ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.พัฒนาการเมือง' ยกคดีจำคุก 'นิว' แต่งชุดไทย สั่นคลอนความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ตัดสินคดีเกินขอบเขต ชี้การใช้ ม.112 มีปัญหา สาระของกฏหมายไม่ได้ครอบคลุมการล้อเลียน ยิ่งใช้ยิ่งทำลายสถาบันฯ

ที่อาคารรัฐสภา อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องความกังวลต่อกระบวนการยุติธรรม สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุก จตุพร แซ่อึง หรือ นิว นักกิจกรรม เป็นเวลา 2 ปี จากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์เมื่อเดือน ต.ค. 2563 โดย วัฒนพล ไชยมณี เป็นผู้พิพากษาลงนามคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จำคุก จตุพร

อมรัตน์ ระบุว่า วันนี้ตนได้แต่งชุดไทย เพื่อยืนยันเสรีภาพเหนือร่างกายตัวเองที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ตนขอเป็นตัวแทนประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกสับสน สั่นคลอนกับการตัดสินคดีนี้ ซึ่งอาจไปปฐมบทเบื้องต้นที่น่ากลัวมากของการตัดสินคดีมาตรา 112 ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีมาตราใดเลยที่ระบุความคิดในข้อหาที่มีการล้อเลียนพระมหากษัตริย์พระราชินีหรือพระราชทายาท 

"สาระสำคัญของกฎหมายมาตรา 112 คือ การดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการล้อเลียน หรือการห้ามไม่ให้เคารพด้วย เพียงแต่เป็นการป้องกันการด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น การตีความของศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อ 3 วันที่ผ่านมา เป็นการตีความเกินขอบเขตอำนาจรัฐธรรมนูญมาตรา 188 หรือไม่อย่างไร ดิฉันขอตั้งคำถาม" อมรัตน์ กล่าว

อมรัตน์ กล่าวต่อไปว่า มาตรา 188 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้เพียงให้สถาบันตุลาการใช้อำนาจหน้าที่อย่างอิสระในการแสดงความเห็น แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการคุมขังโดยไม่ชอบธรรมและยังห้ามมิให้ตัดสินโดยลำเอียง มีอคติ ตนในฐานะ ส.ส. และผู้ผลักดันให้มีการตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อประชาชนและสื่อมวลชน ขอตั้งคำถามแทนประชาชนทั้งประเทศ ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตระหนักถึงปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งรังแกผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และเสนอปรับลดโทษ หรือกำหนดให้ผู้ฟ้องร้องเป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

ด้าน ปดิพัทธ์ เผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ วิ.อาญา เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม เข้ามาตอบคำถามสำคัญ และยังถือเป็นการทำงานที่ยากลำบาก เพราะเอกสารที่จะขอแนวทางในการพิจารณาคดีหรือรายชื่อคณะกรรมการกลั่นกรองว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือไม่ รวมถึงรายชื่อนักโทษมาตรา 112 ก็ไม่ได้รับข้อมูลเพราะถือเป็นเอกสารลับสุดยอด

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ต่อเรื่องนี้ โดยประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ปีใหม่ และการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 9 คนที่กำลังจะถูกพิพากษา โดยมี นิว-จตุพร เป็นคนแรก ตามด้วย บุญลือ พัชระ ทิวากร สุริยศักดิ์ วารี พิทักษ์พงษ์ ถัคภิญญา พิพัทธ์ ที่จะถูกพิพากษาอย่างต่อเนื่องตลอด 2 เดือน ในหลักสากลแล้ว ยกเว้นประเทศเผด็จการ ไม่มีความผิดข้อใดเข้าเงื่อนไขให้ตัดสินจำคุกได้เลย

ปดิพัทธ์ ยังระบุว่า อนุกรรมการฯ ได้พบว่ามีกลุ่มการเมืองเป็นผู้ฟ้องร้องคดี เป็นกลุ่มองค์กรเพื่อตั้งมาเพื่อฟ้องร้องคดีในมาตรา 112 โดยเฉพาะ และไม่ได้ฟ้องร้องด้วยความสุจริตใจ เพราะมีการจงใจฟ้องร้องข้ามจังหวัด เพียงเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาไปอย่างมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดีเพราะรู้ว่านี่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ทางอนุกรรมการฯ จะรวบรวมอย่างเป็นระบบที่สุด และจะเปิดเวทีเพื่อนำเสนอปัญหาของทุกกระบวนการยุติธรรม และกฎหมายมาตรานี้ ให้ทุกท่านและสังคมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน พ.ย. และใน ต.ค. จะมีกำหนดการเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องหาในมาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

"การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการทำให้สถาบันฯ มั่นคงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย มาตรา 112 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถาบันฯ อ่อนแอ ไม่ใช่แค่สถาบันพระมหากษัตริย์ ยังมีสถาบันตุลาการ ที่ดุลยพินิจของผู้พิพากษากลายเป็นกฏหมายเสียเอง เขามีความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อย่างไร มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร มีความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมอย่างไร กลายเป็นกฎหมายเสียเอง สำทับไปกับการดูหมิ่นละเมิดศาลก็ยิ่งมีคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุล และความโปร่งใสในตัวสถาบันตุลาการเอง" ปดิพัทธ์ กล่าว