ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน ขอสถานทูตนอร์เวย์เป็นตัวกลางยับยั้งดีลควบรวม ทรู-ดีแทค หวั่นหากสำเร็จคนไทยเสียเปรียบไม่มีทางเลือกแบกภาระค่าบริการที่อาจสูงกว่าเดิม 200%

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากสภาองค์กรผู้บริโภค คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ DTAC สภาผู้แทนราษฏร (กมธ.พิจารณาควบรวมฯ) ยื่นหนังสือต่อ ชาร์ชติ เริดสมูเอิน เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เพื่อเป็นสื่อกลางพิจารณาเสียงขอผู้บริโภคชาวไทยที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าว ที่มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 13,500 กว่ารายชื่อ ผ่านแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ บน change.org/TrueDtac คู่ขนานไปกับการประชุมของ กสทช. ในวันนี้ ซึ่งมีวาระพิจารณาวันลงมติการควบรวม โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1.ข้อเสนอในการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทฯ ขัดต่อ พ.ร.บ.โทรคมนาคม มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า

 “การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกําหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการ ประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทําการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือ จํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม”

2. ปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย (20%) TRUE อยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย (34%) และAIS อยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย (46%) ดังนั้น การควบรวมจะทำให้เหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักเพียงสองรายเท่านั้น และจะทำให้บริษัทที่ควบรวมแล้ว มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้สามารถชี้นำตลาดได้ ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพของการให้บริการ

3. การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทเอกชนต้องอยู่บนหลักความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ดังนั้น เทเลนอร์ (Telenor) ในฐานะบริษัทแม่ของ DTAC ต้องคำนึงถึงหลักดังกล่าวด้วย 

ด้าน ปาณิสรา ตุงคะสามน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า จากผลการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทนั้นอาจส่งผลให้ค่าบริการสามารถเพิ่มขึ้นสูงถึง 200% หากดีลครั้งนี้สำเร็จ ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่คุณภาพของสัญญาณและการบริการอาจจะไม่คงเดิมหรือดีขึ้น กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดโทรคมนาคมต้องออกมาแสดงจุดยืนที่อยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริงว่าจะตัดสินใจไปในทิศทางไหน ขณะที่ผู้ประกอบการอย่าง True และ DTAC ควรแสดงท่าทีว่าหากมีการควบรวมจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการอย่างไร หรือมีมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างไรบ้าง

ด้าน ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทน กมธ. พิจารณาควบรวมฯ กล่าวว่า ทาง กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตด้านกฎหมายถึงการแก้ไขระเบียบ กสทช.ที่เดิมกำหนดไว้ว่า หากประสงค์จะควบรวมกิจการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. ก่อน แต่ต่อมา ประกาศ กสทช. ปี 2561 แก้ไขเป็นเพียงแค่ ให้บริษัทผู้ประสงค์จะควบรวมกิจการมาแจ้งให้ กสทช.ทราบเท่านั้น จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงมีการแก้ไขที่ทำให้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ลดลง