ไม่พบผลการค้นหา
ทวี สอดส่อง หยิบยกอภิปราย 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' ชี้การแต่งตั้งนายอุตตม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับประเด็นการขัดต่อกฎหมาย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ แสดงความคิดเห็นถึงการเเต่งตั้งนายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า การอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ท่านอาจารย์ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อภิปรายนโยบายรัฐบาล กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแต่งตั้ง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่าน่าจะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 170 ประกอบมาตรา 160 คือ “ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” 

จากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขแดงที่ อม 55/2558 ลง 26 สิงหาคม 2558 ที่มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาในหน้า 9 ปรากฏว่า 

นายอุตตม สาวนายน เป็น 1 ใน 5 ของคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และคำพิพากษา หน้า 51 ที่พิพากษาว่า “คณะกรรมการบริหารมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยที่ 19 ให้ได้รับสินเชื่อจำนวนถึง 9,900,000,000 บาท โดยมิได้รักษาผลประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย มีเจตนาช่วยเหลือกลุ่มจำเลยที่ 19 ให้ได้รับเงินจากธนาคารผู้เสียหายจำนวนดังกล่าว...” คือ 

หน้า 9 ที่ว่า 

‘..กรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหายได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2546(599) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2546...แต่งตั้ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน เป็นกรรมการบริหารมีอำนาจพิจารณาอนุมัติสินเชื่อทุกประเภทที่มีวงเงินเกินกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นกรรมการบริหารธนาคาร และวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 2,000,000,000 บาท..’ 

หน้า 51 ที่ว่า 

‘...คณะกรรมการบริหารมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยที่ 19 ให้ได้รับสินเชื่อจำนวนถึง 9,900,000,000 บาท โดยมิได้รักษาผลประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย มีเจตนาช่วยเหลือกลุ่มจำเลยที่ 19 ให้ได้รับเงินจากธนาคารผู้เสียหายจำนวนดังกล่าว เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 20 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการบริหาร จึงเป็นพนักงานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502...’ 

ในคดีอาญา รัฐธรรมนูญได้วางหลักให้ถือคำพิพากษาอันถึงที่สุด ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาจึงเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญสำหรับสถานะทางคดีในปัจจุบัน แต่เดิม คตส ได้กล่าวโทษร้องทุกข์คดีฟอกเงินกับคณะกรรมการบริหารกรุงไทยกับพวก ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีความจำเป็นต้องรอผลคำพิพากษาของศาลฎีกา ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.ม. 55/2558 ลง 26 สิงหาคม 2558 นอกจากนั้นได้มีนายวันชัย บุญนาค ทนายอิสระได้กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีกับนายอุตตมฯ กับพวกปล่อยกู้ เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักฐานสำคัญ ต่อมานายวันชัยฯ ได้โพสต์ว่า ขณะนี้คดีได้ถูกโอนไปยัง ป.ป.ช. และอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

ผู้เสียหายที่เกิดจากการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่ต้องดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญา ทั้ง 3 หน่วย เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูกควบคุมกำกับ ของ รมว คลัง 

ท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังได้อภิปรายถึง รมว.คลัง จะต้องเป็นผู้เซ็นชื่อบนธนบัตรรัฐบาล เมื่อ รมว.คลัง มีประเด็นความสงสัยเรื่องความไม่ซื่อสัตย์สุจริต 

ในเรื่องความเหมาะสม การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และความรู้สึกของประชาชน ที่เห็นว่าน่าจะมีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี โดยตรงที่ท่านได้ตัดสินใจโดยไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานดูแลด้านตลาดเงิน ตลาดทุนของประเทศ และกระทรวงการคลัง