ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านมา 1 สัปดาห์ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. ที่มาพร้อมปรากฏการณ์ชุมนุมของคนเสื้อเหลืองในรูปแบบ ‘แฟลชม็อบ’ ในพื้นที่ กทม. คู่ขนานกับต่างจังหวัด ในลักษณะเดียวกับฝั่งต่อต้านรัฐบาล

ผ่านมา 2 สัปดาห์ นับจากการชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา การชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังคงมีความต่อเนื่อง เพื่อยืนระยะการชุมนุมไว้ จนกว่าจะเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญในเดือน พ.ย.นี้ ที่มีการประเมินว่าจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง เพื่อกดดันไปยังสภาให้รับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการยื่นไว้ 6 ญัตติ รวมถึงร่างของไอลอว์ด้วย

การชุมนุมที่ไร้แกนนำหลักในช่วงแรก ได้ใช้ ‘ยุทธการแกงเทโพ’ มีการนัดรวมพลโดยเร่งรีบ เพื่อไม่ให้ ตร. ทันเกม ผ่านมา 1 สัปดาห์ ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยใช้ ‘ยุทธการยื้อสู้’ โดยเป็นการนัดชุมนุมล่วงหน้า 1 วัน

แต่การชุมนุมได้ยกระดับในตัวเอง แม้ยังคงเป็นแฟลชม็อบเช่นเดิม แต่ได้ไปยัง ‘พื้นที่เชิงสัญลักษณ์’ และมีรูปแบบกิจกรรมที่มี ‘ความหมายแฝง’ ไม่ใช่เพียงการชุมนุม เพื่อโยนประเด็น แสดงพลัง และแยกย้ายกลับเท่านั้น เช่น การชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี , การจัดเดินแบบ ถ.สีลม เป็นต้น หลังฝ่ายรัฐบาลตั้งเกมรับมากกว่ารุก โดยปล่อยให้ผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมตามต้องการ แต่กลับมีการออกหมายเรียกจาก ตร. ตามมาแทน

การนัดชุมนุมโดย ‘ส่วนกลาง’ หรือผ่าน ‘กลุ่มราษฎร’ ยังคงมีพลัง จากจำนวนผู้มาชุมนุม เช่น หน้าสถานทูตเยอรมนี เป็นต้น แต่ในพื้นที่ที่มีการจัดคู่ขนานในกลุ่มอื่นๆ แม้จำนวนผู้ชุมนุมจะลดลงไปบ้างแต่การจัดการชุมนุมยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ซึ่งก็สะท้อนถึง ‘การจุดติดการชุมนุม’ ที่ถือว่าใหญ่และยืดเยื้อที่สุดในรอบ 6 ปี นับจากรัฐประหาร โดย คสช. เมื่อปี2557

ม็อบ 26 ต.ค. สถานทูตเยอรมัน

จึงทำให้รัฐบาล ‘สะเทือน’ ไม่น้อย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายรัฐบาลต้องยอมถอยและส่งสัญญาณไปยัง ส.ว. ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมืองลง โดยเฉพาะการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกประเทศ ซึ่ง นายกฯ ระบุว่าเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เข้าสภาสัปดาห์หน้า คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค.นี้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ตามข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้นายกฯลาออก 2.แก้ไข รธน. และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยข้อแรกที่ให้ นายกฯลาออก ยังไม่บรรลุผล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศชัดว่าจะทำหน้าที่ นายกฯ จนกว่าจะไม่มีโอกาสได้ทำ คำถามสำคัญคือ ‘โอกาส’ นั้น จะสิ้นสุดเมื่อใด ถือเป็นคำที่มี ‘นัยสำคัญ’ ซ่อนอยู่ด้วย

“ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ด้วยการหนีปัญหา ผมจะไม่ลาออกด้วยการหนีปัญหา เหมือนคนอื่นๆ ผมยังต้องแก้ไขปัญหาอื่นๆ พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย จนกว่าจะไม่มีโอกาสได้ทำ ตอบชัดไหม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์ อนุพงษ์ อภิปรายทั่วไป ม็อบ เสก_รัฐสภา27_201029_7.jpg

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้แสดงท่าที ‘ตัดอำนาจ ส.ว.’ ในประเด็นการโหวตเลือก นายกฯ ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องให้ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือไม่เลือกนายกฯ ก็แล้วแต่ เพราะผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ ถ้าจะไม่เลือกผมก็ได้ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือในรัฐสภา”

สิ่งนี่สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมั่นใจ ‘เสียงในสภา’ ที่ตนมีอยู่ ทว่าสิ่งที่จะเป็น ‘เงื่อนไข’ ต่อไป คือ การเลือกนายกฯคนใหม่ จะต้องได้เสียง ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ ของทั้ง 2 สภา นั่นคือ 366 เสียง จาก 732 เสียง

โดย รองนายกฯวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า ต่อให้ ส.ว. งดออกเสียงทั้งหมด ตามที่หลายคนเรียกร้อง ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง หากไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่า หากถึงทางตันแล้วจะทำอย่างไร

ในส่วนของ ‘วอร์รูม’ ติดตามสถานการณ์ในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ยังคงดำเนินการตามปกติ แม้จะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไปแล้วก็ตาม

หนึ่งในสิ่งที่วอร์รูมติดตามคือโซเชียลมิเดีย ที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้ติดตามด้วยตัวเอง หลังย้อนถามสื่อ ที่ถามว่าหลายกระแสมองว่าภาครัฐยังเข้าถึงโซเชียลฯไม่เท่ากับกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "คุณรู้ได้อย่างไร ผมเข้าถึง เข้าถึงมากกว่า"

รวมทั้งข้อเสนอของฝั่งรัฐบาลที่ให้มีการตั้ง ‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ ขึ้นมา โดยมีสภาเป็นเจ้าภาพหลักในการพูดคุยกันทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส. , ส.ว. และผู้ชุมนุม ซึ่ง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภา ได้ให้สถาบันพระปกเกล้าออกแบบ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงการ ‘ยื้อเวลา’ และสร้าง ‘โรงลิเก’ ของรัฐบาลเท่านั้น 

ในส่วนความเคลื่อนไหวของ ผบ.เหล่าทัพ ยังคงนิ่งปฏิบัติภารกิจในกองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ลงพื้นที่ชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ที่ตอบทุกคำถามในเรื่องภารกิจ ทบ. แต่เมื่อถามเรื่องการเมือง ได้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ทันที ตามที่เคยกล่าวไว้ก่อนเป็น ผบ.ทบ. ว่าจะไม่พูดเรื่องการเมือง ผ่านมาเกือบ 1 เดือน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ให้สัมภาษณ์เรื่องการเมืองเพียง 1 ครั้ง ในการแถลงนโยบาย ทบ. เมื่อ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งในครั้งนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้กล่าวว่า โอกาสเกิดปฏิวัติรัฐประหารยังเป็นศูนย์ และขอให้ขจัด ‘เงื่อนไข’ ให้ติดลบ พร้อมย้ำว่า ในหัวของตนมี 4 อย่าง คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาความมั่นคงของ 4 อย่างนี้ 

ณรงค์พันธ์.jpg

ทั้งนี้ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีท่าทีหวั่นต่อการเกิดรัฐประหาร อีกทั้งถามกลับว่าใครจะเป็นคนทำ ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าทั้ง ‘รัฐบาล-กองทัพ’ ถือเป็นองคาพยพเดียวกัน แต่ก็ไม่มีสิ่งใด ‘รับประกัน’ ได้ว่า การทำรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก

ทว่าสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าคือการ ‘กระชับอำนาจ’ ผ่านการใช้กฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ตามที่เรียกกันว่า ‘รัฐประหารเงียบ’ นั่นเอง เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เป็นต้น

ล่าสุด ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาเสนอทางออกประเทศ ให้มี ‘การปฏิวัติ’ เปิดทางตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ โดย พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ตนไม่ทราบ แต่ได้ยืนยันว่า จะไม่มีการปฏิวัติ 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งการแสดงออกของผู้ชุมนุมที่ทะลุเพดาน จึงยากที่จะนำ ‘เหตุการณ์ในอดีต’ มาเทียบเคียงหรือประเมินสถานการณ์ ถือเป็น ‘โจทย์ใหม่’ ของแต่ละฝ่าย หากฝ่ายใด ‘จับทาง’ ได้ก่อน ย่อมได้เปรียบในศึกครั้งนี้

ศึกนี้อีกยาว !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog