วันที่ 30 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 13 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง วาระการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการจัดทำข้อเสนอระบบการเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน พิจารณาเสร็จแล้ว
โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอบทสรุประบบการเลือกตั้งและการทำงานที่จัดทำโดยอนุกรรมาธิการ ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นถือเป็นฉันทามติของสมาชิกส่วนใหญ่ในที่ประชุม และสังคมกำลังถกเถียงกันถึงรูปแบบของ ส.ส.ร. ที่ต้องมายกร่างฉบับใหม่
พริษฐ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นได้มีการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในเรื่องของที่มาและกระบวนการเนื้อหา ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นพ้องในเรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีความชอบธรรมในประชาธิปไตยมากที่สุด ให้มีการร่างโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แม้การให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นจะยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่กระบวนการมี ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็เคยมีมาแล้ว และผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาอีกด้วย
แต่วัตถุประสงค์ของการมี ส.ส.ร. นั้น ก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว โดยกรรมาธิการชุดนี้ได้มีการเสนอแผนให้ประชาชนได้ร่วมกันพิจารณา เพื่อเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และที่อนุกรรมาธิการเห็นว่ารูปแบบของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นก็ไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่จะประกอบไปด้วยหลายประเภท ที่ล้วนมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน และยังคงความชอบธรรมในประชาธิปไตยด้วยและก็ยังเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มมากขึ้น
ประเภทแรกคือตัวแทนพื้นที่ หรือตัวแทนทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ส่วนย่อยคือ แบบเขตเลือกตั้ง จะเป็นกลุ่มเล็กกว่าจังหวัด หรือ กลุ่มจังหวัด เป็นต้น
ต่อมาคือ จำนวน ส.ส.ร. ต่อ 1 เขตเลือกตั้ง , ระบบเลือกตั้งและวิธีการได้มา อาจจะมีจำนวนที่ต้องเท่ากันในทุกเขตเลือกตั้ง หรืออีกกรณีก็คือจำนวนไม่ต้องเท่ากันในทุกเขตเลือกตั้งก็ได้
ส่วนระบบเลือกตั้งนั้นก็อาจจะมีการเลือกแบบรายบุคคล เหมือนกับ สส. ขณะที่อีกระบบก็คือจะเป็นแบบบัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายที่มองว่าการมี ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนในพื้นที่เดียวนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ เช่นความกังวลต่อ ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทนพื้นที่อาจจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีพื้นที่สำหรับผู้ที่เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์อยู่ในกระบวนการหรือไม่ ทั้งที่มีส่วนสำคัญในการสะท้อนเสียงประชาขน และเพื่อเป็นการป้องกันเหตุผลว่า ส.ส.ร.ไม่ควรมาจากการเลือกตั้ง ก็คือการแบ่งกลุ่มเครือข่ายและประเภทของ ส.ส.ร.ที่เป็นกลุ่มเฉพาะขึ้นมา ซึ่งมีทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ และ กลุ่มความหลากหลายของกลุ่มคน
จากนั้นได้มีสมาชิกร่วมในการอภิปราย อาทิ จากพรรคเพื่อไทย โดยมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นเหมือนค่ายกลที่แก้ไขหรือป้องกันได้ลำบาก โดยตลอดระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเกิดปัญหาในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ทุกฝ่ายควรพิจารณาร่วมกันให้ตกผลึกและคนมีกระบวนการทำประชามติเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าไปในส่วนร่วม
ขณะที่สมาชิกจากพรรคก้าวไกล ได้เสนอว่าควรให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญมีผลอย่างยิ่งต่อทิศทางของประเทศ ดังนั้น การออกแบบ ส.ส.ร.ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องทำให้ถูก และคำถามของสังคม ต้องคิดต่อมาว่า ส.ส.ร.ควรมีที่มาอย่างไรหรือมีกลุ่มคนที่หลากหลายแค่ไหน เพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพ นำพาสังคมไทยออกจากวิกฤตทางการเมืองอย่างแท้จริง และสิ่งสำคัญคือ ส.ส.ร.ควรมีคุณสมบัติอย่างไรกันแน่ เพราะอาจจะถูกครอบงำจากคนที่ถูกแต่งตั้งได้ เพื่อเป็นลักษณะของการทำงานทดแทนบุญคุณและไม่ยึดโยงกับประชาชน