วันนี้ (5 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่าในประเด็นการอภิปรายโครงการแลนด์บริดจ์ มีการตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วนในงบปี 67 ประกอบด้วย
1. จ่ายงวดงานสุดท้ายของรายงานศึกษาความเป็นไปได้มูลค่า 68 ล้านบาท
2. ตั้งงบประมาณใหม่สำหรับการทำเอกสารเพื่อไปเชิญชวนนักลงทุนประมาณ 45 ล้านบาท
ทั้งในการอภิปรายมีการชงและตบกันเอง จากเหตุการณ์ระหว่าง สส. พรรคเพื่อไทยกำลังอภิปรายเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนั้นนายเศรษฐาก็ขึ้นตอบทันที มองว่าสิ่งที่พูดยังมีข้อผิดพลาดอยู่ และไม่ควรพูดไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ไม่ได้เป็นความจริง โดยมีดังนี้
1. เรื่องท่อน้ำมัน จากรายงานศึกษาที่จ่ายงบประมาณ 68 ล้านบาท ไม่พบว่าจะมีท่อน้ำมันอยู่ในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีท่าเรือ 2 ท่า พร้อมกับทางรถไฟ และถนนเพื่อที่จะเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือของในจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร พบมีการเว้นพื้นที่ไว้สำหรับการวางท่อน้ำมัน แต่ในการศึกษาความเป็นไปได้ ไม่มีเรื่องท่อน้ำมันอยู่ในการศึกษา
ดังนั้นการที่จะไปหานักลงทุนการขนถ่ายน้ำมันข้ามระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก “นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวไปสักนิด” หรือเราก็จะต้องรื้อรายงานศึกษาความเป็นไปได้ที่เราจ่ายงบประมาณไปแล้ว 68 ล้านบาท ไปปรับเปลี่ยนแผนในการทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จาก EIA เป็น EHIA เท่ากับการรื้อทั้งหมด ซึ่งจะไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ผ่านมติ ครม.ไปแล้ว
2. ช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัด จากการสอบถามเรื่องนี้กับคนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทั้งเดินเรือ ทั้งคนที่เป็นผู้ขนส่งทางเรือ ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัดขนาดนั้น เพราะจากที่นายเศรษฐากล่างถึงเรื่องนี้ว่า ช่องแคบมะละกามีความแออัด จึงทำให้ต้องมีโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ในการประชุมกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ มีตัวแทนจากทางหอการค้าตอบคำถามเรื่องนี้
โดยเล่าว่าเคยเชิญรัฐมนตรีในอดีตไปร่วมลงเรือคาร์โกสำรวจพื้นที่พบว่า ไม่ได้แออัดอย่างที่กล่าวอ้าง และยังไปในจุดที่แคบที่สุด โดยรัฐมนตรีในอดีตคนนั้นยังกล่าวว่า ฝั่งอยู่ที่ไหน มองออกไปไม่เห็นแม้แต่เรือ แล้วก็ไม่เห็นแม้แต่ฝั่งเลยทีเดียว ดังนั้นเรื่องของช่องแคบมะละกาที่แออัด ยังไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะต้องสร้างโครงการแลนบริดจ์
3. ถ้าแออัดจริงประเทศสิงคโปร์ก็คงไม่ลงทุนสร้างท่าเรือใหม่เพิ่มความจุเป็น 2 เท่าจากเดิม
การหยิบยกเรื่องนี้มาพูดนั้น เพื่อให้นายเศรษฐาได้ทราบว่า จากการที่เราทำงานในชั้นกรรมาธิการได้พูดคุยกับคนที่อยู่ในวงการธุรกิจอยู่ในสายเดินเรือ พบว่าตัวเลขความคุ้มค่าที่มีมติ ครม. ไปแล้ว และจากที่นายเศรษฐาไปทำโรดโชว์ในที่ต่าง ๆ “เป็นรายงานที่สูงเกินจริง ตัวเลขสวยหรูเกินจริง ประเมินรายได้สูงเกินจริง แล้วก็ค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง” พร้อมมีการประมาณการการประหยัดเวลา และต้นทุนที่สูงเกินจริง ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ประหยัดเวลามากอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ความผิดพลาดเหล่านี้เราอาจจะไม่ต้องกังวลมาก
เพราะว่าสุดท้ายคาดว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการ PPP ที่เอกชนจะมาลงทุนเองเกือบ 100% แต่ถ้านักลงทุนไม่มาเพราะวาดแผนสวยหรูเกินจริง คงไม่ต้องกังวลเพราะสุดท้ายโครงการนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าถ้าสุดท้ายแล้วรอแล้วรอเล่าก็ไม่มีนักลงทุนมาสักที คนที่จะนอนไม่หลับก็คือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ที่กำลังจะถูกเวนคืน จะไม่เหลือความมั่นคงอะไรในชีวิตโดยที่จะต้องลุ้นไปวันต่อวันว่า บ้านของเขาจะถูกเวนคืนหรือไม่ ยังไม่นับผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น
ศิริกัญญา ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างมาก และเห็นด้วยกับการที่จะมีท่าเรือที่ระนอง การปรับปรุงท่าเรือเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือว่าจะสร้างใหม่ก็ตามให้เป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เห็นด้วยกับการมีโครงข่ายระบบรางเชื่อมต่อเพื่อที่จะขนถ่ายสินค้าจากทั่วประเทศมาลงที่ท่าเรือนี้ เห็นด้วยกับการทำนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ให้ขึ้นในพื้นที่ภาคใต้
แต่สิ่งที่ยังคงกังขาก็คือ ความคุ้มค่าของโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นจริง หรือไม่ จะคุ้มค่าสวยหรูเหมือนตามที่ได้มีมติ ครม. ไปผ่านทางโดยใช้ข้อมูลจากรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ที่ทำไปแล้วหรือไม่ “ต้องฝากนายเศรษฐาไปศึกษาให้รอบคอบ ก่อนที่จะเดินหน้าทำโรดโชว์ต่อ เพราะว่าถ้าพูดผิดพูดถูกไป จะไม่เกิดผลดีกับภาพลักษณ์ของประเทศ”
'พริษฐ์' ชี้งบการศึกษาต้องผ่าตัดหัวใจครั้งใหญ่
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า วิกฤตลำดับต้นๆ นั่นคือวิกฤตด้านการศึกษา ผลการประเมินระบบการศึกษาหรือ PISA ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตการศึกษาไทยที่เรื้อรัง ได้แก่
1.วิกฤตสมรรถนะ คือ การที่เด็กไทยมีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้และลดลงมาเป็นอันดับที่ 60 จาก 70 กว่าประเทศ
2.วิกฤตความเหลื่อมล้ำที่เด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน
3.ความเป็นอยู่คือนักเรียนไม่มีความสุขในโรงเรียน ซึ่งไทยอยู่ในลำดับต้นๆ เรื่องความทุกข์ของนักเรียนไทย และมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยในโรงเรียนเป็นอันดับ 4 ของโลก
"หากเราไม่เร่งจัดการการจัดสรรทรัพยากร วิธีการใช้เงิน เราจะเพิ่มงบประมาณอีกกี่ล้านบาท เราจะทอดผ้าป่าด้านการศึกษาอีกกี่ครั้ง ก็แก้ปัญหาด้านการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้ เหมือนคนไข้ที่มีปัญหาด้านหัวใจจะเพิ่มเลือดให้เขาเท่าไหร่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเขา"
พริษฐ์ เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่มีชื่อว่างบประมาณด้านการศึกษา แบ่งออกได้เป็น 4 ห้องตามประเภทการใช้จ่าย
หัวใจห้องที่ 1 มีชื่อว่างบบุคลากร เป็นห้องที่ใหญ่สุด มีขนาด 64%
ห้องที่ 2 ชื่อเงินอุดหนุนนักเรียนมีขนาด 26% โดยครอบคลุมถึงการเรียนฟรี 15 ปีหรือโครงการ กศศ.
ห้องที่ 3 ห้องงบลงทุน ที่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ห้องเรียนต่างๆ มีขนาด 4%
ห้องที่ 4 งบนโยบายมีขนาด 6% แม้ปีนี้จะมีงบประมาณเพิ่มมา 1,000 กว่าล้านบาท แต่จะเห็นความพยายามที่รัฐบาลลดงบลงทุนลงเพื่อไปเติมให้ห้องอื่นโดยเฉพาะห้องงบอุดหนุนนักเรียน ซึ่งหากจะดูแค่นี้ไม่เพียงพอ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ
สำหรับห้องงบนโยบาย เป็นห้องที่รัฐบาลมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนการจัดสรรหรือออกแบบงบประมาณใหม่ได้ทันที งบในส่วนนี้ถูกกระจายไปให้โครงการต่างๆ ในลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก เห็นด้วยที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการศึกษา แต่วันนี้ที่รัฐบาลมาของบจากสภาฯ ต้องขอให้รับประกัน 2 อย่างคือ การพัฒนาแพลตฟอร์มจะไม่ทำซ้ำซ้อนกันในแต่ละหน่วยงานและกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับจัดทำแพลตฟอร์มจะดำเนินการโปร่งใส บริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มต้องถูกคัดเลือกจากผลงานและความคุ้มค่าจากสิ่งที่เสนอ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้บริหาร
ส่วนปัญหาที่เจอในงบส่วนนี้ คือโครงการที่ไม่ควรมีแต่ยังมีต่อ เช่น โครงการรวมมิตรความดี ที่ทำให้เด็กจบออกมาเป็นคนดี เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งปีนี้เพิ่มขึ้นมา 160 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่ใช่ตนต่อต้านการสร้างศีลธรรม สุจริต แต่ต้องทบทวนในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้อง เช่น แป๊ะเจี๊ยะ, ไม่ลงโทษครูที่ทำผิดจริยธรรมหรือกฎหมาย เป็นต้น
ด้านห้องงบลงทุน มีความกังวลว่า ใช้เกณฑ์อะไรที่จะปรับงบลงทุนส่วนไหน และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าจังหวัดไหนจะได้งบมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดไหนที่มี สส.เขตมาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีจึงได้งบสูงถึง 24% แต่จังหวัดที่ไม่มี สส.เขตที่มาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาจึงได้งบน้อยกว่า หวังว่าการพิจารณาให้งบแต่ละจังหวัดจะอยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อนของนักเรียนโดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนกันทางการเมือง
สำหรับห้องเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลจัดสรรงบในส่วนนี้มากขึ้นถึง 5.2% แต่ก็ยังห่างไกลจากการศึกษาที่ฟรีจริง เพราะเช่นใน 100 บาทที่รัฐบาลให้นั้นเป็นเงินของรัฐบาล 70 บาทและผู้ปกครองยังต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 บาท
จึงมีข้อเสนอ 3 อย่างคือ 1.เพิ่มเงินอุดหนุนให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา, 2.การตัดค่าใช้จ่ายด้านศึกษาที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดภาระผู้ปกครอง เช่น การลดการบังคับใส่ชุดลูกเสือเนตรนารี และ 3.ปรับวิธีการใช้งบอุดหนุนไปที่โรงเรียน สำหรับห้องงบบุคลากร ควรแก้ปัญหาเรื่องครูกระจุกและแก้ปัญหาอำนาจกระจุกโดยการปฏิรูปกระทรวง เพื่อให้การทำงานที่ซ้ำซ้อนลดน้อยลงมาและกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาอย่างเต็มที่
ชี้ผลสอบ PISA ตกต่ำรั้งท้าย สะท้อนวิกฤตการศึกษา
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณงกระทรวงศึกษาธิการ และวิกฤตทางการศึกษา วิโรจน์ กล่าวถึงการสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติวัดทักษะและความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยจัดสอบทุก 3 ปี
เพื่อประเมินค่าเฉลี่ยของคุณภาพคน และขีดความสามารถในการแข่งขันของพลเมืองแต่ละประเทศ สะท้อนคุณภาพการศึกษา และกลไกของรัฐในการพัฒนาพลเมือง ล่าสุดผลคะแนน PISA ปี 2565 ของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยเข้าสู่การทดสอบ PISA ตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมีแต่สาละวันเตี้ยลงโงหัวไม่ขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อฟังคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ที่ระบุว่า ”คงไม่เทียบมาตรฐานกับประเทศอื่นดีกว่าครับของเราก็เป็นตัวของเราเอง“ เมื่อคนระดับรัฐมนตรีมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นสไตล์ จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดงบประมาณปี 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการถึงเป็นงบประมาณแบบเดิม
"เราอยู่ในยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ชื่อ เพิ่มพูน แต่การศึกษาไทยถดถอยล้าหลัง นายวิโรจน์ เปรียบเทียบคะแนน PISA ของประเทศสิงคโปร์ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งคะแนนอยู่เหนือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มจะทิ้งห่างประเทศที่พัฒนาแล้วไปเรื่อย ๆ ส่วนประเทศเวียดนามเทียบเท่ามีคะแนนกับประเทศกลุ่มกลุ่มที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นผลการทดสอบ PISA ของไทยที่ตกต่ำมาโดยตลอด สะท้อนว่าพลเมืองของไทยอายุตั้งแต่ 17-39 ปีสู้พลโลกไม่ได้เลย"
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเอาผลคะแนนของแต่ละโรงเรียนมาวิเคราะห์โรงเรียนสาธิตเทียบกับโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ เพราะโรงเรียนสาธิตสามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง บูรณาการหลากหลายวิชาเข้าด้วยกัน ทำให้บริหารเวลาเรียนได้มีประสิทธิภาพการเรียนรู้เปิดกว้าง ขณะที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.เต็มไปด้วยอำนาจนิยม และการบูลลี่ ดึงเด็กออกมานอกห้องเรียน เพื่อทำกิจกรรมสร้างหน้าตาให้กับผู้บริหารสถานศึกษารอคนจากส่วนกลางมาตัดริบบิ้น
วิโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะติดอันดับโลกประมาณ 56 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตกวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน หักลบกับเวลานอน 8 ชั่วโมงก็เท่ากับเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต สะท้อนว่าเวลาเรียนในโรงเรียนไร้คุณภาพ
วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีงบประมาณในหลายโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนคำนวณว่ามีวงเงินต้องสงสัย 8,256 ล้านบาท เชื่อว่าสามารถปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นได้อีก โดยเฉพาะโครงการที่มีภารกิจซ้ำซ้อน โครงการที่สร้างภาระงานให้กับครูผู้สอน โครงการที่เต็มไปด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งมียอดรวม 2,117 ล้านบาท โครงการเหล่านี้มักจะตั้งชื่อให้เป็นคนดีเพื่อป้องกันการตัดงบ ใครที่ตัดงบประมาณก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่เห็นแก่เด็กตาดำ ๆ แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะทราบว่าโครงการเหล่านี้เป็นภาระแก่ครูและนักเรียน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โครงการบริหารจัดการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาศึกษาตามศักยภาพในพื้นที่ โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนมีกองทัพหรือ กอ.รมน.ดำเนินการอยู่แล้ว เป็นภารกิจซ้ำซ้อน เป็นงบที่ กอ.รมน.เอามาฝากเลี้ยงไว้หรือไม่
วิโรจน์ ยังกล่าวถึงวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน สพฐ.ระบุว่าในปี 2566 มีอยู่ 14,996 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 29,312 แห่ง และยังมีโรงเรียนที่กำลังเล็กอีก 7,000 แห่ง โรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ประสบปัญหาขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
"อาคารสถานที่ขาดการดูแล กระทบกับสวัสดิภาพของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้โรงเรียนขนาดเล็กยังมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา นักเรียนหลายคนต้องเรียนกับทีวี โดยครูเอาใจใส่ไม่ทั่วถึง เพราะครูไม่สามารถสอนแบบเชื่อมจิตได้"
กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจังเหมือนป่วยเป็นโรคร้าย แต่ให้กินแค่ยาพาราปล่อยให้ลุกลาม และตายไปเองตามยถากรรม การควบรวมโรงเรียนไม่เคยประสบความสำเร็จ มีแนวโน้มควบรวมน้อยลงราวกับว่าไม่มีปัญหาด้วย ซึ่งหากควบรวมตามยถากรรม คำนวณแล้วว่าต้องใช้เวลา 91 ปีกว่าจะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ และต้องถูกประจานผลคะแนน PISA ในเวทีโลกอีก 30 รอบ
วิโรจน์ เสนอว่าหากรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ใส่ใจกับการบริหารงบประมาณและแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะมีงบที่จัดสรรใหม่ได้ถึง 15,102 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำไปจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจ 4,000 ล้านบาทต่อปีให้กับ อบจ.ทั่วประเทศให้บริการรถรับส่งนักเรียนภายในจังหวัด เพิ่มงบประมาณให้ กสศ.สนับสนุนให้เด็กยากจนพิเศษและคนที่ตกหล่นทางการศึกษา ซึ่งใช้งบประมาณจัดสรรประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อปี และยังเหลือให้จัดสรรอีก 4,502 ล้านบาทต่อปี