ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายแจงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผล 26 มี.ค. ปัดปลดบรรดารัฐมนตรี ชี้กฎหมายให้ข้าราชการประจำเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ยังไม่ปิดประเทศ เนื่องจากยังให้คนไทยสามารถเดินทางกลับประเทศได้ ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถาน ลั่นนายกรัฐมนตรี สั่งเจ้าหน้าที่ ห้ามหย่อนยาน บังคับใช้กฎหมายเฉียบขาด และประชาชน มีเสรีภาพ ติชม รัฐบาลได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาวสถานการณ์ถึงขั้นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับปัญหาและสถานการณ์โรคโควิด-9 การประกาศครั้งนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่และเรื่องแปลก แต่ที่ผ่านมาเป็นเหตุจากความไม่สงบ แต่ครั้งนี้เป็นการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงเป็นครั้งแรก แต่สามารถทำได้ เพราะนิยามของคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินในกฎหมายรวมไปถึงภัยสาธารณะ นั่นคือโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ใช่เฉพาะเพียงการสู้รบเท่านั้น

ตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องกระทำผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติและให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในประกาศ และเผยแพร่วันที่ 25 มี.ค. แต่จะมีผลจริงในวันพรุ่งนี้ 26 มี.ค. 2563 หรือเที่ยงคืนวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งการประกาศครั้งนี้คณะรัฐมนตรีกำหนดช่วงเวลา เดือนเศษ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 แล้วจึงประเมินสถานการณ์ประเมินต่ออายุเป็นคราวไปครั้งละไม่เกิน 3 เดือน

นายวิษณุ ระบุว่า เหตุที่เว้นระยะ 2 วันก่อนประกาศใช้จริง ไม่ใช่ว่าเหมือนไม่จริงจัง เป็นการเตรียมการหลังมีมติจะมีผลทันทีเลยไม่ได้จึงจะต้องมีการให้ประชาชนได้เข้าใจและเจ้าหน้าที่ต้องรับรู้เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติ เมื่อหากละเมิดหรือกระทำผิดจะมีผลกระทบจริง จึงถือเป็นการเตือนให้รู้ล่วงหน้า ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกฎหมายได้กำหนดเบื้องต้นไว้ว่าสามารถจะโอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กฎหมายใดก็ได้มาเป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้นายกฯ ได้รับข้อเสนอจากกระทรวงต่างๆ และจะมีการออกคำสั่งให้โอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตาม พ.ร.บ. 40 ฉบับในเบื้องต้นมาเป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งการโอนในที่นี้เป็นการโอนอำนาจการสั่งการเสมือนนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวง แต่รัฐมนตรียังคงเป็นเจ้ากระทรวงเหมือนเดิม ไม่ได้หมายความว่าเป็นการปลดรัฐมนตรี หรือให้พ้นจากตำแหน่ง หรือไม่ให้รับผิดชอบแต่ยังคงต้องรับผิดชอบเหมือนเดิม 

"การโอนอำนาจมีการเขียนท้ายคำสั่งว่าในขณะที่นายกรัฐมนตรียังไม่เข้าสู่อำนาจและสั่งการเป็นอย่างอื่นรัฐมนตรีผู้มีอำนาจหน้าที่อย่างเดิมก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งเดิมทุกประการเพียงแต่นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปสู่อำนาจนี้เมื่อใดก็ได้"

นายวิษณุ ระบุถึงคำสั่งฉบับแรกที่ประกาศมีเนื้อหาการโอนถ่ายอำนาจ 40 ฉบับเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการส่วนคำศัพท์ฉบับที่ 2 ที่จะออกตามมาคือคำสั่งที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์ โดยกฎหมายกำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้ตั้งให้รองนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นผู้ช่วยในการรักษาสถานะการเรียงลำดับในการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบด้านต่างๆ ในอดีตจะมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว เนื่องจากมีเพียงด้านเดียวและมีการจำกัดพื้นที่

แต่ครั้งนี้เป็นทั่วราชอาณาจักรจึงมีการแยกหัวหน้าผู้รับผิดชอบ โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขทั่วราชอาณาจักร ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในด้านการปกครองเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมสินค้ามีให้ขาดแคลน หรือขาดตลาด หรือขึ้นราคา หรือปลอมแปลง 

ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โซเชียลออนไลน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รับผิดชอบในส่วนความมั่นคงดูแลทหารตำรวจเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นอกจากนั้นยังมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการประสานงาน ประกอบด้วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงาน

วิษณุ โควิด 3255000000.jpg

ชี้ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ขรก.ประจำเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

นายวิษณุ ระบุว่า การไม่ตั้งรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบนั้น ใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กำหนดให้ต้องมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบโดยแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ส่วนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงยังคงต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งเป็นในส่วนนโยบาย ส่วนการตั้งศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน โดยกระดับมาจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และเขียนให้เกิดความคล่องตัว โดยหากมีสถานการณ์เร่งด่วนนายกรัฐมนตรีสามารถออกคำสั่งได้โดยไม่ต้องเรียกประชุม โดยให้ถือเป็นมติของที่ประชุม รวมไปถึงสามารถตั้งที่ปรึกษาได้ ซึ่งภายในศูนย์นี้จะมีการตั้งศูนย์ย่อยภายในอีก 6 ศูนย์ โดยมี สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนข้อกำหนดต่างๆ จะมีผลกระทบกับวิถีชีวิต มี 17 ข้อ ซึ่งต้องลงราชกิจจานุเบกษาและจะเผยแพร่ให้สื่อมวลชนทราบต่อไป 

โดยข้อกำหนดดังกล่าวจะกำหนดพฤติกรรมไว้ 3 ประเภท คือ "ห้ามทำ" จะเป็นการห้ามประชาชน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา 35 เป็นผู้พิจารณาตรวจสอบ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสาธารณะ หรือศาสนสถาน รวมไปถึงห้ามเดินทางเข้าในราชอาณาจักรโดยยานพาหนะใดทุกจุดทุกด่าน ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย เพียงแต่ต้องมีเอกสารสำคัญใบรับรองทางการแพทย์ แต่หากจะหาใบแทนอื่น ให้ติดต่อสถานฑูต

นอกจากนั้นยังยกเว้นบุคคลในคณะฑูตโดยแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย และต้องมีใบรับรองแพทย์ และผู้ขนส่งสินค้า แต่เมื่อส่งสินเสร็จต้องออกไปโดยเร็ว และผู้ที่มากับยานพาหนะ อย่างนักบิน สจ๊วด แอร์ และบุคคลที่ได้การยกเวินจากนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขระยะเวลา นอกจากนั้นยังมีการประกาศห้ามชุมนุม ต้องมีการเว้นระยะห่าง การชุมนุมจะเป็นสาเหตง่ายที่สุดในการแพร่ระบาดของโรค เว้นแต่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันให้ถูกต้องตามหลักการแพทย์ ห้ามเผยแพร่ข่าวเท็จ ทำให้เกิดการตื่นตระหนก

 "ให้ทำ" ไม่ใช่เป็นบังคับประชาชน แต่เป็นการบังคับส่วนราชการ เช่น ให้หน่วยงานเตรียมบุคลากร เตรียมยา โรงพยาบาลสนาม สถานที่ หรือเช่าโรงแรม พักรักษาหรือกักกันผู้ป่วย รวมไปถึงการใช้อาคารเอกชนเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมการไปแล้วบางส่วน

เดินทาง ตจว. ได้แต่จะมีด่านตรวจสกัดรอยต่อจังหวัด

และ "ควรทำ" ซึ่งเป็นคำแนะนำ ไม่ได้ถึงขั้นบังคับประชาชน แต่ในคำสั่งฉบับที่ 1 เป็นคำว่า "ควร" แต่คำสั่งที่ 2 และ 3 จะเป็นการยกระดับเป็นคำสั่งทันที เช่น ประชาชนควรอยู่บ้าน ซึ่งยังมีการแนะนำ บุคคล 3 กลุ่มต่อไปนี้ที่มีความเสี่ยงสูงมากอยู่บ้านหรือเว้นแต่ทำธุรกรรมด้านนอกที่จำเป็น ประกอบด้วย บุคคลสูงอายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีอายุใดก็ตามแต่เป็นโรคประจำตัวบางอย่างตามระบุ เช่น โรคเบาหวานความดัน ทางเดินหายใจ โรคปอด รวมถึงเด็กอายุตั้งแต่ 0 ถึง 5 ปี แต่ควรอีกชนิดคือการเดินทางไปต่างจังหวัด พบว่ามาตรการนี้มีการใช้ในหลายประเทศ แต่เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเป็นมาตรการควรตามประกาศฉบับที่ 1 แม้จะสามารถเดินทางได้ แต่เป็นกรณีที่มีมาตรการเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง โดยฝ่ายความมั่นคงจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร หรือ กอ.รมน. อาสาสมัคร ตั้งจุดสกัด หรือ ด่าน โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติหาทางติดแอปพลิเคชันติดตามตัวแต่ผู้โดยสารทั้งหมด 

ย้ำไม่ปิดประเทศ ให้คนไทยกลับเข้าประเทศได้

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยืนยัน ว่าคำสั่งที่ 2 และ 3 จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศ เนื่องจากเปิดให้คนไทยสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ รวมไปถึงขณะนี้ยังไม่ปิดเมืองสามารถเดินข้ามเขตจังหวัดได้ แต่มีความยุ่งยากลำบากในการเดินทางเนื่องจากไม่สนับสนุนให้มีการเดินทางจึงใช้มาตรการที่ยุ่งยากลำบากในการเดินทางและเสียเวลาและยังไม่มีการประกาศปิดบ้านเป็นเพียงกึ่งเท่านั้น ข้าราชการ พนักงานสามารถทำงานได้ตามปกติ 

ส่วนคำสั่งที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เปิด และอย่าปิด เช่น โรงงาน ธนาคาร ร้านอาหาร โดยเป็นการซื้อกลับ ห้างสรรพสินค้า เปิดเฉพาะอาหาร ยา สินค้าในชีวิตประจำวัน การขนส่งสินค้า ซื้อขายได้ตามปกติ แต่ห้ามกักตุนสินค้า สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิก สถาบันหลักทรัพย์

ยังไม่ห้ามออกนอกเคหสถานออกจากบ้านได้

รองนายกฯ ย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถาน ยังสามารถออกจากบ้านได้ตามปกติ เป็นเพียงคำเตือนในระดับที่ 1 แม้ประกาศเคอร์ฟิวจะไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาดตลอดเวลา หากประกาศจะต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง แต่จะมีข้อยกเว้นระบุไว้ ส่วนจะประกาศหรือไม่จะมีการประเมินสถานการณ์รายวัน โดยใช้ข้อมูลทางการแพทย์

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับภาวะความมั่นคง ปล้น จี้ ชิงทรัพย์ นั้น ได้ตั้ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากอาจทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น ต้องมีการเข้มข้นตรวจตราเพิ่มกว่าเดิม พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายด้วยความมั่นใจ กฎหมายปกติต้องไม่หย่อนยาน ดำเนินคดีเฉียบขาดทุกประเภท 

ทั้งนี้ พระราชกำหนดนี้ยังไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้านต่างๆ รวมถึงการเมืองได้ตามปกติ สามารถติชมรัฐบาลได้ตามอย่างที่เคยทำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง