ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจด้านสุขภาพและความงามที่เพิ่มขึ้นสถานพยาบาลจึงมักหาเทคนิคหรือศาสตร์ทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ๆ มาดึงดูดให้ประชาชนเข้ารับบริการ ซึ่งมีทั้งส่วนดีและส่วนที่น่ากังวล คือการที่สถานพยาบาลบางแห่งอาจอาศัยความไม่รู้ของประชาชนมาบิดเบือนข้อมูล ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อบริการทางการแพทย์ อย่างกรณีการนำ "คีเลชั่นบำบัด" มาให้บริการโดยอวดอ้างว่าสามารถลดริ้วรอย ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ทั้งยังใช้รักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ให้หายขาดได้
ทั้งที่จริง "คีเลชั่นบำบัด" ทำเพื่อขับสารพิษโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารหนู ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่สะสม หรือบำบัดภาวะผิดปกติทางสุขภาพที่สัมพันธ์กับการสะสมและตกค้างของสารโลหะหนักแบบเรื้อรังในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่อาศัยหรือประกอบอาชีพในแหล่งที่มีสารโลหะหนัก อาทิ โรงงานแบตเตอรี่ โรงเชื่อมโลหะ หรือเป็นผู้ที่มีประวัติถูกยิงและมีกระสุนฝังในร่างกาย โดยการนำสารเคมี เช่น โปรตีนสังเคราะห์ EDTA ฉีดเข้ากระแสเลือด เพื่อเข้าไปจับตัวกับอนุภาคของโลหะหนัก เพื่อขับโลหะหนักออกจากร่างกาย ซึ่งอาจจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ หากใช้กับบุคคลที่ร่างกายมีโลหะหนัก แต่ไม่ได้ถึงระดับขนาดที่เป็นพิษหรือป่วยด้วยโรคพิษโลหะหนัก
อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้แน่ชัดว่าสามารถลดริ้วรอยช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หรือสามารถรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันตามมาตรฐานทางการแพทย์สงวนการทำคีเลชั่นบำบัดไว้สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคพิษโลหะหนักเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นประชาชนจะต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจรับบริการอย่าด่วนตัดสินใจเพียงเพราะคำโฆษณา