นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โพสต์เฟซบุ๊กวานนี้ (23 ธ.ค.) ในวันครบรอบ 11 ปี (วันอาทิตย์ที่ 23 ธ.ค. 2550) ของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ว่าทำไมพรรคเพื่อแผ่นดินและพรรคมัชฌิมาธิปไตยถึงพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งปี 2550
โดย นพ.สุรพงษ์ บอกว่า หลังพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุด ถูกยุบไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 ก่อนวันเลือกตั้งเพียงไม่ถึง 7 เดือน และกรรมการบริหารพรรค 111 คนถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตอนนั้นหลายคนทำนายว่าการเมืองแบบพรรคไทยรักไทยจบลงแล้ว การเมืองที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง "เปิดเกมใหม่" ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน คือ "เกมนโยบาย" ที่พรรคอื่นทำไม่เป็น โดยไม่ยอมเล่น "เกมโวหาร" ที่พรรคการเมืองอื่นถนัด
ซึ่งหลังจากพรรคฯ ถูกยุบ ส.ส. แตกไปคนละทิศละทาง แต่ส่วนใหญ่ยังรวมกลุ่ม แม้ช่วงรณรงค์ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันที่ 19 ส.ค. 2550 และถึงจะแพ้ประชามติ แต่จากการรณรงค์ในครั้งนั้น นำไปสู่การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชาชนเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือน ธ.ค. 2550
ส่วนพรรคการเมืองเกิดใหม่ของอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ที่แตกทัพออกไปและดูน่าเกรงขามมีอยู่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย
โดยพรรคเพื่อแผ่นดิน มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค แกนนำสำคัญมาจากกลุ่มวังพญานาคของ นายพินิจ จารุสมบัติ และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, กลุ่มบ้านริมน้ำของ นายสุชาติ ตันเจริญ และกลุ่มอัศวเหม ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตยมีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค แกนนำสำคัญมาจากกลุ่มวังน้ำยม ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย
ทั้ง 2 พรรคเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ มีอดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีการจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคอย่างเข้มข้น จากมันสมองของคนระดับ อดีตรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวง พรรคเพื่อแผ่นดินตั้งเป้า ส.ส.ประมาณ 70-80 ที่นั่ง ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตยตั้งเป้าประมาณ 20-30 ที่นั่ง ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นปรากฎว่า พรรคเพื่อแผ่นดินได้รับเลือกตั้งเพียง 24 ที่นั่ง และพรรคมัชฌิมาธิปไตยได้เพียง 7 ที่นั่ง น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 300 เปอร์เซนต์
นพ.สุรพงษ์ ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ทั้ง 2 พรรคพ่ายแพ้ไว้ 4 ข้อคือ
1. ความสำเร็จจากนโยบายของพรรคไทยรักไทยยังเป็นความจริงที่ประชาชนสัมผัสได้ทุกๆ วัน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค
2. การทำความนโยบายหาเสียงของพรรคไทยรักไทยทันที่ที่ได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง ทำให้พรรคพลังประชาชนที่ต่อเนื่องมาจากไทยรักไทยได้รับผลพวงความมั่นใจจากประชาชน
3. พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพิ่งจัดตั้งเพียงไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง การบริหารจัดการของพรรคแบบพรรคไทยรักไทยเคยทำไว้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ
4. แกนนำของทั้งสองพรรคเชี่ยวชาญแค่ในพื้นที่ แต่ไม่เคยมีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งในภาพรวมของพรรคไทยรักไทยเลย หัวใจของการรณรงค์เลือกตั้งไม่ใช่เพียงแค่ "รุก" ในเขตเลือกตั้ง แต่ต้อง "รุก" เข้าไปในหัวใจของประชาชนด้วย
ทั้งนี้ นพ.สุรพงษ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า บทเรียนจากทั้งสองพรรคข้างต้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ทิศทางการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 และเชื่อมั่นว่าเป้าหมายที่พรรคพลังประชารัฐตั้งไว้ 150 ที่นั่ง จะไม่ได้ตามเป้า และผลที่ได้จะต่ำกว่าเป้า ไม่ใช่ 300 เปอร์เซนต์ แต่อาจทะลุถึง 400-500 เปอร์เซนต์ ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้เสรีเป็นธรรม และไม่มีการโกงเลือกตั้ง