หรือแฟนคลับไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดของเหล่าคนดัง

“แล้วอะไรละที่สำคัญ”

เนื้อเพลง “ตะกายดาว” ของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เรื่องของคนที่อยากจะโดดเด่นเป็นศิลปินดารา แม้จะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม เรื่องของคนที่ต้องการที่จะเป็นดังฝันเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนที่ประชาชนต้องจดจำ “เปล่งประกาย” อยู่ในวงการมายา ที่สวยงาม มีแสงสีสดใส

“แม้จะล้ม ก็คิดจะคลาน เหงื่อจะซ่านกระเซ็น

ก็คิดแล้วคุ้ม จะขอไปเป็นอย่างหวัง

จะร้อนหรือหนาว ก็พร้อมจะทน

จะไปเป็นคนยิ่งใหญ่ ค้นกันไป หากันไป หนทาง”

ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาไม่น้อยที่อยากจะก้าวไปสู่ “ความเป็นดารา” ที่เปล่งประกายแสง นำพามา ซึ่งผู้ปกครองส่งลูกเรียนร้องเพลง เรียนเต้น เรียนการแสดง ตลอดจนเดินแบบ จนธุรกิจสถาบันการสอน ศิลปะเหล่านี้มีมากมาย ทั้งหมดนี้เพียงหวังให้เด็กน้อยมีความเพียบพร้อมในการเป็นดาราสูตร แบบฉบับของ รัฐไทย ที่ไม่ต้องใส่ใจ หรือ ตั้งคำถามว่า “ทำไมฉันอยากเป็นศิลปิน ดารา” ขอแค่ให้อยู่ในแสงไฟ และ โดดเด่นเป็นพอ

ศิลปินนักร้องส่วนใหญ่แล้วก็จะมีนักแต่งเพลง คนคิดงานมิวสิควีดีโอ ออกแบบท่าเต้น เสื้อผ้าหน้าผม ทำงานอยู่เบื้องหลังสนับสนุนศิลปินมากมาย หรือแม้แต่นักแสดงที่ “ตีบทแตก” ผ่านการแสดงน้ำตาท่วมจอ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น คนเขียนบท คนดัดแปลงบท ช่างกล้อง ช่างไฟ คนกำกับ แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเราอาจไม่เคยมองดารา หรือ ศิลปินนักร้องเหล่านั้น ว่าอะไรที่อยู่ข้างในความรู้สึกนึกคิด นอกจากออกไปยืนที่แสงไฟและเป็นคนดัง การเสียสละหยาดเหงื่อเหมือน เพลง “ตะกายดาว” สะท้อนแค่เพียงว่า การเป็นดาราที่เปล่งประกายนั้น “มันไม่ใช่ง่าย” 

การเป็นดาวเด่น เปล่งประกายมันช่างยากเย็น 

พอ ๆ กับพี่ตูนวิ่งจากใต้ขึ้นเหนือ ที่ต้องใช้พลังงาน และ การทุ่มเทแบบเหนือมนุษย์

ศิลปินนักร้อง หรือ นักแสดงล้วนแล้วแต่ใช้ “พรสวรรค์” นำพาสารบางอย่างสู่สังคม โดยที่ตน เองนั้นอาจไม่ได้มีส่วนในการคิดสารที่ต้องการจะสื่อ ผู้ใหญ่ในค่ายว่าอย่างไร ก็ว่าง่าย เล่นตามน้ำ และ อยู่ให้เป็นจะได้มีงานเยอะ ๆ ดาราศิลปินนักร้องจึงต้องจำนนต่อผู้มีอำนาจในค่าย เพราะอาจไม่สามารถคิด หรือสร้างสรรค์งานตนเอง หรือ ถ้าสร้างสรรค์เองได้ก็ยังคงต้องยอมจำนนต่ออำนาจที่ผูกขาดกับสัมปทานรัฐ องค์ประกอบสำคัญของสื่อสารมวลชน เพราะขาดสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ครบถ้วน “ความเปล่งประกาย”

528214.jpg

ฉันอยู่ในวงการเบื้องหลังสอนและออกแบบท่าเต้น ออกแบบการแสดง ฉันเห็นคนดังมากมายใช้เวลา ส่วนใหญ่กับปัญหาว่าจะต้องทำอย่างไรให้อยู่ในกระแส ให้อยู่ในค่ายที่ผูกขาดกับสัมปทานรัฐ เพราะนั่นคือวงจร ธุรกิจมหาศาล ที่หลอมรวมเอา รัฐ บริษัททุนผูกขาด และ เม็ดเงินจากโฆษณาเอเจนซี่ มีดังบ้าง ดับบ้าง หรือ สว่างไสวในช่วงเวลาหนึ่ง นี่คือ “ดารารัฐ” ที่เข้ามาใช้พรสวรรค์ตนเองสื่อสารสิ่งที่ไม่ใช่ตนเอง และจากลาวงการ มายาไปโดยไม่ได้ส่วนแบ่งจากการผลิตซ้ำ ทำซ้ำ หรือ ฉายซ้ำ หรือถ้าได้ก็เป็นเพียงแค่เศษเงิน ที่พิจารณาแล้วยังไงก็ไม่เป็นธรรม

ดารา ศิลปิน ต่างประเทศ ยิ่งแก่ยิ่งรวยจากส่วนแบ่งงานของตนเองที่เคยโด่งดัง

ดารา ศิลปินไทย ยิ่งแก่ยิ่งไม่มีอะไร และ เกาะเกี่ยวผู้จัดเอาไว้ให้มั่น อีกทั้งยังจัดว่าเป็นแรงงานนอกระบบ

คนทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแน่นอนที่สุดเหล่าคนดังก็เช่นกัน โดยเฉพาะความ คิดเห็นทางการเมืองที่คนดังต่างประเทศออกมาพูดอย่างบ่อยครั้ง แต่ดาราไทยหลายคน และ หลายครั้ง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง “กดทับ” มากกว่า “ปลดปล่อย” ประชาชน 

เพราะโครงสร้างวงการบันเทิงนั้น “คนดังที่เปล่งประกาย” ต้องงอนง้อผู้จัด และค่ายทุนผูกขาด มากกว่าแฟนเพลง หรือ แฟนละครของตนเอง โดยเฉพาะผู้สนับสนุนเม็ดเงินโฆษณา หรือการสนับสนุน รายการต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ ก็จัดว่าเป็นกลุ่มทุนที่ได้รับการเอื้อประโยชน์จากรัฐ 

ฉันไม่แปลกใจเลย หลายครั้งในเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เหล่าศิลปิน และ คนดังมากมาย ที่ออกไป สนับสนุนฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับ “มวลชน” มวลชนผู้ซึ่งเป็นผู้ที่เฝ้ารอ เฝ้าชม ติดตามผลงานด้วย ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข รักแบบแม้ไม่ได้เจอใกล้ ๆ หรือแม้ไม่ได้พบหน้า

ในฐานะที่ฉันเคยเป็นครูและนักเต้นของทาทายัง ฉันก็ยังคงชื่นชมพรสวรรค์ของเธอ แต่สิ่งหนึ่งที่ทาทาต้องเลือกคือ ใช้พรสวรรค์เพื่อประชาชน หรือใช้มันเพื่อทุนนิยมผูกขาด ก็คงเป็นสิทธิที่เธอจะต้องเลือก

นี่คือประเทศไทย

“ดารารัฐ ที่ยอมจำนนเพื่อความเปล่งประกาย”

“ประชาชนไทยที่จำทนไร้ซึ่งทางเลือกในความบันเทิง”

นี่คือที่มาของคำว่า “ไม่ยึดโยง”

“นอกจากเรามีรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนแล้ว

เราก็ยังมีดาราที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนด้วย”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ครูธัญ - ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นักเต้น นักออกแบบท่าเต้น นักกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ และสส ปาร์ตี้ลิส ลำดับที่ 25 พรรคอนาคตใหม่
1Article
0Video
14Blog