ไม่พบผลการค้นหา
“ภัทร ภมรมนตรี” รุดยื่นจดหมายเปิดผนึกร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงาน กสทช. ส่อเอื้อประโยชน์ควบรวม ทรู-ดีแทค เล่นเกมดึงฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงการพิจารณา

ภัทร ภมรมนตรี ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการทำงานของ กสทช.และพวก แก่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบและเอาผิด หากส่อเจตนาเอื้อเอกชน จากกรณีที่ กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึง อำนาจหน้าที่ของตน ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค เป็นรอบที่ 2 แสดงถึงเจตนา และความพยายามที่จะไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ของตนในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีความพยายามที่จะดึงฝ่ายบริหาร ให้เข้ามาแทรกแซง ครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ภัทร กล่าวว่า “จากกรณีการประกาศควบรวมกันของ ทรู-ดีแทค ที่ทุกภาคส่วนต่างเฝ้าจับตามอง และเป็นกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค ในขณะที่ กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ กลับแสดงให้เห็นถึง การไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ควรจะเป็น โดยมุ่งดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ อย่างไม่คำนึงถึงผู้บริโภคอย่างชัดเจน จากกรณีล่าสุด หลังจากที่ กสทช. เคยมีการทำหนังสือไปยัง 

สำนักงานกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณอนุมัติ หรือไม่อนุมัติการควบรวม และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่าไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล แต่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็ได้มีการทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง เพื่อให้สั่งการไปยัง กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีการควบรวมธุรกิจของทรู-ดีแทค เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรี เสื่อมเสีย และมีความเสี่ยงในการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย”


ดึงฝ่ายบริหารเข้ามาเป็นหลังพิงในแง่ของกฎหมาย

“การมีคำถามไปยังกฤษฎีกาอีกครั้งดังกล่าว มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของ กสทช. รวมถึงในทางปฏิบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีเอง ก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้กฤษฎีกาใช้ข้อยกเว้น เพื่อวินิจฉัยประเด็นปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะ ตามกฎหมายของ กสทช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายและเป็นผู้ออกประกาศฯ ที่ปรึกษา มิใช่เป็นประกาศที่ออกโดยฝ่ายบริหาร

และ กสทช.มิใช่หน่วยงานในสังกัดหรือกำกับของฝ่ายบริหาร ที่นายกฯ จะมีอำนาจให้กฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารทำความเห็นชี้นำหรือแนะนำ ดังนั้นจึงไม่อาจมีคำสั่งให้กฤษฎีกาวินิจฉัยตามข้อยกเว้นของระเบียบฯ ได้ กสทช. จึงต้องวินิจฉัย และชี้ขาดปัญหาได้ด้วยตนเอง ดังเช่นที่เคยตีความ กฎหมายและประกาศอื่นๆ เองมาตลอด ดังนั้นถือได้ว่า กสทช. พยายามดึงฝ่ายบริหารเข้ามาเป็นหลังพิงในแง่ของกฎหมาย โดยไม่ทำหน้าที่ของตนเอง”

ภัทร ย้ำในตอนท้ายว่า “การมายื่นจดหมายถึงท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ เพื่อขอวิงวอนให้สำนักงานตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ดูแล สอดส่องกระบวนการทำงาน ของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ ตลอดจนมีความโปร่งใส ตามธรรมาภิบาลแผ่นดิน ได้โปรดดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาว่า กระบวนการที่ทั้ง กสทช., อนุกรรมการฯ และหรือเจ้าหน้าที่ของ กสทช.ที่เกี่ยวข้องเกี่ยว ได้เสนอความเห็นเพื่อสอบถาม ปัญหาดังกล่าว ไปยังกฤษฎีกาเป็นครั้งที่ 2 ผ่าน นายกรัฐมนตรี นั้น 

นับเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. อันมีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นตามข้อร้องเรียน ก็ขอให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเอาผิดต่อไป”