วันที่ 17 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ 'กฎหมายสมรสเท่าเทียม' ซึ่งเป็นวันแรกซึ่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ภาคประชาชนได้เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ที่มีชื่อเสียง อาทิ วุฒิธร มิลินทจินดา หรือ 'วู้ดดี้' พิธีกร และ ณัฐชัย ตั้งนิมิตรธนา หรือ 'นัท นิสามณี' อินฟลูเอนเซอร์และเน็ตไอดอล และ กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว หรือ แต๋ง After Yum หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน After Yum
ซึ่งเมื่อวู้ดดี้ เดินทางมาถึง ได้เข้าพูดคุยและสวมกอดกับ ดนุพร ปุณณกันต์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น
ขณะที่ อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า วันนี้จะมีการประชุมต่อยอดจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีอีกหลายมาตราที่เราต้องพิจารณา โดยในวันนี้จะมีที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ เข้ามาร่วมประชุมด้วยหลายท่าน ทั้งนี้ แล้วที่ปรึกษาที่ตั้งมาไม่ได้มีแค่ 9 คน แต่มีถึง 57 คน เพื่อให้การแก้กฎหมายมีความครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงกลุ่มเพศหลากหลาย
”ทางฝ่าย สส.เองจะพยายามทำให้ทำงานให้เร็วขึ้นและพิจารณากฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมไปถึงคนไทยทั้ง 67 ล้านคน ดังนั้น ในส่วนของผมจะทำงานด้วยความระมัดระวังเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาดีที่สุด“ อัครนันท์ กล่าว
ด้าน วุฒิธร กล่าวว่า การประชุมกรรมาธิการเป็นไปตามกระบวนการอยู่แล้ว โดยวาระแรกจะมีการพูดถึงกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการประชุมวันนี้คงจะมีการนำเสนอประเด็นขึ้นมาให้พูดคุยกันก่อน
“คิดว่าวันแรกยังไม่ได้ลงสนามอย่างแท้จริง ถือเป็นการอุ่นเครื่องและการวอร์ม มาทำความรู้จักกันก่อน ดูบรรยากาศว่าในห้องประชุมเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากแต่ละคนมาจากคนละที่ และเชื่อว่าจุดยืนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายเหมือนกันคืออยากให้กฎหมายนี้ผ่านอย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชน ในส่วนของที่ปรึกษา มีคนจากหลายพรรค หลายกลุ่ม บางคนอาจเห็นข่าวแล้วคิดว่ามีแค่ไม่กี่คน อาจจะเป็นแค่คนในวงการ แต่ความจริงมีคนนอกวงการอีกประมาณ 90%” วุฒิธร กล่าว
วุฒิธร ยังให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้สมบูรณ์เกือบทุกฉบับอยู่แล้ว แต่อาจจะมีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางอย่างที่ต้องใช้เวลานิดในการปรับเปลี่ยน เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายกระทรวงและหลายส่วน เพราะแต่ก่อนต้องเป็นชายกับหญิงแต่ขณะนี้เป็นบุคคลหนึ่งและบุคคลสอง รวมถึงเราต้องมองถึงบุคคลอีกหลายกลุ่มที่อาจจะมองเรื่องนี้ว่าขัดกับวิถีชีวิตของเขา ซึ่งเราต้องมาดูอีกครั้ง เพื่อที่จะหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ อย่างไรก็ตาม คิดว่าในฐานะที่เป็นนักโซเชียลจะสามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาแชร์ต่อได้ โดยการเป็นที่ปรึกษา เรามาในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชน
“รู้สึกยินดีมากที่มีโอกาสมาร่วมประชุม และขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องข้อกฎหมายนี้ และเร่งที่จะผลักดันให้ออกอย่างเร่งด่วน” วุฒิธร กล่าว
ขณะที่ นิสามณี กล่าวว่า ก่อนมาประชุมวันนี้ ได้มีการสอบถามจากแฟนคลับถึงข้อเรียกร้องหรือช่องว่างที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอยากให้เกิดขึ้นในข้อกฎหมายนี้ ซึ่งตนเองพร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงแทนสังคมนี้ และอยากฝากบอกว่าจริงๆ เราไม่ได้ต้องการขออะไรที่เพิ่มเติมหรือเกินเลย แต่เราขอให้เท่าเทียมกัน ซึ่งหากกฎหมายผ่านนอกจากเราจะมีความรักที่มีความสุขมากขึ้นเต็มที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้ว รวมถึงเศรษฐกิจและ GDP ที่เกิดขึ้นจะสูงขึ้นได้ ดังนั้น ผลประโยชน์จึงไม่ได้ตกอยู่ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่รวมถึงสังคมโดยรวมด้วย