วันที่ 10 มี.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือและรับฟังข้อหารือจาก นพ.สิวดล พินิตความดี ตัวแทนกลุ่ม Rabbit Crossing หรือ 'ทางกระต่าย' พร้อมด้วยคณะ เพื่อขอให้ประธานรัฐสภาช่วยผลักดันการแก้กฎหมายให้ทางม้าลายปลอดภัยต่อประชาชน โดยมี นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมหารือ
นพ.สิวดล ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันการตายและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนทางม้าลายมีมากกว่า 500 รายต่อปี และอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 55% ถือเป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญยิ่ง แต่ที่ผ่านมาปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จนเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้ากับหลาย ๆ ครอบครัว รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ 'หมอกระต่าย' ที่เสียชีวิตจากการถูกรถจักรยานยนต์ชนในขณะข้ามทางม้าลาย
ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ เห็นว่าปัญหาทางม้าลายสามารถแก้ไขได้โดยการทำให้ทางม้าลายปลอดภัย มีการหยุดรถให้คนข้าม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายและปรับบทลงโทษให้เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้ประธานรัฐสภาช่วยผลักดันให้มีการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับทางข้ามโดยเฉพาะ และกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงผลักดันให้มีการลงโทษอย่างจริงจัง อันจะทำให้เกิดความยำเกรงและไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทางม้าลายปลอดภัยต่อประชาชน เพื่อให้การจากไปของหมอกระต่าย เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย
ในโอกาสนี้ ทางกลุ่มฯ ได้มีข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อการสร้างทางม้าลายที่ปลอดภัยแก่ประชาชนทุกคน ดังนี้
1.) ทางม้าลายต้องปลอดภัย โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบทุกทางม้าลายให้เป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน อาทิ ทางข้ามมีความชัดเจนเห็นได้ในระยะไกล มีป้ายเตือนล่วงหน้าที่ชัดเจนให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าเป็นทางข้าม และหากเป็นทางที่มีคนข้ามเป็นประจำหรือเป็นสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน ต้องมีสัญญาณไฟจราจร รวมถึงมีปุ่มกดเพื่อขอข้าม และมีกล้องวงจรปิดในบริเวณทางข้ามที่มักมีการกระทำผิดบ่อยเพื่อบันทึกผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างจริงจัง
2.) หยุดรถให้คนข้าม โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของการหยุดยานพาหนะให้คนข้ามทางม้าลาย ให้ประชาชนทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติ และทำการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ
3.) บังคับใช้กฎหมาย กรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วขณะขับยานพาหนะเข้าใกล้ทางม้าลาย หรือไม่หยุดยานพาหนะให้คนข้ามทางม้าลาย หน่วยงานรัฐและตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิม ลงโทษอย่างจริงจังและโดยสุจริต
4.) ออกกฎหมายใหม่ โดยแยกมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดชัดเจนว่ากรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วยานพาหนะขณะขับเข้าใกล้ทางม้าลาย หรือกรณีไม่หยุดยานพาหนะให้คนข้ามทางม้าลายมีความผิด และมีโทษอื่นนอกเหนือจากการปรับ อาทิ ตัดคะแนน บังคับให้เข้ารับการอบรม หรือพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่
5.) ปรับบทลงโทษ โดยออกกฎหมายเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ขับขี่ที่ขับชนคนข้ามทางม้าลาย ในลักษณะคล้ายกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับชนคนอื่นตามมาตรา 160 ตรี ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยผ่านเว็บไซต์ จำนวนกว่า 45,000 รายชื่อ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการจะเห็นทางม้าลายที่ปลอดภัยต่อประชาชนคนไทยทุกคน
โดย ชวน หลีกภัย กล่าวว่า ตนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยจราจรเเละอุบัติเหตุทางถนนมาโดยตลอด ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 ตนได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาเร่งรัดมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เพื่อให้ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังเเละหาแนวทางป้องกันและเเก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง