เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำเนิดคู่เคียงกับวิถีชีวิตมนุษย์มาหลายร้อยปี บางตำนานว่ามันเป็นน้ำจากสวรรค์ บ้างว่าเป็นเครื่องดื่มแห่งความชั่วร้าย นั่นคงแล้วแต่ใครจะนิยาม
เครื่องดื่มแอลกอฮฮล์บางชนิดดีด้วยรสชาติ ความนุ่ม ความหอม ความเข้ม จากกระบวนการอันสลับซับซ้อน แต่บางเครื่องดื่มดีด้วยเรื่องราว ด้วยประวัติศาสตร์ ที่ซ้อนลึกเข้าไปถึงแก่น ถึงก้นแก้วที่ใครต่อใครยกดื่ม
เบียร์ ‘ลา ทร้าป’ (La Trappe) น่าจะเต็มไปด้วยเสน่ห์ตามแบบหลัง แม้รสชาติดีเกินมาตรฐานของเบียร์เอล แต่เรื่องราวการถือกำเนิดนั้น - อาจกล่าวได้ว่าน่าสนใจ และจับใจทั้งคอดื่ม และคอประวัติศาสตร์ยิ่งกว่า
พูดถึงคำว่า ลา ทร้าป เราอาจจะต้องลงไปทำความเข้าใจกับคำว่า ‘เบียร์แทรปปิสต์’ (Trappist) ให้ลึกซึ้งขึ้นเสียก่อน เพราะมันเป็นเบียร์แบรนด์หนึ่งในกลุ่มเบียร์แทรปปิสต์ ซึ่งคำว่าแทรปปิสต์ ก็ไม่ใช่ประเภทจำแนกของเบียร์แบบ ลาเกอร์ เอล ไอพีเอ ไวเซ่น แต่อย่างใด แต่หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการผลิตเบียร์ออกมา
‘แทรปปิสต์’ คือกลุ่มนักบวชกลุ่มหนึ่งในคริสตศาสนา เดิมทีอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เป็นกลุ่มนักบวชที่เคร่งในการสวดภาวนา และดำรงชีพด้วยหลักการพอเพียง บวกกับมีกระบวนการจัดหาอาหารการกิน และรายได้ด้วยตนเอง โดยไม่แสวงหาผลกำไร พึ่งพาภายนอกให้น้อยที่สุด
ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 กลุ่มนักบวชแทรปปิสต์กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วยุโรป กระทั่งปัจจุบัน แต่ด้วยหลักการที่ยึดมั่น การจัดหารายได้เข้าอารามเป็นเรื่องที่จำเป็น นั่นทำให้เบียร์แทรปปิสต์ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเป็นธุรกิจเลี้ยงชีพของแต่ละอารามของคณะสงฆ์แทรปปิสต์ในยุโรป รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย
ปัจจุบันมีอารามเพียง 14 แห่งของโลกเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ชื่อคณะสงฆ์แทรปปิสต์ในการขออนุญาตประกอบกิจการ ผลิตเบียร์ยี่ห้อที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบันหาดื่มเบียร์แทรปปิสต์ในประเทศไทยได้ 6 แบรนด์ด้วยกัน
ลา ทร้าป เป็นเบียร์ที่ถูกผลิตในอาราม เดอ โคนิงชูเว่น ทางภาคใต้ของดินแดนกังหันลม แบรนด์ลา ทร้าป มีอายุกว่า 130 ปี และยังคงใช้กรรมวิธีรังสรรค์รสชาติในรูปแบบดั้งเดิม โดยผลิตด้วยจารีต และวิถีโบราณของสมาคมนักบวชแทรปปิสต์นานาชาติ เป็นเบียร์เอลที่ได้รับความนิยมเนื่องจากรสชาติที่นุ่มละมุน
ลา ทร้าป ถูกควบคุมการผลิตด้วยกฎ 3 ข้อ
กฎการผลิตข้อที่ 1 : ต้องผลิตภายในรั้วกำแพงของอาราม และภายใต้การควบคุมของนักบวชแทรปปิสต์เท่านั้น เนื่องจากไม่อยากให้มีการค้ากำไรเกิดขึ้น และต้องการให้การผลิตผสานกับการสวดภาวนาในฐานะนักบวชเป็นหนึ่งเดียวกัน
กฎการผลิตข้อที่ 2 : กระบวนการผลิตรวมถึงแนวทางการทำงานจะต้องขึ้นตรงและถูกดูแลอย่างละเอียดโดยนักบวชแทรปปิสต์ โดยนักบวชผู้ผลิตเบียร์ลา ทร้าป ยึดถือมาตลอด นับตั้งแต่บาทหลวงดิซิโดรัสคิดค้นสูตรเบียร์ขึ้นในปี ค.ศ.1884 ปัจจุบันนักบวชแห่งอาราม เดอ โคนิงชูเว่น ยังคงผลิตลา ทร้าป ด้วยการใช้ส่วนผสมชั้นดีจากธรรมชาติ แม้แต่น้ำที่ใช้ผลิตก็ดึงมาจากบ่อน้ำในอารามซึ่งลึกกว่า 150 เมตร
และกฎการผลิตข้อที่ 3 : การผลิตต้องมุ่งค้ำจุนอาราม การค้าขายและแสวงหาผลกำไรต้องตั้งอยู่บนความเหมาะสมและเป็นไปเพื่อการกุศล ซึ่งเป็นข้อสำคัญ ถือเป็นคุณค่าของเบียร์แทรปปิสต์มานับตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
เบียร์ลา ทร้าป มีด้วยกันทั้งหมด 8 ตัว ดีกรีตั้งแต่เบาๆ ไปจนถึงเอาใจคนชอบเข้มๆ ตัวที่มักถูกแนะนำให้เร่ิมต้นดื่ม มักเป็น ลา ทร้าป วีท แทรปปิสต์ (La Trappe Witte Trappist) เบียร์วีทชนิดแรก และชนิดเดียวของโลก ที่หมักโดยใช้น้ำแร่ เมล็ดข้าว ฮอปส์ที่มีกลิ่นหอมหลายชนิด (มีฮอปส์สีนิลที่ให้กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาว ให้ความรู้สึกสดชื่น) และมอลต์ข้าวสาลี ซึ่งแตกต่างจากเบียร์วีททั่วไป
อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ลา ทร้าป อิซิดอร์ (La Trappe Isid'or) เบียร์สีเหลืองอำพัน มีรสหวานเล็กน้อย และมีกลิ่นคาราเมลจางๆ มาพร้อมกับรสชาติขมติดลิ้น และมีอาฟเตอร์เทสจากรสผลไม้ ความซับซ้อนอันชาญฉลาดของเบียร์ฉลองครบรอบ 125 ปีอารามโคนิงชูเว่นตัวนี้ ถูกใจคนรักฟองเบียร์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก และเข้าไปนั่งแท่นเป็นเบียร์แก้วโปรดของใครหลายคน
ในบ้านเรา การได้ยินเรื่องราวการทำเบียร์ของคนในศาสนา อาจจะเป็นเรื่องที่ประหลาดหู แต่สำหรับในประเทศตะวันตก การทำเบียร์โดยนักบวช ถือเป็นขนบธรรมเนียม และประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่มีรากฐานและเรื่องราวประวัติศาสตร์ทับซ้อน อัดแน่น
อาชว มหามงคล ผู้เชี่ยวชาญวงการเบียร์แทรปปิสต์ ซึ่งเคยเดินทางไปยังอารามโคนิงชูเว่น และโรงผลิตเบียร์แทรปปิสต์ในอาราม เล่าให้ฟังถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจว่า โคนิงชูเว่น เป็นว่า Land of King หรือดินแดนของพระราชา เพราะเป็นที่ดินที่อารามได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์ในยุคนั้น
ปัจจุบัน โคนิงชูเว่น แม้จะเป็นโบสถ์ใหญ่ แต่มีนักบวชเพียง 12 คนเท่านั้น ดังนั้นในโรงงานผลิตเบียร์ จึงมีการจ้างแรงงานทั่วไปด้วย
นอกจากนี้ ที่อารามมีเกสต์เฮ้าส์สำหรับผู้ที่สนใจชมกระบวนการผลิต หรือต้องการมาซึบซับบรรยากาศ แต่การจะได้เข้าพักก็ไม่ง่าย อาชวบอกว่า ผู้สนใจต้องเขียนจดหมายแนะนำตัว และการเข้าพักก็ต้องปฏิบัติตัวตามกฎของนักบวช ทั้งการทำวัตรตลอดทั้งวัน และทำงานตามตารางงาน ดังคำที่เจ้าอาวาสอารามคนปัจจุบันกล่าวไว้ว่า "โรงเบียร์แสดงให้เราได้เห็นว่า สรวงสวรรค์และพื้นพิภพ ไม่อาจคงอยู่โดยปราศจากกันและกัน เช่นเดียวกัน โรงผลิตเบียร์ก็ไม่มิอาจดำรงอยู่ได้โดยไร้อาราม"
"ผมสนใจเครื่องดื่มชนิดนี้ เพราะผมคิดว่าตราบใดที่เกษตรกรรมคือกิจกรรมพื้นฐานของมนุษย์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นมนุษย์ได้ เบียร์แทรปปิสต์มีอารยธรรม มีเรื่องราว การดื่มเบียร์แก้วหนึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมัน" อาชว กล่าว
อาชว ฝากบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความรู้เรื่องเบียร์ ซึ่งทีม On Being คิดว่าน่าสนใจ จึงขอนำเสนอ