ไม่พบผลการค้นหา
"ชวลิต" เตือน ส.ว.ระวังลงมติขัด รธน.ม.114 และมาตรฐานทางจริยธรรม ฯ ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวให้ความเห็นว่า ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. นั้น ในฐานะที่ตนเคยรับราชการมาก่อนและรู้จัก คุ้นเคยกับ ส.ว. หลายท่าน โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เป็นอดีตข้าราชการ จึงขอให้ข้อคิด ข้อควรระวังในการลงมติของ ส.ว.ว่า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในบุคคลที่อาจมีประโยชน์ขัดกัน ส่อขัด รธน. มาตรา 114 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2561 ซึ่งบังคับใช้กับ ส.ส.และ ส.ว.ด้วย กล่าวคือ     

รธน.มาตรา 114 บัญญัติว่า" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"

จากบทบัญญัติของ รธน.มาตรา 114 ดังกล่าว เห็นได้ว่า หาก ส.ว.ท่านใดลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่เสนอแต่งตั้งท่านมาเป็น ส.ว. นับเป็นการดำเนินการที่ขัดกับ รธน. มาตรา 114 ในส่วนที่ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อย่างชัดแจ้ง จึงขอให้รอบคอบ อ่าน รธน.มาตรา 114 ทีละบรรทัด ก็จะเห็นสอดคล้องต้องกัน ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้      

ในกระบวนการสรรหา ส.ว.ที่ผ่านมา วิญญูชนโดยทั่วไปก็คงเห็นเช่นเดียวกันว่า ที่มาของการคัดเลือก ส.ว. ส่อมีความไม่เป็นกลาง มีผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าจะพูดภาษาชาวบ้านก็ คือ ตั้งเอง ชงเอง กินเอง ชาวบ้านทั่วไปก็เห็นตรงกันหมด  นอกจากนี้ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ยังส่อขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2561 ซึ่งในข้อ 3 วรรคท้าย ของมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่ ส.ส., ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย        

ทั้งนี้ ในหมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 11 กำหนดว่า "ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม"ดังนั้น จึงขอให้ท่าน ส.ว.ได้ไตร่ตรอง ศึกษา รธน.มาตรา 114 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ ซึ่งใช้บังคับกับ ส.ว. ด้วย อย่างถ่องแท้ รอบคอบ ไม่มีใครรับผิดแทนท่านได้ หากลงมติขัด รธน.และมาตรฐานทางจริยธรรม ฯ     

อย่างไรก็ดีตนทราบดีว่า โดยลักษณะนิสัยของคนไทยโดยทั่วไป ต้องตอบแทนผู้มีบุญคุณ แต่ถ้าการตอบแทนนั้น ถึงกับทำให้ขัดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รวมทั้งถ้าขัดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ ซึ่งมีมาตรการที่เข้มข้น และให้ใช้บังคับกับ ส.ว.ด้วยน่าเป็นห่วงสถานภาพของ ส.ว.หากลงมติขัด รธน. และมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว      

อนึ่ง ส.ว.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ถ้าการลงมติในครั้งแรก ขัด รธน. และมาตรฐานทางจริยธรรมเสียแล้ว ก็น่าเสียดายโอกาสที่จะทำหน้าทึ่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเวลาอีกถึง 5 ปี