ไม่พบผลการค้นหา
ชาวพะโต๊ะยื่นหนังสือยุติกระบวนการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง กังวลรัฐบาลลัดขั้นตอน ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ แต่โรดโชว์นักลงทุน

เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วันที่ 30 ต.ค. 66 ณ ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ได้ยื่นหนังสือต่ออำเภอพะโต๊ะ ผ่าน เชิงชาย ไพรพฤกษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอพะโต๊ะ เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่กำลังจัดเวทีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ยุติการจัดเวที หรือการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเอาไว้ก่อน

จนกว่าจะมีการเข้ามาชี้แจงข้อสงสัย และหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้องนี้ จะปฏิเสธความร่วมมือและจะร่วมกันคัดค้านการจัดเวทีหรือการทำกิจกรรมอื่นใดของทุกหน่วยงานหลังจากนี้ไปอย่างถึงที่สุด โดยมีการถือแผ่นป้ายระบุข้อความ “พะโต๊ะเมืองเกษตร ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม”

เฉลิมอุษา สีเขียว เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า พวกเราทราบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอไปแล้วหลายครั้ง และล่าสุดทราบว่าจะมีการจัดเวทีในวันที่ 14 พ.ย. 66 นี้อีกครั้ง กลายเป็นความสับสนและไม่เข้าใจต่อกระบวนการจัดเวทีที่ผ่านไปแล้ว และที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต จะส่งผลอะไรตามมากับพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลมีการประกาศไปแล้วว่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ให้ได้ 

พร้อมกับจะมีการเดินสายเพื่อหาผู้ประกอบการจากต่างประเทศ มาลงทุนในโครงการให้ทันภายในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้ยังมีอำนาจบริหารประเทศ จึงยิ่งสร้างความไม่มั่นใจว่า การจัดเวทีทั้งหลายเหล่านั้นจะดำเนินต่อไปเพื่ออะไร หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการ ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ 

ขอเรียกร้องให้นายอำเภอได้ทำหน้าที่สื่อสารและประสานงานไปยังผู้บังคับบัญชา รวมไปถึงบริษัทที่รับงานศึกษาต่างๆ ขอให้รับทราบถึงข้อกังวล เพื่อให้ได้มีการเข้ามาทำความเข้าใจด้วยการชี้แจงอย่างเป็นระบบถึงสิ่งที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ว่า ยังต้องมีการจัดเวทีอะไรบ้างกี่เวที และแต่ละเวทีนั้นอยู่ในกระบวนการศึกษาของโครงการอะไรบ้าง และทั้งหมดนั้นอยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไร และท้ายที่สุดแล้วการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะนำไปสู่การก่อสร้าง หรือไม่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์หรือไม่และอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับรู้ถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนที่จะมีการดำเนินการอะไรต่อไปหลังจากนี้

ที่ผ่านมาหน่วยงานให้ข้อมูลที่บิดเบือนความจริง ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดี ไม่ให้ข้อมูลผลกระทบด้านลบ ไม่ให้ข้อมูลภาพรวม แยกส่วนโครงการรถไฟ มอเตอร์เวย์ และอื่นๆ พื้นที่พะโต๊ะส่วนใหญ่ทำเกษตรแต่เขาบอกว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เขาเชิญเข้าร่วมเวทีเฉพาะเจ้าของที่ดินที่มีโฉนด นส.3 ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เลยได้เข้าร่วมเวทีน้อย การเข้ามารังวัดที่ดินจะไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่แจ้งเจ้าของที่ดิน การรับฟังในช่วงแรกๆ เขาถามความเห็นเฉพาะผู้นำชุมชน โครงการยังไม่ได้สร้างก็มีผลกระทบต่อจิตใจ เกิดความวิตกกังวลว่าจะถูกอพยพโยกย้าย ไม่มีบ้านที่ทำกิน โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินแปลงเดียว

ด้าน สมโชค จุงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ แต่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งที่คนพะโต๊ะได้รับคือความฉิบหาย พะโต๊ะมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวน และคลองละแม มีเขตอนุรักษ์หลายแห่ง ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1A มีสัตว์หายาก เช่น กระทิง ช้าง วัวแดง กวาง เสือ ค่าง หมูป่า ลิงเสน กระจง นกเงือก 

นอกจากนั้น โครงการนี้จะนำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมา ซึ่งตอนนี้นักการเมืองกำลังผลักดันกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC ที่ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายอำเภอในจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีมูลค่าสูง ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท พื้นที่ปลูกทุเรียนโดยส่วนใหญ่อยู่ที่พะโต๊ะและหลังสวน ในอนาคตจะมีการแย่งน้ำระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ของเสีย น้ำเสีย ขยะพิษ อากาศพิษ จากนิคมอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

“ในส่วนชาวบ้าน อ.พะโต๊ะ ทำเกษตร 6,178 ครัวเรือน คิดเป็น 97.09% มีพื้นที่เกษตรรวม 149,578 ไร่ มีรายได้จากเกษตรปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยที่ดิน 80% ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถ้าถูกเวนคืนจะได้รับเฉพาะค่าอาสินที่ให้ผลผลิตแล้ว เช่น ทุเรียนต้นละ 18,740 บาท มังคุดต้นละ 5,710 บาท ปาล์มน้ำมัน อายุ 3 ปีขึ้นไป ต้นละ 5,800 บาท ยางพารา ต้นละ 4,370 บาท

กรณีสวนทุเรียน เนื้อที่ 8 ไร่ ประมาณ 60 ต้น ถ้าถูกอพยพเวนคืนจะได้ค่าอาสินแค่ 1.1 ล้านบาท ไม่สามารถซื้อที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ในจำนวนเท่าเดิม เพราะปัจจุบันที่ดินมีราคาสูง แต่หากเรายังคงอยู่ในพื้นที่จะมีรายได้จากทุเรียน ปีละประมาณ 2.5 ล้านบาท สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต และเป็นมรดกให้ลูกหลาน เราจึงยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่และต่อสู้จนถึงที่สุด” สมโชค กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงวันที่ 28-30 ต.ค. 66 เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนอำเภอพะโต๊ะ สภาประชาชนภาคใต้ มูลนิธิภาคใต้สีเขียว และศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ได้จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ในพื้นที่ อ.พะโต๊ะ และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร จำนวน 4 เวที ได้แก่ เวทีในพื้นที่ ต.ปังหวาน ต.พะโต๊ะ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จำนวน 3 เวที และ เวทีในพื้นที่ ต.นาขา อ.หลังสวน จำนวน 1 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 5 อำเภอใน จ.ชุมพร ได้แก่ พะโต๊ะ หลังสวน ทุ่งตะโก ปะทิว และเมืองชุมพร รวมถึงผู้เข้าร่วมจาก จ.ระนอง 

ทั้งนี้ จากเวทีดังกล่าว เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง และภาคีเครือข่ายในภาคใต้ มีแผนจัดเวทีสาธารณะ ชำแหละแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ใครได้ ใครเสีย ? ในทุกมิติ ในวันที่ 15 พ.ย. 66 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพะโต๊ะ วิทยากรประกอบด้วยนักวิชาการหลายแขนง นักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ เตือนใจ ดีเทศน์ อ.ประสาท มีแต้ม ดร.อาภา หวังเกียรติ หาญณรงค์ เยาวเลิศ พล.ร.ต.จตุพร สุขเฉลิม สมบูรณ์ คำแหง สมโชค จุงจาตุรันต์